xs
xsm
sm
md
lg

ค้านร่างกม.องค์กรจัดสรรคลื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานจากที่รัฐสภาว่า เมื่อเวลา 12.00 น. วานนี้ (6 ส.ค.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) นำโดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ และตัวแทนจากสมาคมนักข่าววิทยุ โทรทัศน์แห่งประเทศไทย มายื่นหนังสือคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ… ฉบับรัฐบาล ต่อ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภา คนที่ 2 และนาย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 47 ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาจัดสรรคลื่นความถี่ จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลทำการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม นำเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติในวันที่ 6 ส.ค. นั้น คปส.และเครือข่ายภาคประชาชน ได้ติดตามการปฏิรูปสื่อมาตลอด เห็นว่า กระบวนการจัดทำร่างกฎหมาย เป็นไปอย่างไม่เปิดเผย ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง และทั่วถึงเพืยงพอ อีกทั้งมีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาเกินสมควร และมิได้คงสาระสำคัญของกฎหมายฉบับเดิมไว้ โดยเฉพาะประเด็นการยกเลิกกำหนดสัดส่วนที่รองรับสิทธิในการเข้าถึง และใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ของภาคประชาชน ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 การยกเลิกกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ โดยให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจคัดเลือก ยกเลิกบทบัญญัติที่ป้องกันมิให้มีการพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ และออกใบอนุญาตเพิ่มเติม ในระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรอิสระ ทั้งยังให้อภิสิทธิ์ แก่รัฐวิสหกิจในการประกอบกิจการ
"คปส. และเครือข่ายฯ จึงเสนอให้สภาผู้แทนฯ ยุติการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ โดยให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และ กำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.... ออกจากวาระการพิจารณา และจัดให้มีกระบวนการปรับปรุงร่างกฎหมาย โดยเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง" นางสาวสุภิญญากล่าว
ด้านพ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 กำหนดว่า รัฐจะต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งหากจะจัดสรรคลื่นความถี่ จะต้องมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทางสภาฯ ก็มีข้อห่วงใยในเรื่องนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ตนได้ประสานไปยังรัฐบาล และนายมั่น พัฒโนทัย รมว.ไอซีที แล้ว ซึ่งนายมั่น ก็ได้บอกว่า จะให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และทางรัฐบาลก็บอกว่า ได้บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระที่ 2 เป็นวาระเร่งด่วน โดยจะชะลอพิจารณาเรื่องนี้ไว้ก่อน จนกว่าผลประชามติของประชาชนจะออกมา และจะทำการแปรญัติโดยเร็ว แต่ตนก็มีข้อคิดเห็นว่า จะต้องพิจาณารัฐธรรมนูญ มาตรา 305 (1) ซึ่งระบุว่าจะทำให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนรูปแบบจะเสนอย่างไร ต้องไปถาม รมว.ไอซีที
ขณะที่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า พรรคเคยเรียกร้องให้รัฐมนตรีถอนร่าง แต่ก็ไม่มีการถอน อย่างไรก็ดี พรรคได้ทำร่างขึ้นมาประกบ โดยสาระสำคัญแตกต่างจากร่างของรัฐบาลหลายประการ อาทิ ที่มาของคณะกรรมการ จะมาจากการสรรหา มีองค์ประกอบหลากหลาย และให้วุฒิสภาเลือก การให้ภาคประชาชนเข้าถึง และใช้คลื่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 การตรวจสอบจากภาคประชาชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ หากมีการพิจารณาผ่านวาระ1 และตั้งกมธ. พรรคจะให้นักวิชาการ และภาคประชาชนเข้ามาในส่วนนี้ด้วย
----------
กำลังโหลดความคิดเห็น