xs
xsm
sm
md
lg

ชี้กก.7ชาติส่อทำเสียดินแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกชองไทย ได้เผยแพร่ บทความ เรื่อง ข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับประเด็นการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก โดยในบทความระบุว่า ขณะนี้สังคมไทยยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการขึ้นเป็นมรดกโลกประสาทพระวิหาร อยู่ 3 ประเด็น คือ 1.ข้อกฎหมาย โดยคณะกรรมการมรดกโลกนานาชาติไม่ใช่เป็นองค์กร ภายในยูเนสโก แต่ทั้งสอง องค์การต่างเป็นองค์การระหว่างประเทศ และเรื่องมรดกโลกก็เป็นอำนาจหน้าที่เฉพาะของคณะกรรมการมรดกโลก เพียงแต่อนุสัญญากำหนดให้ยูเนสโกจัดเจ้าหน้าที่ไปทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการมรดกโลก
อย่างไรก็ตามมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเข้าแทรกแซงและมีอิทธิพล ต่อการวินิจฉัยขององค์การอยู่เสมอ แม้กระทั่งทำผิดข้อบัญญัติอย่างชัดแจ้ง เช่น กรณีจอร์แดนขอขึ้นทะเบียน Old City of Jerusalem and Its Walls เป็นมรดกโลก ทั้งที่จอร์แดนมิใช่ผู้ถือครองดินแดนซึ่งทรัพย์สินนี้ตั้งอยู่
นอกจากนี้งานปฏิบัติของยูเนสโกด้านวัฒนธรรม นางฟรังซัวส์ ริวีเอียร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรม ไม่ควรซ้ำซ้อนก้าวก่ายงานด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในขอบข่ายงานของคณะกรรมการมรดกโลก เช่น กรณีปราสาทพระวิหาร ที่ทำอย่างน่าเกลียดในการลงนามเป็นประจักษ์พยานในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา
2.ความเป็นจริงและลักษณะของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกโดยกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยฝ่ายที่สนับสนุนกัมพูชาอ้างว่า การขึ้นทะเบียนดังกล่าวไม่กระทบอธิปไตยเหนือดินแดนของไทย และอ้างว่า กัมพูชามีสถานภาพการถือครองตัวปราสาทเหมือนกับที่เป็นมาตั้งแต่ปี 2505 ที่ไทยมอบการถือครองให้ตามคำพิพากษาศาลระหว่างประเทศ โดยไม่บ่งชี้ว่า ไทยได้ปฏิเสธคำพิพากษาดังกล่าวเพราะผิดข้อกฎหมายและไม่ยุติธรรม แต่ต้องจำยอมมอบการถือครองตามพันธะกรณีของไทยในฐานะรัฐสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ
นอกจากนี้การอ้างว่า การขึ้นทะเบียนตัวปราสาททำให้ไทยอยู่ในฐานะดีขึ้นจากเดิมที่กัมพูชาเคยเสนอให้มีเขตและเขตพื้นที่คุ้มครองและพัฒนานอกตัวปราสาทในดินแดนไทยนั้น เป็นการเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง เพราะร่างข้อมติดังกล่าว ต้องผ่านที่ประชุมอีกครั้งในวาระรับรองรายงานการประชุมวันสุดท้าย
ทั้งนี้ยังมีการหลีกเลี่ยงไม่คำนึงถึงข้อบัญญัติข้อ 103 และ 104 ของคณะกรรมการมรดกโลก ที่กำหนดให้ต้องมีเขตกันชน และทำแผนจัดการ ซึ่งกรณีนี้กัมพูชาจำเป็นต้องมีเขตกันชนรอบตัวปราสาทด้านทิศตะวันตกและเหนือเข้ามาในดินแดนไทยอย่างหลีกเลี่ยงมาได้
นอกจากนี้ เมื่อปราสาทมีสภาทรุดโทรมหนัก ตั้งบนพื้นที่ลาดชัน พังทลายง่าย การขึ้นทะเบียนปราสาทจึงจำเป็นต้องมีพื้นที่กันชนเพียงพอ ซึ่งกัมพูชาจะต้องจัดทำเสนอคณะกรรมการมรดกโลกให้เห็นชอบในการประชุมปี 2010 และอันที่จริง การเสนอขึ้นทะเบียน ต้องมีเขตกันชนและแผนจัดการพื้นที่รอบตัวปราสาทแนบไปพร้อมคำขอก่อนที่จะรับเข้าพิจารณา แต่การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งไทยมีส่วนร่วมด้วย ก็เข้ามาแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือกัมพูชา ให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเสียชั้นหนึ่งก่อน และให้ทำแผนจัดการบริเวณพื้นที่เขตกันชนตามมา ซึ่งทิศตะวันตกและทิศเหนือของตัวปราสาทเป็นเขตอำนาจอธิปไตยไทย และร่างมติข้อ 15 ที่นำมาแถลงกันก็ปรากฏความชัดเจน
3.ความพิลึกของกลไกกรณีปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยให้กัมพูชาจัดประชุมคณะกรรมการร่วม 7 ประเทศเพื่อคุ้มครองและพัฒนาแหล่งมรดกนี้ ที่ผ่านมา ไม่เคยมีมรดกโลกแห่งใดใช้กลไกนี้ เมื่อใช้กลไกดังกล่าวจึงทำให้อีก 6 ชาติที่จะมาเป็นคณะกรรมการร่วมเข้ามาแทรกแซงปกป้องกัมพูชา และกดดันไทยในการใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนซึ่งจะต้องตกเป็นเขตกันชน
นายอดุล ยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้คือ ร่างมติ เพราะไม่รู้ว่า มติที่ออกมาอย่างเป็นทางการจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ เพราะร่างมติข้อ 14 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการร่วม 7 ประเทศ นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการมรดกโลกประจำประเทศไทย ชี้แจงว่า ในที่ประชุมไม่มีการพูดเรื่องนี้ ทำให้ตนสงสัยว่า พอมีข้อนี้ขึ้นมาแล้วทำไมผู้แทนฝ่ายไทยไม่ท้วงติง เพราะกระทบสิทธิประโยชน์ของประเทศ
ส่วนร่างมติข้อ 15 ที่กำหนดว่าให้กัมพูชาทำแผนจัดการและเขตกันชน อันนี้กระทบดินแดนไทยชัดเจน ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยแถลงการณ์ร่วมเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่รัฐบาลไทยก็พยายามปกปิดเบี่ยงเบนประเด็น ทั้งนี้แผนที่ ที่นำเสนอตอนแรกที่ว่าไม่เสียดินแดนนั้น ที่จริงไม่ใช่ เพราะฉบับนั้นไม่มีเขตกันชน
ดังนั้นขณะนี้ รัฐบาลต้องเตรียมตัวทันที และต้องประกาศจุดยืนของรัฐว่า การทำเขตกันชนจะยินยอมหรือเห็นด้วยเฉพาะเท่าที่ไทยเห็นสมควรเท่านั้น ไม่ใช่ยอมตามที่คณะกรรมการร่วม 7 ประเทศเป็นผู้กำหนดขอบเขตเท่าใดก็ได้ เพราะเขตกันชนจะกินพื้นที่เข้ามายังฝั่งไทย และต้องประกาศว่ารอบบริเวณเขตกันชนจะไม่ยอมให้มีการก่อสร้างและพัฒนาใดๆ เพราะเป็นพื้นที่ของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น