xs
xsm
sm
md
lg

ดันส่งตีความสถานะป.ป.ช.พปช.เมิ่นลั่นเดินหน้าถอดถอนพ้นเก้าอี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตร และ รมว.กลาโหม ระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นองค์กรที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้นำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯแต่งตั้งว่า เป็นสิทธิของนายกรัฐมนตรีที่จะคิด ถ้าหากเห็นว่า ป.ป.ช.มีที่มาโดยไม่ชอบก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสถานะ ป.ป.ช.ได้
ทั้งนี้ตนเห็นว่า ป.ป.ช.มาโดยอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แม้จะมาจากการแต่งตั้งของคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) แต่ก็เป็นผู้ที่มีอำนาจในขณะนั้น อีกทั้งมีรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 309 ก็รองรับองค์กรเหล่านี้ด้วย
การที่นายกรัฐมนตรีมาพูดแบบนี้เพราะ ป.ป.ช. ชุดนี้กำลังทำคดีที่นายสมัคร สุนทรเวช และคนของพรรคพลังประชาชนที่ต่างไปทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะจงใจ หรือประมาทเลินเล่อก็ตาม อีกทั้ง ป.ป.ช.ชุดนี้ไม่สามารถแทรกแซง สั่งการได้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงมีปลุกระดมว่าองค์กรอิสระเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรม ซึ่ง นายสมัครยังใช้เวลาโดยใช้สื่อของรัฐปลุกระดม ให้ประชาชนเชื่อตามที่ตนเองคิด
ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวตั้งคำถามในการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า จะเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อไร เพราะไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์ แม้จะอ้างว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นไปตามประกาสคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระมุข (คปค.) และให้คงกฎหมาย ป.ป.ช. ปี 2542 ไว้ทั้งฉบับ เพื่อรองรับการแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมีรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 309 รองรับ เมื่อไม่มีการทูลเกล้าฯรายชื่อเพื่อให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้วจะให้นับอายุคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะอยู่ 9 ปีวันใด
โฆษกพรรคพลังประชาชน ยังกล่าวถึงการดำเนินการถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ยืนยันว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคพลังประชาชนจะยังเดินหน้ารวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะต่อไปเพราะเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้อนุกรรมาธิการได้ทำหนังสือเพื่อขอความเห็น เกี่ยวกับปัญหาในเชิงปฏิบัติขององค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน อัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ได้ทยอยส่งความเห็นเกี่ยวกับการบังใช้กฎหมายซึ่งมีปัญหามากพอสมควร
นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าจะทำหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยที่มีการสอนภาควิชา นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ รวมถึงองค์กรภาคประชาชน เอ็นจีโอ และพรรคการเมืองที่มี ส.ส.และไม่มี ส.ส.ให้ส่งความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของการใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้อนุกรรมาธิการฯจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งที่รัฐสภาในวันที่ 28 ก.ค. ก่อนที่จะสรุปเป็นกรอบแรกเพื่อเสนอเข้าสู่คณะกรรมาธิการฯและคิดว่าเมื่อเปิดสภาจะสามารถพิจารณาได้
อย่างไรก็ตามหากพรรคพลังประชาชนจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถ หยิบยกผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯไปประกอบการพิจารณาได้ เพราะเป็นความเห็นที่เป็นกลางและเชื่อว่าจะลดความขัดแย้งทางการเมืองลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น