xs
xsm
sm
md
lg

อุดมคติแห่งทหารอากาศ

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ถึงแม้ว่าความร้อนแรงทางการเมืองจะลดอุณหภูมิลงบ้าง ทั้งนี้เพราะการแสดงเจตจำนงลี้ภัยการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ต้องหาหลายคดี ทั้งในขบวนการยุติธรรม และทั้งเป็นจำเลยสังคมตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ซึ่งตัวเขาไม่สามารถชี้แจงให้สังคมกระจ่างได้ นอกจากการสร้างภาพซ้อนจนประชาชนสับสน และการสร้างระบอบประชานิยมตามกลยุทธ์การตลาดที่หมายถึงการดำรงรักษาไว้สัดส่วนตลาดให้ได้ในที่นี้คือสัดส่วนตลาดการเมืองภาคเหนือถิ่นเกิดโดยใช้ยุทธศาสตร์ลำไยอบแห้งนำ โดยเฉพาะกรณีลำไยอบแห้งปี 2547 ที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน 2,000 ล้านบาทซื้อเสียง เพราะมีลำไยลมคิดเป็นจำนวนเท่านี้

สัดส่วนในภาคอีสาน พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถสร้าง Brand Loyalty ได้ เพราะมีอดีตแกนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ยังมีเครือข่ายสมาชิกในภูมิภาคนี้สนับสนุน ด้วยใช้หลักสังคมนิยมตรงหมายถึง เอาเงินงบประมาณแผ่นดินจ่ายตรงสู่หมู่บ้านเพื่อสาธารณประโยชน์เมื่อดูผิวเผิน แต่แฝงไว้ด้วยกลยุทธ์ซื้อแกนนำชาวบ้านที่ไม่เข้าใจทุนนิยมสามานย์ รวมทั้งคนอีสานเป็นคนซื่อตรง และมีความกตัญญูกตเวทีจึงเกิดความภักดีตัวบุคคล และเรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะคนอีสานแต่คนกรุงที่หลงใหลก็มีมากทุกสังคมไม่ว่าผิดถูกก็รัก

หลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยุทธศาสตร์แรกของเขาคือ การรักษาหลักระบอบทักษิณนิยมไว้ให้ได้ และพ.ต.ท.ทักษิณประสบความสำเร็จทันทีในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน แต่เมื่อมีการหยั่งเสียงจิตวิทยาการเมืองครั้งแรกในการทำประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณพ่ายแพ้ จึงปรับกลยุทธ์ด้วยเพิ่มพลังเงินที่เรียกกันว่า “ยุทธการท่อน้ำเลี้ยง” อย่างรุนแรง จนประสบชัยชนะ

เมื่อพรรคพลังประชาชนอันเป็นเปลือกครอบอดีตพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไปเพราะผิดกฎหมายเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลได้ ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคที่หลายครั้งพูดชัดเจนว่า เป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณผู้ที่กำหนดธงว่าต้องการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นภารกิจหลัก และให้มีนโยบายการเมืองต่างประเทศเพื่อการประชาสัมพันธ์ตัวเอง และการสร้างอิทธิในต่างแดนของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยการออกหนังสือเดินทางปกแดงที่ได้รับเกียรติเยี่ยงนักการทูต รวมทั้งได้รับการคุ้มครองในฐานะนักการทูตอันเป็นการสำแดงอำนาจอิทธิพลเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และการค้าในอนาคตหรือปกป้องอดีต เช่น กรณีการปล่อยเงินกู้เกินอำนาจและความจำเป็นให้กับรัฐบาลพม่า ซึ่งเป็นคดีหนึ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณกลัวเพราะสาธารณชนจะได้รับรู้ถึงแผนใช้เงินหลวงซื้อสิทธิบางอย่างที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจการสื่อสารดาวเทียม “ไทยคม” ลูกที่ 6 ที่ถูกเลื่อนการส่งสู่อวกาศ และบริษัท ชินคอร์ป กำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ด้วยการระดมทุน

แต่เมื่อมีการต่อต้านสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคพลังประชาชนครองเสียงข้างมากไม่ให้เสนอญัตติการแก้รัฐธรรมนูญต่อสภาเพื่อล้มกระดานการเมือง และยับยั้งขบวนตุลาการที่งวดลงๆ และต่อมาเกิดความรุนแรง ความแตกแยกของสังคมไทยรุนแรงมากกว่าครั้งใด เมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพิ่มดีกรีการต่อต้านรัฐบาลนอมินีเชิงสันติเริ่มถูกคุกคามด้วยกำลังป่าเถื่อนที่รุนแรงมากขึ้น จนสังคมเกรงว่าจะเกิดจุดแตกหักหากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเปลี่ยนยุทธศาสตร์อหิงสาเป็นการใช้กำลังตอบโต้ก็จะเป็นสงครามกลางเมืองย่อยทันที และหวังให้ทหารแทรกแซงแต่ไม่สัมฤทธิผล

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึกไว้ว่า ภรรยาอดีตนายกรัฐมนตรีถูกพิพากษาจำคุก 3 ปี เพราะจงใจหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้จากการซื้อขายหุ้นที่เลี่ยงว่าเป็นการให้ด้วยความเสน่หา และยังมีคดีต่างๆ อีกหลายคดี ซึ่งหลักฐานมักจะโยงถึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเกี่ยวข้องกับคดีซุกหุ้นทั้งสองครั้ง เพราะตัวเงินและทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณใช้แจ้ง ป.ป.ช.จะขัดกันเสมอ เพราะต้องซุก ต้องโยก ต้องโอนจนตัวเองจำไม่ได้ว่าเงินก้อนไหนซุก ก้อนไหนโอนหรือโยกไปไหนบ้างจึงมีฐานะจำนนด้วยหลักฐานของตัวเอง

สงครามการเมืองกับ คมช.โดยตรงไม่เป็นผลเพราะ คมช.ฉลาดพอที่ไม่ตอบโต้ด้วยการทำรัฐประหารซ้อนเมื่อถูกพาดพิงว่า การรัฐประหารเป็นการผิดรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แต่ความชอบธรรมในการรัฐประหารอยู่ที่กรณีการโกงกินชาติของอดีต พ.ต.ท.ทักษิณเองต่างหากที่สังคมให้อภัย แต่ขณะนี้พ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมเผชิญหน้ากับคำพิพากษา ทั้งยังดูหมิ่นระบบตุลาการของไทย และขอความเป็นธรรมต่อสังคมว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องเตือนสติ พ.ต.ท.ทักษิณว่า จำเลยสังคมที่ไม่มีโอกาสอุทธรณ์และฎีกาเลยคือ กรณีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียรและพ.อ.ณรงค์ กิตติขจรที่ถูกกฎหมายของตัวเองยึดทรัพย์เป็นของรัฐและในกรณีนี้สังคมเป็นตัวกระตุ้นและพิพากษาไว้ก่อนแล้ว

ครั้นเมื่อเข้าขบวนการตามกฎหมายทำให้ ม. 17 และม. 21 เป็นพิษต่อตัวเอง กรณี พ.ต.ท.ทักษิณจึงนับว่าโชคดีกว่าอดีตผู้นำประเทศในไทยและหลายประเทศ เช่น กรณีมาร์กอสแห่งฟิลิปปินส์ และซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซียก็เช่นกัน ที่ประชาชนต่อต้าน และสร้างอิทธิพลกดดันทุกอำนาจอย่างรุนแรง แต่ในประเทศไทยพลังการเมือง และอิทธิพลทางสังคมและการเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคพลังประชาชนยังมีมากมายนักเกินกว่าที่กลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณกลุ่มใดๆ จะเอาชนะได้ และขบวนการกฎหมายของไทยที่รับช่วงมาจากองค์กรอิสระ เช่น คตส. และป.ป.ช.ที่ใช้หลักนิติธรรมอย่างแท้จริงดำเนินการกับคดีต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเกิดวิกฤตตุลาการอย่างรุนแรงสูงสุดขึ้นในประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

พลังหนึ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณแสดงก็คือ พลังในกำลังทัพซึ่งมีความเป็นเอกภาพในตัวเองพอสมควร เพราะประวัติศาสตร์การกบฏในไทยเป็นเครื่องเตือนใจทหารประกอบกับเงื่อนไขที่จะเข้าแทรกแซงกองทัพกระทำได้ยาก เมื่อไม่มีอำนาจรัฐ หรือแม้ว่ามีอำนาจรัฐก็กระทำได้ยากลำบากอยู่แล้ว เช่น กรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2548 ที่กองทัพอากาศเป็นตัวแปรบ่งบอกถึงการตั้งกระดานหมากรุกการทหารการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณทำไม่ได้ จึงเกิด พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก (ตท.6) ที่เป็นตัวเลือก

แต่ครั้นนายสมัคร สุนทรเวช ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรงวกลาโหม โดยพรรคพลังประชาชนภายใต้การชี้นำของกลุ่มลัทธิทักษิณพยายามที่จะปรับแต่งกองทัพให้อยู่ในระนาบของพลังประชาชน แต่ทำไม่สำเร็จที่จะส่ง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต (ตท.10) ลงตำแหน่งเพื่อวางตัวสำหรับเป็น ผบ.ทอ.ในปี 2551 แต่ความอ่อนนอกแข็งในของ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ที่ไม่เคยเผยไต๋ให้ใครเห็นจุดอ่อนของตัวเอง จึงควบคุมสายการบังคับบัญชาในกองทัพอากาศไว้ได้ แม้ว่ากลุ่มลัทธิทักษิณในกองทัพอากาศได้เข้าไปอยู่ในกระทรวงกลาโหม และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินหลายคนก็ตาม ก็เพื่อหวังประโยชน์ในการบินเข้าออกประเทศทั้งสิ้น

การต่อรองที่จะไม่รับ พล.อ.อ.สุกำพล เข้าคิวเป็น ผบ.ทอ.แต่เสนอชื่อ พล.อ.อ.พุฑฒิ มังคละพฤกษ์ (ตท.9) เข้าดำรงตำแหน่ง ผช.ผบ.ทอ. และขณะมีอาวุโสสูงในกองทัพอากาศ ขณะที่อาวุโสสูงสุดของกลุ่มทหารอากาศคือ พล.อ.อ.บุรีรัตน์ รัตนวานิช (ตท.7) ที่ถูกพล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา โยกไป บก.ทหารสูงสุด เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.อ.สุกำพล และจับพล.อ.ท.นันทพล บุญยเสนา (ตท.7) เข้าตำแหน่งประจำ และตั้งพล.อ.ท.สุเมธ โพธิ์มณี (ตท.10) เป็นผบ.อย.คุมกำลังหน่วยภาคพื้น แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ขณะเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่จะทำได้อย่างเดียวในขณะนั้นคือต้องจับตัวพล.อ.อ.ชลิตให้ได้แต่ปฏิบัติการไม่ได้เพราะทั้งฝ่ายบู๊และบุ้นที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณใน ทอ.ปกป้องหลายชั้นเกินกว่าที่กลุ่มนิยมทักษิณใน ทอ.จะปฏิบัติการสำเร็จ

ภายใน 4-5 วันนี้ การจัดกองทัพ พ.ศ. 2551 คงจะสำเร็จในขั้นตอนแรก ซึ่งมีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงข่าวแล้วว่า ในส่วนกองทัพอากาศนั้น พล.อ.อ.พุฑฒิ เป็น ผบ.ทอ. ขณะที่ตัวเลือกอื่นเช่น พล.อ.อ.บุรีรัตน์ พล.อ.อ.สุกำพล และพล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ (ตท.11) คงดำรงตำแหน่งเดิมคือเสนาธิการทหารอากาศ นอกนั้นอาจจะลงในตำแหน่งอื่นๆ ตามโควตาของ ทอ.ในบก.ทหารสูงสุดและกระทรวงกลาโหม

พล.อ.อ.พุฑฒิ เป็นบุตรชายของ พล.อ.อ.เกียรติ มังคลาพฤกษ์ นายทหารผู้ซึ่งเปรียบเสมือนเป้าบุ้นจิ้นของกองทัพอากาศในยุค 2495-2514 นายทหารท่านผู้นี้เป็นคนคุมการก่อสร้างสนามบินดอนเมืองยุค 2496 รองรับการบินพาณิชย์ยุดไอพ่น และความแข็งแกร่งของสนามบินที่ปราศจากข้อครหาใดๆ เลยในเรื่องการทุจริตคดโกงเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่าสนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินมาตรฐานสูงสุดในขณะนั้นในเรื่องความปลอดภัยในการบินอันเป็น Product ที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ Airport ท่านยังเป็นเจ้ากรมพลาธิการทหารอากาศซึ่งเป็นหน่วยจัดหาที่กว้างขวางที่สุด และตรวจสอบยากที่สุดหากทุจริต แต่ขาวสะอาดมากที่สุดอันเป็นแบบอย่างของนายทหารอากาศที่มีอุดมคติแห่งทหารอากาศในหัวใจและท่านประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่บินสำรวจดอยอินทนนท์โดยเฮลิคอปเตอร์

อุดมคติแห่งทหารอากาศเป็นบทความเชิงปรัชญาเขียนโดย พล.อ.ต.ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี เขียนลงในข่าวทหารอากาศเล่มที่ 1 ตอนที่ 1 ประจำเดือนมกราคม 2487 หรือ 63 ปีมาแล้ว ที่พูดถึงความกล้าหาญในการรบในอากาศต้องทำถึงที่สุด แม้ว่าจะต้องเสียชีวิตก็ตาม บุคลิกภาพต้ององอาจแข็งแรงมีมานะอดทน วาจาสุภาพแต่เด็ดขาด มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รักความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรม กล้าได้กล้าเสีย และมีการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ และจะต้อง “รักราชจงจิตต์ป้อม ภักดีท่านนา” หมายถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างที่สุดตามหัวเรื่องของท่านที่เขียนไว้อีกเช่นกัน

นอกจากที่จะเป็นบทความแล้ว นนอ.รุ่นที่ 1 เช่น พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล และพล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ขณะดำรงยศนาวาอากาศเอกก็ได้รับฟังจากปากของผู้เขียนบทความนี้เองและพล.อ.อ ธเรศ ปุณศรี (ตท.6)รองปลัดกระทรวงกลาโหมก็เป็นผู้หนึ่งที่ยึดถือปรัชญานี้โดยเคร่งครัดแต่พลาดโอกาสที่จะเป็น ผบ.ทอ.ปรัชญานี้จึงน่าที่จะเป็นหลักการ (Doctrine) อย่างแท้จริงสำหรับชาวทหารอากาศและ ผบ.ทอ.คนต่อไป และต่อๆ ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น