xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ชวนไหว้พระ9วัดฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันอาสาฬหบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 17 ก.ค. และวันเข้าพรรษาซึ่งตรงกับวันที่ 18 ก.ค.นี้ ทาง กทม.ได้จัดโครงการไหว้พระ 9 วัด รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย วัดโพธิ์ วัดราชประดิษฐ์ ศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว วัดสุทัศนฯ วัดสระเกศ วัดบวรฯ วัดชนะสงคราม และ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ซึ่ง กทม.ได้จัดรถรางจำนวน 4 คัน ไว้บริการประชาชนโดยไม่เสียค่าบริการ
ทั้งนี้ ทาง กทม.จะจอดรถดังกล่าวไว้ที่บริเวณสนามหลวง ฝั่งประตูวิเศษไชยศรี ประชาชนที่สนใจสามารถมาขึ้นรถที่บริเวณดังกล่าวได้ที่หน้าวัดตามข้างต้น ตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น. โดยรถทุกคันจะวิ่งวนรับตามเส้นทางโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาวิ่งวนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ประมาณ 45 นาทีดังกล่าว ซึ่งหากไม่เพียงพอประชาชนให้ความสนใจมาก กทม.จะจัดรถบัสปรับอากาศสำรองไว้อีก 2 คัน
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า อยากรณรงค์ให้ประชาชนไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย พลังงานซึ่งตนได้แจ้งไปยังผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตให้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความปลอดภัย และความเรียบร้อยให้กับประชาชน ที่จะเดินทางเข้าวัดทำบุญในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้เวลา 07.00 น.จะมีพิธีทำบุญตักบาตร ซึ่ง กทม.ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้น ณ วัดมหาธาตุฯ โดยมีนายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รมว.วธ.เป็นประธาน
ด้านศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “การทำบุญของคนไทยในสภาวะปัจจุบัน” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชน อายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 808 คน เมื่อวันที่ 12-14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 สรุปผลได้ดังนี้
1.วิธีการทำบุญทำทานของประชาชนในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ตักบาตรร้อยละ 32.8ไหว้พระตามวัดต่าง ๆ ร้อยละ 20.5 ถวายเครื่องสังฆทาน / ถวายปัจจัย ร้อยละ 16.4บริจาคเงิน/สิ่งของ บริจาคเลือด บริจาคอวัยวะร้อยละ 17.9 รักษาศีล ปฏิบัติธรรมร้อยละ7.7 ไม่ได้ทำบุญด้วยวิธีใดเลย ร้อยละ 2.7อื่นๆ เช่น ปล่อยนกปล่อยปลา ช่วยเหลือผู้อื่นร้อยละ 2.0
2.สำหรับผู้ที่ระบุว่าเคยตักบาตรในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานั้น เมื่อสอบถามจำนวนครั้งของการตักบาตร พบว่า ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่สุด คือร้อยละ 44.7 ตักบาตร 1-3 ครั้ง (เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 1 ครั้ง) ดังรายละเอียด ตักบาตรทุกวันร้อยละ 9.0 ตักบาตร 1 – 3 ครั้งร้อยละ 44.7 ตักบาตร 4 – 6 ครั้งร้อยละ 24.2 ตักบาตรมากกว่า 6 ครั้งร้อยละ 22.1
3. เมื่อสอบถามว่า ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการทำบุญตักบาตรของประชาชน หรือไม่นั้น พบว่าร้อยละ 56.6 ระบุว่า ส่งผลกระทบโดยต้องลดจำนวนครั้งและจำนวนเงินในการทำบุญลง ร้อยละ 13.5 เลือกของใส่บาตรที่ราคาไม่แพง ร้อยละ 11.8 ถวายปัจจัย (เงิน) ในจำนวนน้อยลงร้อยละ 11.0 ใส่บาตรเป็นอาหารแห้ง/บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทนข้าวร้อยละ 8.1 ลดจำนวนครั้งของการตักบาตรลงร้อยละ 6.8 ลดปริมาณข้าวหรือของใส่บาตรให้น้อยลงร้อยละ 4.1 อื่น ๆ เช่นทำบุญตามวันหรือโอกาสสำคัญ ๆ เท่านั้นร้อยละ 1.3 และร้อยละ 43.4 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบ
4. กิจกรรมที่ประชาชนตั้งใจจะทำในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา คือตักบาตรร้อยละ 22.9 เวียนเทียนร้อยละ 18.9 ถวายสังฆทาน/ผ้าอาบน้ำฝนร้อยละ 9.9
ถวายเทียนพรรษาร้อยละ 9.1 รักษาศีล/ ปฏิบัติธรรมร้อยละ 9.1 ฟังเทศน์ฟังธรรม ร้อยละ 8.2 พักผ่อนอยู่กับบ้านร้อยละ 6.8 ปล่อยนกปล่อยปลาร้อยละ 6.1 ทานข้าวนอกบ้านกับครอบครัว/เพื่อนฝูงร้อยละ 3.7 เดินทางไปเที่ยวร้อยละ 3.2อื่น ๆ บริจาคโลหิต ไหว้พระตามวัดต่างๆ ร้อยละ 2.1
ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า จำนวนประชาชนที่ตั้งใจจะไปตักบาตรในเทศกาลเข้าพรรษา มีจำนวนลดลง ร้อยละ 24.1 (จากเดิมคือร้อยละ 47.0)
กำลังโหลดความคิดเห็น