xs
xsm
sm
md
lg

เป็นโสดทำไมอยู่ไปเป็นอัลไซเมอร์ ชี้ชีวิตคู่ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแต่งงานช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้ถึงครึ่งหนึ่ง ผลศึกษาบ่งชี้ความสำคัญของการมีเพื่อนคู่ใจในช่วงกลางของชีวิต
ในทางกลับกัน นักวิจัยสวีเดนพบว่า คนที่อยู่คนเดียวหลังหย่า มีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ในช่วงบั้นปลายชีวิตเพิ่มขึ้นสามเท่า
การศึกษาที่กินระยะเวลา 21 ปีตอกย้ำความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่สมองจะมีปัญหาในการจำสำหรับผู้ที่อยู่ตัวคนเดียว ไม่ว่าจะในสถานะโสด หย่าร้าง หรือเป็นม่าย
การศึกษาก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า การโดดเดี่ยวทางสังคมหรือขาดการติดต่อกับบุคคลอื่นเพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมและความจำเสื่อมถอย ปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันระบุว่า คนเหงามีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในวัยชรา
แต่ผลการศึกษาล่าสุดจากสวีเดนที่นำเสนอต่อที่ประชุมโรคอัลไซเมอร์ในชิคาโกเมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นการศึกษาครั้งแรกที่มุ่งเน้นว่าการแต่งงานช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวหรือไม่
ทั้งนี้ อัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบมากที่สุดที่เกิดจากโรคสมองเสื่อม
ในงานศึกษาล่าสุด ทีมนักวิจัยที่นำโดยดร.คริสเตอร์ ฮาแคนสัน จากสถาบันโคโรลินสกาในสต็อกโฮล์ม ได้ทำการตรวจสอบประวัติกลุ่มตัวอย่าง 1,449 คนที่อาศัยอยู่ในฟินแลนด์ในช่วงกลางชีวิต และตรวจสอบอีกครั้งในปี 1998 หรือราว 21 ปีให้หลัง
นักวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 139 คนเป็นโรคสมองเสื่อม, 82 คนความสามารถในการรับรู้เสื่อมถอย และ 48 คนเป็นโรคอัลไซเมอร์
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าผู้ที่อยู่ร่วมกับคู่ครองในช่วงกลางชีวิตมีความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมลดลง 50% เมื่อล่วงเข้าวัยชรา ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่อยู่เป็นโสด
ความเสี่ยงที่ลดลงนี้ยังมีผลเช่นเดิมหลังจากพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ เช่น การศึกษา โรคอ้วน ระดับคลอเรสเตอรอล ความดันโลหิต อาชีพ กิจกรรมทางกาย พฤติกรรมการสูบบุหรี่ อาการซึมเศร้า พันธุกรรม อายุ และเพศประกอบด้วยก็ตาม
นักวิจัยพบว่า คนที่อยู่เป็นโสดตลอดชีวิตมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นสองเท่า ขณะที่คนที่หย่าร้างในช่วงวัยกลางคนและครองความเป็นโสดหลังจากนั้นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ที่หนักที่สุดคือ คนที่สูญเสียคู่ครองก่อนช่วงกลางชีวิตและยังอยู่ตัวคนเดียวตลอดมาจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า ทั้งนี้ เทียบกับคนที่มีชีวิตคู่ตั้งแต่ช่วงกลางจนถึงปลายทางชีวิต
ดร.ฮาแคนสันกล่าวว่า การศึกษานี้ชี้ถึงข้อดีของชีวิตแต่งงาน ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานว่าการกระตุ้นทางสังคมเป็นปัจจัยที่ช่วยปกป้องจากโรคสมองเสื่อม
อย่างไรก็ตาม ดร.ซูซานน์ ซอเรนสัน จากอัลไซเมอร์ส โซไซตี้ สำทับว่าคนเราทุกคนควรมีวิธีลดความเสี่ยง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีคู่ก็ตาม อย่างเช่น การกินอาหารที่เน้นพืชผักผลไม้ ออกกำลังกายเป็นประจำ และงดสูบบุหรี่
กำลังโหลดความคิดเห็น