xs
xsm
sm
md
lg

เรียกสอบธนสิน DSIจ่อฟ้องศาล ฐานยักยอกทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-ดีเอสไอเรียกผู้บริหารบริษัท ธนสินประกันภัย จำกัด (มหาชน)ให้ปากคำ พร้อมแจ้งข้อหายักยอกทรัพย์ เตรียมฟ้องศาลเรียงกระทงลงโทษ พร้อม ครม.ขยายอำนาจสอบสวนอีก 10 คดี
วานนี้(29 ก.ค.)พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผอ.ส่วนคดีการเงินการธนาคาร สำนักคดีการเงินและการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดียักยอกทรัพย์ บริษัท ธนสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) จนเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยต้องถูกระงับกิจการ มูลค่าความเสียหาย 300 ล้านบาทว่า ดีเอสไอได้รับคดียักยอกทรัพย์บริษัท ธนสินประกันภัย ไว้เป็นคดีพิเศษเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 จากนั้นได้สอบปากคำพยานและรวบรวมเอกสารหลักฐานทางบัญชี
ล่าสุด พนักงานสอบสวนได้มีหมายเรียกนายสุรศักดิ์ เกียรติกำจร กรรมการผู้จัดการ นายธนัท พรหเมศ น.ส.สุทิศา เข็มประดับ กรรมการผู้มีอำนาจ และนายภาณุวัฒน์ วรพิชญางกูร กรรมการบริษัท มารับทราบข้อกล่าวหาฐานยักยอกทรัพย์ และทำบัญชีอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงกรมการประกันภัย โดยคดีมีความผิดอาญาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แต่คดีนี้มีการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง จึงต้องฟ้องคดีให้ศาลเรียงกระทงลงโทษ
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีบริษัท ธนสินประกันภัย กรมการประกันภัยได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษไว้กับกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากกรมการประกันภัยตรวจสอบพบว่า บริษัทถอนเงินที่สั่งให้เพิ่มทุน 300 ล้านบาท ออกไปจากบัญชี ทำให้บริษัทค้างจ่ายค่ากรมธรรม์ประกันภัยโดยมีหลักฐานน่าเชื่อว่ามีการทุจริตยักยอกเงินออกไปจากบัญชีบริษัท มีการรายงานบัญชีอันเป็นเท็จ ทั้งนี้ กรรมการบริษัทอ้างว่านำไปเงินไปลงทุนซื้อหุ้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะบริษัท ธนสินประกันภัย เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
“กรณีบริษัท ธนสินประกันภัย กรมการประกันภัยตรวจสอบพบเร็วทำให้มีความเสียหาย 300 ล้านบาท ส่วนคดียักยอกทรัพย์ในบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยที่มีความเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านบาท และดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษเช่นกัน ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีย้อนหลังทั้งหมด” พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าว
รายงานจากดีเอสไอแจ้งว่า ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมเพิ่ม พ.ร.บ.แนบท้าย ประกอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขยายอำนาจในการสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ 10 คดี ประกอบด้วย คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ และคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งรวมกับกฎหมายเก่า ดีเอสไอจะมีอำนาจสอบสวนทั้งสิ้น 37 ฉบับ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกฎหมายบางอย่างที่ยังไม่ระบุชัดเจนตามบัญชีแนบท้าย
รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังมีการเสนอกฎหมายเพิ่มเติ่มของดีเอสไอครั้งนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกิดข้อสงสัยในหลายประเด็น เพราะมีหลายคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของ สตช.จะมีผลให้บทบาทการสอบสวนของ สตช.ในคดีดังกล่าวมีความซ้ำซ้อนหรือไม่ ดังนั้นจึงส่ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ไปชี้แจงถึงสาเหตุการขอเพิ่ม พ.ร.บ.แนบท้ายดังกล่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

**ปรส.ส่งอัยการสั่งฟ้อง 31 ก.ค.นี้**
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการขายสินทรัพย์ 56 สถาบันการเงินขององค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนวนคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นในชั้นพนักงานสอบสวน อยู่ระหว่างการพิจารณาของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อเตรียมเสนออัยการสั่งฟ้องคดีในวันที่ 31 ก.ค.นี้
สำหรับคดีดังกล่าวมีการประชุมคณะพนักงานสอบสวนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมี พ.ต.อ.ทวี นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายวิชช์ จีระแพทย์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีช่วยเหลือทางกฎหมายร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นยืนยันให้ดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ต้องหาตามฐานความผิดและตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้บริหารคณะกรรมการ ปรส.ในขณะนั้นประกอบด้วย นายอมเรศ ศิลาอ่อน เป็นประธานกรรมการบริหาร (บอร์ด) ปรส. และนายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ เป็นเลขานุการคณะกรรมการ ปรส.
กำลังโหลดความคิดเห็น