xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.แจงแก้กม.เพื่อช่วยคนไทย ไม่เกี่ยวขอตัว"ทักษิณ-พจมาน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18 ส.ค. ) ที่กระทรวงยุติธรรม นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีกระทรวงยุติธรรม เตรียมเสนอร่างกฎกระทรวง กำหนดคำร้องขอการส่งมอบตัวบุคคลและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนว่า กฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่จัดทำขึ้น เพื่อคุ้มครองคนไทยที่ถูกต่างชาติร้องขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อให้ต่างชาติระบุรายละเอียดความผิดมาให้ชัดเจน รวมทั้งกำหนดให้จัดทำคำร้องเป็นภาษาไทย กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่การแก้กฎหมายเพื่อให้การขอตัวผู้รายข้ามแดนทำได้ยากขึ้น ข่าวที่ถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ อาจเป็นความเข้าใจสับสน เพราะมีการแก้ไขใน มาตรา 8 เรื่องรายละเอียดในคำร้องขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน รวมถึงการกำหนดค่าใช้จ่ายในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ส่วนเรื่องการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่หลบหนีไปต่างประเทศกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย เป็นกฎหมาย มาตรา 30 ซึ่งระบุเพียงให้สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ประสานงานกลาง ส่วนรายละเอียดอื่นไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด
"ที่ว่ากระทรวงยุติธรรมทำเรื่องอัปยศ เราคงถูกด่าฟรี เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เป็นการออกกฎหมาย เพื่อดูแลคนไทย ที่ถูกต่างชาติขอตัวไปเป็นผู้ร้ายข้ามแดน" นายกิตติพงษ์กล่าว
นายกิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า ระเบียบเรื่องการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน กำหนดให้อัยการเป็นผู้ประสานงานกลาง ไม่จำเป็นต้องผ่านกระทรวงต่างประเทศ เพียงอย่างเดียว แต่รายละเอียดที่ถูกหยิบยกออกมาเผยแพร่ กระทรวงยุติธรรมกลับถูกมองว่าการ ออกระเบียบดังกล่าว เป็นการช่วยเหลือ หรือเพิ่มขั้นตอนการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน ที่ผ่านมา การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ได้ยกเลิกข้อกำหนดรายละเอียดไปจำนวนมาก เพื่อความสะดวก แต่ยังกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องไม่เป็นคดีทางการเมือง
นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า การขอตัว นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย ที่ตกเป็นจำเลยคดีทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จากประเทศกัมพูชา ยังเป็นเรื่องยากที่จะนำตัวกลับมารับโทษในประเทศไทย เนื่องจากไทยกับกัมพูชาไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งต้องใช้การเจรจาระหว่างรัฐบาล
สำหรับกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา ที่หลบหนีไปอังกฤษ อาจทำได้ง่ายกว่า เพราะทั้ง 2 ประเทศ มีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยประเทศไทยต้องแสดงหลักฐานที่ชัดเจน ให้ศาลประเทศอังกฤษ เชื่อว่าคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่คดีทางการเมือง และต้องพิสูจน์ว่า กระบวนการยุติธรรมไทย มีระบบการพิจารณาคดีที่เป็นมาตรฐาน และหากสืบพยานในศาลอังกฤษ จำเลยก็ต้องถูกตัดสินว่ามีความผิดเช่นกัน
แหล่งข่าวระดับสูง เปิดเผยว่า การออกร่างกฎกระทรวง เรื่องระเบียบวิธีการปฏิบัติ ที่ต้องมีเอกสารหลักฐาน ที่ชัดเจนขึ้นเป็นสิ่งที่ดี และไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนแต่ละครั้ง ก็ต้องมีเอกสารประกอบขั้นตอนทุกครั้ง แต่ไม่ได้เขียนระเบียบชัดเจน หรือการประสานงานทางโทรศัพท์ โดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีต่อกันเป็นเวลานาน และที่ผ่านมาไทยก็ไม่เคยขัดขืน ยอมส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปทันที แต่เวลาที่ประเทศไทย ขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนในคดีสำคัญ ประเทศเหล่านั้นมักจะอ้างว่า ส่งเอกสารไม่ครบถ้วน ไม่ต้องตามหลักเกณฑ์ ของประเทศนั้นๆ ฉะนั้นการออกระเบียบวิธี และหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนของประเทศไทย จะไม่เกิดปัญหาตามมา และต้องยอมรับว่าประเทศไทยค่อนข้างเสียเปรียบประเทศมหาอำนาจ
"กระทรวงยุติธรรม ถูกตีความผิดๆ นำทุกเรื่องไปโยงกันหมด อย่างนี้บ้านเมืองก็แย่ ในฐานะข้าราชการกระทรวงยุติธรรมก็รู้สึกโกรธเหมือนกัน ออกกฎหมายเพื่อนช่วยคนไทยไม่ต้องไปติดคุกต่างประเทศ กลับมองว่าทำเรื่องอับปยศ" แหล่งข่าวกล่าว
**แก้กม.ให้นักการเมืองสู้3ศาลยาก
นายเอกพจน์ ปานแย้ม ส.ส.ปทุมธานี พรรคชาติไทย ในฐานะวิปรัฐบาล เปิดเผยภายหลังการประชุมวิปรัฐบาล ถึงประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.การพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ว่า คงจะทำไม่ได้ เนื่องจากรธน.50 ว่าด้วยหมวดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้กำหนดวิธีพิจารณามาแล้ว ในรายละเอียด เช่น ระยะเวลาในการไต่สวน สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ของจำเลย ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องไปพ่วงแก้ไขในรธน. โดยจะขอการศึกษาของกมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 50 ที่มีนายกระมล ทองธรรมชาติ เป็นประธานได้ สรุปออกมาก่อน ว่าเป็นอย่างไร แล้วค่อยมาว่ากันอีกที สำหรับท่าทีในส่วนของพรรคชาติไทย ยังไม่มีการหารือกันภายในพรรค
ด้านนายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชาชน ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ในเรื่องการขอแก้ไขกม.นี้ ส.ส.ทั้งของพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลหรือแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ ต่างก็เห็นพ้องว่า จะต้องมีการแก้เพื่อเพิ่มสิทธิให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิด โดยต้องใช้หลักนิติรัฐ และนิติธรรม ที่ให้สิทธิกับผู้ถูกกล่าวหา ให้สามารถมีสิทธิอุทธรณ์ได้หรือฎีกาได้ ไม่ใช่ถูกพิพากษาแค่ศาลเดียวก็ถูกจำคุก เช่น กรณีของนายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความผู้รับผิดชอบ คดีการจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของนายพิชิฏ ถูกระบุว่า ละเมิดอำนาจศาลเรื่องเงิน 2 ล้านบาท นายสุชาติ กล่าวว่า ก็ควรมีสิทธิต่อสู้ แต่ตนจะไม่ลงในรายละเอียด เดี๋ยวจะหาว่าละเมิดอำนาจศาลอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น