xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อน้องหมาซึมซับ‘ทักษะ’เจ้านาย รู้กฎกติกามารยาท-สื่อสารรู้ภาษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดลิเมล์ - นักวิจัยพบสุนัขพัฒนาทักษะ ‘แฟร์เพลย์’ ชี้น้องหมาฉลาดขึ้นและเรียนรู้ผิดชอบชั่วดีได้ในระดับหนึ่งจากการคลุกคลีกับคน

การเล่นของสุนัขที่สุดท้ายอาจกลายเป็นการสู้กัน แท้จริงแล้วแสดงให้เห็นว่าเจ้าตูบเดินตามกฎของสังคม

ระหว่างการทดลองหนึ่ง สุนัขที่ยกเท้าหน้าจะได้อาหารเป็นรางวัล เมื่อสุนัขที่อยู่ตัวเดียวถูกสั่งให้ยกเท้าหน้าแต่ไม่ได้รางวัล นักวิจัยพบว่าสุนัขจะพยายามยกอุ้งเท้าขออาหารเป็นระยะๆ อยู่นาน 30 นาที

ขั้นตอนต่อไปคือ การทดสอบพร้อมกันสองตัวแต่ให้รางวัลเพียงตัวเดียว ปรากฏว่าสุนัขตัวที่ไม่ได้รางวัลจะเลิกเล่นเกมนี้ทันที

ดร.เฟรเดอริก แรนจ์ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ผู้นำการศึกษานี้อธิบายว่า ผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าสุนัขพยายามหลีกหนีจากความอยุติธรรม

ไม่นานมานี้ มีการจัดประชุมคานิน ไซนส์ ฟอรัมเป็นครั้งแรกในกรุงบูดาเปสต์ ฮังการี โดยมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คนเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับกลไกความคิดของสุนัข

แนวโน้มที่มนุษย์พยายามปลูกฝังความคิดบางอย่างใส่สมองน้องหมา จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เพราะจะเห็นได้ว่าสุนัขบางตัวพัฒนาทักษะการคิดเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมแปลกประหลาด นั่นคือการอยู่ร่วมกับโลกของมนุษย์

สุนัขที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงวิวัฒนาการมาจากสุนัขจิ้งจอกสีเทาเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว นับจากนั้นสมองของมันก็หดเล็กลงจนสุนัขที่มีขนาดเท่าสุนัขจิ้งจอกในปัจจุบันมีขนาดสมองเล็กกว่าบรรพบุรุษของพวกมันประมาณ 10%

ดร.ปีเตอร์ ปอนแกรซ จากมหาวิทยาลัยอีโอตวอส โลแรนด์ในบูดาเปสต์ และทีมนักวิจัยได้ร่วมกันรวบรวมหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การเห่าของหมามีข้อมูลสอดแทรกอยู่ที่คนเราสามารถทำความเข้าใจได้

นักวิจัยทีมนี้พบว่า แม้แต่คนที่ไม่เคยเลี้ยงหมามาก่อนยังเข้าใจ ‘นัยทางอารมณ์’ ของเสียงเห่าในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ขณะที่หมาเล่นกัน อยู่ตัวเดียว และเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้า

ขณะนี้ ทีมนักวิจัยของดร.ปอนแกรซกำลังพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถรวบรวมเสียงเห่านับร้อยเสียงและบันทึกไว้ในรูปแบบการตั้งค่าที่หลากหลาย เพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบของเสียง

ทีมนักวิจัยพบว่าการเห่าในแต่ละสถานการณ์มีรูปแบบความถี่ โทนเสียง และการสั่นของเสียงแตกต่างกัน นอกจากนี้เครือข่ายประสาทเทียมยังสามารถใช้คุณสมบัติเหล่านี้ในการระบุเสียงเห่าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนได้อย่างถูกต้อง นี่จึงถือเป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่ตอกย้ำว่าเสียงเห่าบ่งบอกถึงภาวะจิตใจของสุนัข ทั้งนี้ จากการรายงานของนิตยสารนิวไซเอนทิสต์

นักวิจัยยังพบว่า คนเรา แม้แต่เด็กอายุแค่ 6 ขวบที่ไม่เคยเลี้ยงสุนัขมาก่อน ยังสามารถระบุเสียงเห่าได้ถูกต้องว่า เสียงนั้นบ่งบอกความสุข ความเหงา หรือความก้าวร้าวของสุนัข

ไม่เพียง ‘พูด’ กับคนรู้เรื่อง น้องหมายังเข้าใจบางแง่มุมของการสื่อสารของมนุษย์

ในงานประชุมที่บูดาเบสต์ ดร.อากิโกะ ทาคาโอกะ จากมหาวิทยาลัยเกียวโตในญี่ปุ่น อธิบายงานทดลองที่ยังไม่ได้ทำการตีพิมพ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการในสมองเมื่อสุนัขได้ยินเสียงคนแปลกหน้า

ดร.ทาคาโอกะเปิดเทปเสียงคนแปลกหน้าทั้งชายและหญิงให้สุนัขฟัง โดยที่หลังเปิดเทปเสียงแต่ละเสียง นักวิจัยจะฉายภาพหน้าคนบนจอ

ถ้าภาพหน้าเป็นเพศที่ไม่ตรงกับเสียงในเทป สุนัขจะจ้องนานกว่าปกติ เป็นการส่งสัญญาณว่าสิ่งที่เกิดขึ้นผิดไปจากการคาดการณ์ของมัน

“นี่บ่งบอกว่า สุนัขสร้างภาพตัวแทนของหญิงหรือชายภายในสมองที่สอดคล้องกับเสียงที่ได้ยิน”

ดร.ทาคาโอกะอธิบายว่า ความสามารถในการสรุปข้อมูลเกี่ยวกับคนจากเสียงช่วยให้สุนัขสื่อสารกับคนรู้เรื่อง

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า มีสัตว์อยู่เพียงไม่กี่ชนิด เช่น ลิงใหญ่ ที่มีความสามารถในการอ่านใจคนออกในระดับหนึ่ง กระนั้น นี่เป็นความสามารถที่มีเฉพาะในสายพันธุ์ที่มีระดับสติปัญญาสูงสุดเท่านั้น

ทว่า ดร.อเล็กซานดรา โฮโรวิตซ์ จากวิทยาลัยเบอร์นาร์ดในนิวยอร์ก กลับเชื่อมั่นใน ‘ทฤษฎีพฤติกรรม’ มากกว่า และนำทฤษฎีนี้มาอธิบายกระบวนการคิดที่ชัดเจนของสุนัข

การศึกษาก่อนหน้านี้ของดร.โฮโรวิตซ์สะท้อนว่า เมื่อหมาเล่นกัน พวกมันจะใช้สัญญาณที่เหมาะสมในการเรียกร้องความสนใจหรือส่งสัญญาณให้รู้ว่าอยากเล่น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระดับความสนใจของอีกตัวหนึ่ง เช่น สุนัขอีกตัวหันหน้ามาหาหรือว่าหันข้างให้

ดร.โฮโรวิตซ์อธิบายว่า นั่นอาจตีความได้ว่าเป็นการอ่านใจกัน แต่ขณะเดียวกัน ก็ยอมรับว่ามีคำอธิบายที่ง่ายกว่านั้นคือ สุนัขพยายามอ่านภาษากายและแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสิ่งที่เห็น
กำลังโหลดความคิดเห็น