xs
xsm
sm
md
lg

ชอบธรรมแต่ไม่ศรัทธา

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

การเลือกตั้งไม่ได้ก่อให้เกิดความชอบธรรมโดยอัตโนมัติ หลังจากการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลจะต้องปฏิบัติงานให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชน จึงจะเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชน

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจมีความชอบธรรม แต่ประชาชนไม่มีศรัทธาจึงไม่สนับสนุน ในทางกลับกันรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อาจได้รับการสนับสนุนจากประชาชนก็ได้ 

                                       ก                   ข
ความชอบธรรม
                                       ค                   ง
                                              ศรัทธา

ก. หมายถึงการที่รัฐบาลมีความชอบธรรมสูง (เพราะมาจากการเลือกตั้ง) แต่ประชาชนไม่ศรัทธา

ข. หมายถึงการที่รัฐบาลมีความชอบธรรม (เพราะมาจากการเลือกตั้ง) และประชาชนพึงพอใจในผลงาน และมีศรัทธา

ค. หมายถึงการที่รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และประชาชนไม่ศรัทธา

ง. หมายถึงการที่รัฐบาลไม่มีความชอบธรรม (เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) แต่ประชาชนพึงพอใจ

ระหว่างความชอบธรรมกับศรัทธาหรือความไว้วางใจอย่างไหนจะดีกว่ากัน คำตอบก็คือ ความชอบธรรมนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามแต่ยุคสมัย ความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยก็อีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น หลักเกณฑ์ที่สนับสนุนให้เกิดความชอบธรรม จึงเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่ความไว้เนื้อเชื่อใจ และศรัทธานั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของคณะผู้ปกครองนั่นเอง

Steven Covey (ผู้ลูก) ให้หลักคิดว่า ความไว้วางใจนั้นขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย 2 ปัจจัยเกี่ยวกับอุปนิสัย อีก 2 ปัจจัยขึ้นอยู่กับความสามารถ

ปัจจัยแรกได้แก่ ความซื่อตรงคงมั่น ซึ่งหมายถึงความซื่อสัตย์ และความคงเส้นคงวา ความกล้าหาญที่จะปฏิบัติตนตามคุณค่าและความเชื่อ

ปัจจัยที่สองได้แก่ ความตั้งใจจริง หมายถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามภาระหน้าที่ ตามมูลเหตุจูงใจที่ดีต่างตรงไปตรงมา

ปัจจัยที่สามได้แก่ ความสามารถที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่น รวมถึงทัศนคติ ทักษะ ความรู้ และลีลาการทำงานที่ก่อให้เกิดผลดี

ปัจจัยที่สี่ได้แก่ ผลงานซึ่งอาจเป็นผลงานในอดีต และผลงานปัจจุบัน การทำให้งานประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมาย

ถ้าจะให้คะแนนรัฐบาลแล้ว การมีความชอบธรรมถือเป็นค่าคงที่ ส่วนการได้รับความเชื่อถือศรัทธานั้น เป็นค่าแปรผัน ในประเทศที่รัฐบาลมีความชอบธรรม แต่การสนับสนุนจากประชาชนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย รัฐบาลก็จะคอยดูการสำรวจความนิยม โดยเฉพาะในกรณีที่มีการนำนโยบายที่มีผลกระทบแรงๆ ต่อประชาชนไปใช้ ตารางข้างล่างแสดงสภาวะของรัฐบาลภายหลังกรณีเขาพระวิหาร

ความชอบธรรม           ปัจจัย                    คะแนน (จาก 10)

คงที่                            ความซื่อตรงคงมั่น         0
                                  ความตั้งใจจริง              0
                                  ความสามารถ               0
                                  ผลงาน                       0

ในกรณีนี้เรียกได้ว่าเกิดวิกฤตศรัทธา หากรัฐบาลตัดสินใจยุบสภาในครั้งนี้ มีแนวโน้มสูงว่าจะแพ้การเลือกตั้งได้ และยิ่งรัฐบาลดึงดันไม่ลาออก ความเชื่อถือก็ยิ่งลดต่ำลง

มีคนกล่าวว่า มหาตมะ คานธี นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่มีความซื่อตรงคงมั่นอย่างแท้จริง คนจึงมีศรัทธาและเชื่อมั่น คานธีไม่ใช่ผู้นำที่ผ่านการเลือกตั้ง สิ่งที่คานธีมีก็คือ อะไรที่คิด ที่รู้สึก ที่พูดออกไป และที่ทำตรงกันเป็นสิ่งเดียวกัน ต่างจากผู้นำอื่นๆ ที่คิดอย่างรู้สึกอย่าง พูดอย่าง และทำอีกอย่าง ดังนั้น ไม่ว่าจะไปสบถสาบานอย่างไรก็ไม่อาจทำให้ผู้คนเชื่อถือได้

การที่คนเราจะมีความซื่อตรงคงมั่น มีศักดิ์ศรีได้นั้น อย่างแรกก็ต้องรักษาคำมั่นสัญญา ไม่พูดอย่างทำอย่าง ไม่กลับกลอก ประการที่สอง จะต้องยืนหยัดเพื่อหลักการบางอย่าง ประการที่สาม จะต้องเปิดเผย ทำอะไรด้วยความโปร่งใสไม่คลุมเครือ

ส่วนความสามารถนั้น ประกอบด้วย 5 สิ่งคือ

ความเก่ง ทัศนคติ ทักษะ ความรู้ และลีลา เราสามารถใช้ 5 สิ่งนี้วัดมาตรฐานของผู้นำเราได้ บางคนอาจเก่ง (พูดเก่ง ทำครัวเก่ง) แต่มีทัศนคติด้านลบ และมองโลกในแง่ร้าย อาจมีทักษะบางอย่างที่เก่ง (เช่น การพับกระดาษเป็นรูปสัตว์) ความรู้ปานกลาง และมีลีลาที่ชอบโต้ตอบต่อปากต่อคำ เมื่อพิจารณาลักษณะของผู้นำ และเกณฑ์เรื่องความเชื่อถือศรัทธาของรัฐบาลชุดนี้แล้ว แม้จะมีความชอบธรรม แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะประชาชนขาดศรัทธา รัฐบาลเช่นนี้แม้จะอยู่ได้ก็ไม่อาจทำหน้าที่ผู้ปกครองได้ เพราะขาดการสนับสนุนจากประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น