xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์”ดันรง.เอทานอลผสมอี85ขายเอง ชี้ไม่กระทบผลิตอาหาร-แนะทำอี20 ก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ประสิทธิ์  ใจศิล
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-“สุวิทย์” ดันยุทธศาสตร์ผลิตเอทานอล เป็นพลังงานทดแทนเต็มสูบ หลังพบอุปสรรคโรงงานเอทานอลเดินเครื่องไม่เต็มที่ เผยโรงงานเกิดแค่ 11 แห่งจาก 47 แห่งที่ได้รับอนุญาต ทั้งผลผลิตล้นตลาด เหตุมีผู้ซื้อแค่กลุ่มเดียว ชี้ต้องแก้ข้อกำหนดมาตรา 7 พร้อมเปิดทางโรงงานเอทานอลซื้อน้ำมันผสมเป็นอี 85 เองได้ ด้านนักวิชาการเชื่อยุทธศาสตร์เอทานอลอี 85 ไม่กระทบผลผลิตอาหาร เชื่อศักยภาพเพาะปลูกพืชยังเพิ่มผลผลิต/บริหารจัดการ แต่แนะทำอี20ให้บรรลุเป้าหมายก่อนขยายไปถึงอี85 พร้อมแนะข้าวฟ่างหวานพืชเศรษฐกิจใหม่เสริมการผลิตเอทานอล


สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่ในระดับสูงมาก ล่าสุดเคลื่อนไหวสูงกว่า 140 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจำหน่ายในประเทศอยู่ในระดับที่สูงมาก เฉพาะจังหวัดขอนแก่นล่าสุด ราคาน้ำมันดีเซลสูงถึง 44.68 บาท/ลิตร เบนซิน 91 ราคาสูงถึง 42.23 บาท/ลิตร และแก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 38.63 บาท/ลิตร ทำให้ผู้ใช้รถยนต์เดือดร้อนต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงสูงเป็นประวัติการณ์ กระแสเรียกร้องใช้พลังงานทดแทนเกิดขึ้นสูงมาก

ประเทศไทยมีศักยภาพผลิตพลังงานทดแทนจากพืชทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล โดยเฉพาะเอทานอล ที่นำมาผสมเป็นเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ สำเร็จผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด ล่าสุดเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะผลักดันอี 85 เป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมให้ใช้ เอทานอล E85 หรือใช้เอทานอลผสมกับเบนซินในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 85 ลดการนำเข้าเบนซินจากต่างประเทศ และช่วยทำให้ราคาจำหน่ายต่ำลงได้

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงนโยบายพลังงานทดแทนของรัฐบาลชุดนี้ ในเวทีปาฐกถางานสัมมนา “อุตสาหกรรมพบประชาชน” ที่จังหวัดขอนแก่นว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเอทานอลในระดับที่มากขึ้น เพื่อรองรับยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนใช้พลังงานที่ผลิตได้จากพืช มาแก้ปัญหาน้ำมันแพงและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานกับประเทศ

ที่ผ่านมาอุปสรรคการผลิตเอทานอล ไม่สามารถผลักดันการใช้อี 85 ได้นั้น เนื่องจาก เอทานอลยังประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด กลุ่มผู้ซื้อเอทานอลมีเพียงแค่กลุ่มเดียว ตามข้อกำหนดที่ให้ผู้ผลิตต้องขายเอทานอลให้แก่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เท่านั้น ทำให้เกิดการผูกขาด กดราคารับซื้อเอทานอล ไม่จูงใจให้เกิดการผลิตเอทานอลในเชิงอุตสาหกรรม จนทำให้โรงงานเอทานอลเกิดขึ้นน้อยมากเพียงแค่ 11 แห่งจากที่ได้รับใบอนุญาตทั้งหมด 47 แห่ง

ทั้งนี้ตามข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่าปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลเดินเครื่องผลิตทั้งสิ้น 11 แห่ง มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 1.575 ล้านลิตร/วัน แต่ผลิตจริงเฉลี่ยเพียงแค่ 8 แสนลิตร/วันเท่านั้น ทั้งมีผู้ผลิตเอทานอลที่ได้รับอนุญาตอยู่ระหว่างก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2552 อีก 11 แห่ง กำลังผลิตรวม 2.40 ล้านลิตร/วัน และหลังจากปี 52 มีแผนขยายกำลังผลิตต่อเนื่องอีก 23 โรงงาน มีกำลังผลิตในอนาคตอีก 8 ล้านลิตร/วัน

นายสุวิทย์ กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเอทานอล มาจากข้อกำหนดตามมาตรา 7 ดังกล่าว จะมีการนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ให้ยกเลิกข้อกำหนดมาตรา 7 อีกทั้งจะเสนอ ครม.เห็นชอบให้โรงงานเอทานอล สามารถซื้อน้ำมันเบนซิน มาผสมเป็นแก๊สโซฮอล์อี 85 ขายเองได้

เชื่อยุทธศาสตร์อี85ไม่กระทบผลผลิตอาหาร

รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า โดยภาพรวมประเทศไทยมีศักยภาพเพาะปลูกพืชเกษตรสูงเป็นอันดับต้นของโลก เป็นฐานการผลิตอาหารป้อนตลาดโลกมานาน ปัญหาน้ำมันแพงได้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้รถยนต์ทั่วโลก ต้องหันมาใช้พลังงานทดแทนจากพืชสูงขึ้น

กรณีที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญต่อพลังงานทดแทนจากพืช โดยเฉพาะการผลักดันใช้เอทานอล อี20 เป็นวาระแห่งชาติ และกำลังขยายผลไปสู่เอทานอล อี85 ใช้ในประเทศไทย เชื่อว่าการขยายผลสู่การผลิตพลังงานทดแทน จะไม่กระทบต่อผลผลิตอาหารที่บริโภคในประเทศ แต่จะสร้างโอกาสแก่เกษตรกรไทย เลือกเพาะปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยมั่นคงขึ้น
ข้าวฟ่าง พืชอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาผลิตเอทานอลได้
การปรับมาสู่การผลิตพลังงานทดแทน จำเป็นที่การผลิตพืชเกษตรต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีมาพัฒนาเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ให้เกิดผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการในทุกอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานทดแทนเอทานอลในประเทศ ณ ปัจจุบัน ควรดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปรับตัวพร้อมรับแผนการใช้เอทานอลในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้เร่งแผนการใช้อี 85 ณ ปัจจุบัน หลายฝ่ายอาจไม่พร้อมรองรับ ทั้งผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ค้าน้ำมัน โดยเฉพาะผู้ค้าน้ำมัน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างลงทุนเพิ่มหัวจ่ายแก๊สโซฮอล์ อี20 แก่ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ ทั้งจะต้องเพิ่มหัวจ่ายแก๊สโซฮอล์อี 85

สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ภาครัฐควรส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ให้บรรลุผลตามเป้าหมายเสียก่อน ซึ่งการใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 จะช่วยประเทศลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้สูงถึงปีละ 50,000 ล้านบาท จากนั้นควรยกเลิกแก๊สโซฮอล์ อี10 พร้อมกับขยายสัดส่วนการผสมเอทานอลสูงขึ้นจนถึง อี85 หรือแม้กระทั่ง อี100 ในอนาคต

หนุนข้าวฟ่างหวานพืชเสริมผลิตเอทานอล

รศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวว่า แผนผลิตเอทานอลอี 85 จำเป็นต้องใช้พืชพลังงานที่เพียงพอ และมีพืชเสริมการผลิตพืชพลังงานหลักรองรับด้วย จากการศึกษาของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่า ข้าวฟ่างหวานเป็นพืชที่เหมาะผลิตเอทานอล จากน้ำคั้นของลำต้นมีความหวานใกล้เคียงกับอ้อย สามารถนำไปหีบเพื่อเอาน้ำคั้นมาหมักเป็นเอทานอลได้ไม่ต่างจากอ้อย โดยให้ผลผลิตเอทานอล 70 ลิตร/ข้าวฟ่างหวาน 1 ตัน

จุดเด่นข้าวฟ่างหวาน ให้ผลผลิตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ปลูกเพียง 100-120 วันเท่านั้น ก็ สามารถเก็บเกี่ยวส่งโรงงานได้ เมื่อเทียบกับอ้อยแล้ว ข้าวฟ่างหวานให้ผลผลิตสูงกว่าถึง 3 เท่าตัว ซึ่งข้าวฟ่างหวานสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ใช้เวลาปลูกเพียง 100-120 วัน สามารถเก็บเกี่ยวส่งเข้าโรงงานเอทานอลได้ ดังนั้นรอบระยะเวลา 1 ปีข้าวฟ่างหวาน จะให้ผลผลิตถึง 3 ครั้ง

ลักษณะการปลูกข้าวฟ่างหวาน อาจใช้แนวทางปลูกเสริมในช่วงที่อ้อยและมันสำปะหลัง ไม่มีผลผลิตตั้งแต่พฤษภาคม จนถึงตุลาคม หรือปลูกตลอดทั้งปี โดยโรงงานผลิตเอทานอล สามารถปรับเครื่องจักรเล็กน้อย นำต้นข้าวฟ่างหวานมาเป็นวัตถุดิบ ผลิตเอทานอลได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี

รศ.ดร.ประสิทธิ์กล่าวว่า ผลงานวิจัยพืชพลังงาน กำลังเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการโรงงานเอทานอล เฉพาะในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นโรงงานน้ำตาลขอนแก่น และกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล วางแผนที่จะนำข้าวฟ่างหวานมาใช้เป็นวัตถุดิบเสริมผลิตเอทานอลของโรงงานแล้ว โดยโรงงานน้ำตาลขอนแก่นได้ทดลองปลูกข้าวฟ่างหวานเมื่อต้นปี 47 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 5-6 ตัน/ไร่ และสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 15 ตัน/ไร่ หากปลูกในเขตชลประทาน

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ข้าวฟ่างหวานจะเป็นพืชเศรษฐกิจหลักตัวใหม่ของเกษตรกรอีสาน สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ตลอดทั้งปี โดยแหล่งรับซื้อหลักคือโรงงานผลิตเอทานอล โดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมให้การสนับสนุนงานด้านวิชาการ เพื่อให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตสูงต่อการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น