xs
xsm
sm
md
lg

ออกกำลังกายแต่วัยรุ่นลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบการออกกำลังกายในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะตั้งแต่อายุ 12 ปีเป็นต้นไป ช่วยปกป้องมะเร็งเต้านมเมื่อโตขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่เคยมีคำแนะนำให้หญิงวัยกลางคนทำกิจกรรมเคลื่อนไหวสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงนี้เมื่อย่างเข้าสู่วัยทอง
ดร.เกรแฮม โคลดิตซ์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่าการศึกษานี้สะท้อนประโยชน์จากการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยรุ่นจนเข้าวัยผู้ใหญ่
นักวิจัยติดตามผลพยาบาลอายุ 24-42 ปี จำนวน 65,000 คนซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างในโครงการศึกษาสุขภาพครั้งใหญ่ โดยพยาบาลเหล่านี้ต้องทำแบบสอบถามที่เจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายย้อนกลับไปตั้งแต่อายุ 12 ปี
ผ่านไปหกปี นักวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่าง 550 คนตรวจพบมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน และ 1 ใน 4 ของคนเหล่านี้เป็นมะเร็งขั้นลุกลาม
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอตั้งแต่วัยรุ่นมีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือนลดลง 23% เมื่อเทียบกับคนที่โตขึ้นมาโดยที่นั่งๆ นอนๆ เป็นส่วนใหญ่ และการปกป้องนี้จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอระหว่างอายุ 12-22 ปี
กลุ่มตัวอย่างที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดเผยว่า วิ่งหรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอื่นๆ สัปดาห์ละ 3.15 ชั่วโมง หรือเดินสัปดาห์ละ 13 ชั่วโมง
ปกติแล้ว ประเด็นสำคัญของการออกกำลังกายในช่วงวัยกลางคนหรือหลังจากนั้นคือ เพื่อควบคุมน้ำหนัก โดยหลังวัยหมดประจำเดือน เนื้อเยื่อไขมันจะเป็นแหล่งสำคัญที่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน
อย่างไรก็ตาม ในวัยแรกสาว การออกกำลังกายกลับช่วยลดระดับเอสโตรเจน ก่อนหน้านี้ มีผลศึกษาหลายฉบับระบุว่า นักกีฬาวัยรุ่นที่หักโหมออกกำลังกายอาจทำให้รอบเดือนมาไม่ปกติ
ดร.อัลปา พาเทล ผู้เชี่ยวชาญการป้องกันมะเร็งของอเมริกัน แคนเซอร์ โซไซตี้ ที่ไม่ได้ร่วมทำการวิจัยด้วย อธิบายว่าการออกกำลังกายระดับปานกลางตามที่กลุ่มตัวอย่างของการศึกษานี้เปิดเผย อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายขนานใหญ่ แต่อาจมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อฮอร์โมนในแง่บวก
และแม้การศึกษานี้ครอบคลุมเฉพาะการตรวจพบมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน แต่ก็บ่งชี้ว่าการออกกำลังกายตั้งแต่วัยรุ่นอาจมีผลยืนยาวพอที่จะช่วยปกป้องโรคนี้ที่มักเกิดกับคนหลังวัยหมดประจำเดือนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหลายอย่างในการเป็นมะเร็งเต้านมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ช่วงอายุที่เริ่มมีประจำเดือน วัยหมดประจำเดือนมาถึงช้าแค่ไหน และประวัติสมาชิกครอบครัวที่เคยเป็นโรคนี้
แม้การออกกำลังกายไม่ได้ส่งผลครอบคลุมทั้งหมด แต่กิจกรรมทางกายและน้ำหนักตัวถือเป็นปัจจัยเสี่ยงส่วนหนึ่งที่ผู้หญิงสามารถควบคุมได้
กำลังโหลดความคิดเห็น