xs
xsm
sm
md
lg

ทุนคูเวต-เทมาเส็ก“เซ็ง”อดรุกคืบสู่USหลัง“เมอร์ริล”ไม่ขายหุ้น “แบล็กร็อก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียลไทมส์ - กองทุนเพื่อการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะเคไอเอของคูเวต และเทมาเส็กแห่งสิงคโปร์ ที่กำลังแสวงหาโอกาสขยายการลงทุนในภาคการเงินของสหรัฐฯ ต่างก็ต้องผิดหวังเมื่อ “เมอริลลินช์” ตัดสินใจไม่ขายหุ้นของ “แบล็ค ร็อค” กิจการบริหารจัดการการลงทุนยักษ์ใหญ่ ที่ตนเองถือไว้ 49% ออกมา
บรรดาแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้หลายรายเปิดเผยว่า หากเมอริลลินช์ตัดสินใจขายหุ้นของแบล็ค ร็อค ออกไป ผู้ที่จะเข้าซื้อก็คือ สำนักงานการลงทุนแห่งคูเวต (เคไอเอ) นอกจากนี้เทมาเส็ก ของรัฐบาลสิงคโปร์ก็แสดงความสนใจที่จะเข้าซื้อหุ้นด้วยเช่นกัน
จอห์น เธน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเมอริล ได้เปิดการเจรจากับ แลร์รี ฟิงก์ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแบล็กร็อก มาหลายครั้งในช่วงสี่ห้าสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการขายหุ้นของแบล็กร็อกที่เมอริลถือไว้ทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับทางแบล็กร็อกเอง
ความหวังของทั้งสองฝ่ายก็คือสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ก่อนที่เมอริลจะประกาศผลประกอบการไตรมาสสองในวันพฤหัสบดี(17)ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าเมอริลแจ้งการขาดทุนสุทธิ 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันสูงกว่าที่คาดกันไว้มาก
การซื้อขายที่เสนอกันออกมานั้นอาจทำกันได้ในหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตามการเจรจาล้มเหลวลงเสียก่อน แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกันเรื่องนี้อธิบายว่าเป็นเพราะทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงราคากันได้ และในระหว่างที่เมอริลกับแบล็กร็อกกำลังเจรจากัน แบล็กร็อกก็ได้เปิดการเจรจากับเคไอเอและเทมาเส็กเพื่อดูว่าทั้งสองหน่วยงานจะสนใจซื้อหุ้นบ้างหรือไม่หากว่าเมอริลขายออกมาจริง
ก่อนหน้านี้เคไอเอและเทมาเส็ก ได้เคยเทเม็ดเงินเข้าไปที่เมอริลหลายพันล้านดอลลาร์ ในช่วงที่วาณิชธนกิจวอลล์สตรีทแห่งนี้ระดมทุนในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และทั้งสองหน่วยงานก็ประสบกับปัญหาว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่ตนเองซื้อมานี้มีราคาลดลงอย่างมาก
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าทั้งสองมองเห็นว่าการซื้อหุ้นของแบล็กร็อกเป็นวิธีการที่จะชดเชยการขาดทุนที่เกิดจากเมอริลลินช์ได้ จากความสนใจของหน่วยงานทั้งสองนี้เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าพวกกองทุนเพื่อการลงทุนภาครัฐเหล่านี้ ยังคงกระหายที่จะลงทุนในสินทรัพย์ภาคการเงินของสหรัฐฯแม้ว่าจะขาดทุนไม่น้อยในการลงทุนก่อนหน้านี้ก็ตาม
นอกจากนี้ก็ยังแสดงให้เห็นว่ากองทุนเหล่านี้กำลังเริ่มหันเหความสนใจไปลงทุนในสถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่ง มากกว่าจะซื้อหุ้นของธนาคารที่กำลังป่วยจากวิกฤตสินเชื่อ
แหล่งข่าวจำนวนหนึ่งยังได้ให้ข้อมูลที่เหมือนกันว่า การขายหุ้นของแบล็กร็อกที่สืบเนื่องมาจากการขายคืนของเมอริล ก็ยังเข้าทางของฟิงค์อีกด้วย เพราะก่อนหน้านี้มีกองทุนเพื่อการลงทุนของภาครัฐมาแสดงสนใจซื้อหุ้นของแบล็กร็อกอยู่แล้ว และฟิงค์ก็ต้องการจะขายเพราะมองว่าการเข้าไปมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกองทุนต่างประเทศจะเป็นการสร้างโอกาสทางด้านกลยุทธธุรกิจให้กับแบล็กร็อก แต่เขายังเป็นกังวลอยู่ว่าการขายหุ้นให้แก่กองทุนอาจทำให้คนนอกเข้าใจว่าแบล็กร็อกกำลังย่ำแย่ก็ได้
หากว่าสามารถขายหุ้นออกไปให้กับกองทุนรัฐบาลต่างประเทศ ในขณะที่ซื้อหุ้นคืนมาจากเมอริลได้ แบล็กร็อกก็สามารถได้พันธมิตรที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้นหลายรายและก็ส่งสัญญาณให้แก่ตลาดว่าบริษัทยังคงแข็งแกร่งอยู่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังไม่ชัดเจนว่ากองทุนเพื่อการภาครัฐที่ถูกระบุชื่อออกมาทั้งสองแห่ง มีแผนจะเข้าซื้อหุ้นโดยตรงจากเมอริลหรือว่าจะซื้อต่อจากแบล็กร็อก
ในเวลานี้ ทั้งเคไอเอ เทมาเส็ก และแบล็กร็อก ต่างปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้
เมอริลเข้าซื้อหุ้นของแบล็กร็อกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2006 ด้วยเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์ ทว่าเวลานี้สถานการณ์ของสองบริษัทนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเมอริลเพิ่งประกาศผลขาดทุนเพิ่มขึ้น ในขณะที่แบล็กร็อกระบุว่ารายได้ไตรมาสสองสูงขึ้น 23% หรือเท่ากับ 274 ล้านดอลลาร์
เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว เมอริลแถลงว่ายังจะคงขายผลิตภัณฑ์การเงินของแบล็กร็อกไปจนปี 2013
ตามสัญญาของทั้งคู่ ในช่วง 14 เดือนนับจากนี้ไป หากเมอริลจะขายหุ้นของแบล็กร็อกออกไปก็จะต้องได้รับความยินยอมของฝ่ายหลังเสียก่อน แต่เมื่อพ้นช่วงดังกล่าวไปแล้วเมอริลจะสามารถขายออกไปเองได้
อนึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมอริลได้เปิดเผยว่า ได้ขายหุ้น 20% ของ บลูมเบิร์ก บริษัทข่าวสารข้อมูลเพื่อการลงทุนชื่อดัง ที่บริษัทถืออยู่ออกไปเป็นเงิน 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งขายหุ้นใน ไฟแนนเชียลดาต้าเซอร์วิสเซส ในราคามากกว่า 3,500 ล้านดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น