xs
xsm
sm
md
lg

สื่อโฆษณานิตยสารร่วง25%ครึ่งปีแรกตลาดรวมหืดขึ้นคอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – ครึ่งปีแรก 2551 ตลาดโฆษณารวมโตแค่ 0.64% ชี้สื่อนิตยสารวิกฤติ ติดลบ 5% แค่มิถุนายนเดือนเดียว ร่วงลง 25% นายกสมาคมโฆษณาเผยเหตุ แห่กันเปิดหัวใหม่แย่งงบโฆษณากันที่มีแค่เท่าเดิม ส่วนสื่อวิทยุโตจริงแต่กลัวเป็นภาพลวงตาต้องดูกำไรมีหรือไม่ คาดทั้งปีตลาดโฆษณาโต 4-5%

นายวิทวัส ชัยปาณี นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากตัวเลขงบโฆษณาครึ่งปีแรกนี้ที่ออกมาจะเห็นได้ว่า สื่อนิตยสารเป็นสื่อที่มีอัตราลดลงตลอด ทั้งในแง่ของครึ่งปีแรกปีนี้ที่มีประมาณ 2,736 ล้านบาท ตกลง 5.26 จากงวดเดียวกันที่มี 2,888 ล้านบาท ส่วนในแง่เดือนมิถุนายนเดือนเดียวปีนี้ก็มีแค่ 380 ล้านบาท ตกลง 25% จากเดือนเดียวกันปี 2550 ที่มีมูลค่า 509 ล้านบาท
“เป็นไปตามที่ผมได้ประเมินเอาไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ว่า สื่อนิตยสารจะตกลงมากที่สุด เพราะตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา มีนิตยสารเกิดขึ้นใหม่จำนวนมากทั้งการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศหรือที่พัฒนาขึ้นมาเอง ขณะที่ผู้ที่จะลงโฆษณาก็มีอยู่แต่กลุ่มเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้นอีกทั้งงบประมาณก็จำกัด ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้ ต้องแย่งแชร์งบจากลูกค้ากันเอง เช่น นิตยสารเกี่ยวกับรถยนต์มีมากกว่า 50 หัว ก็ต้องแย่งลูกค้ากัน”
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางหัวที่พออยู่ได้แต่ก็คงไม่นาน เพราะผู้ที่จะลงโฆษณาก็มีคอนเนคชั่นมาก เช่นอาจจะยอมให้นิตยสารหัวนี้สัก 3 เดือน แต่ 3 เดือนต่อไป ก็อาจจะต้องให้กับหัวอื่นบ้าง ตรงนี้ใครไม่แข็งแรงก็ตายไป แต่หัวใหญ่ๆหากสังเกตให้ดีก็ยังอยู่ได้ยังแข็งแรง ดูจากจำนวนหน้าโฆษณาก็รู้แล้ว บางหัวที่เรารู้จักกันใหญ่ๆมีโฆษณามากกว่าเนื้อหาเสียอีก
ส่วนสื่อวิทยุนั้นแม้ว่าจะมีการเติบโตอย่างมาก แต่ก็เป็นห่วงว่า อาจจะเติบโตในแง่มูลค่า แต่กำไรจะมีหรือไม่ก้ไม่รู้ เพราะว่าราคาแพคเกจที่ขายกันนั้นค่อนข้างต่ำ
สำหรับเทรนด์ปีนี้ทั้งปี คาดว่าอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ประมาณ 4-5% โดยสื่อที่ยังพออยุ่ได้และมีความแข็.แกร่งคือ สื่อทีวีที่ยังเป็นสื่อหลัก รวมไปถึงสื่อโรงหนัง สื่อพ้อยท์ออฟเซล เป็นต้น นอกนั้นก็ยังพอทรงตัวไม่หวือหวา
รายงานข่าวจาก บริษัท นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช จำกัด ระบุถึงตลาดโฆษณาช่วง 6 เดือนแรกปี 2551 เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2550 ว่า ครึ่งปีแรกปี 2551 ตลาดโฆษณามีมูลค่ารวม 43,832 ล้านบาท เติบโต 0.64% จากช่วงเดียวกันปี 2550 ที่มีมูลค่า 43,554 ล้านบาท โดยสื่อหลักคือ สื่อทีวีมีมูลค่า 25,287 ล้านบาท ติดลบ 0.67% จากเดิมที่มี 25,458 ล้านบาท สื่อวิทยุมีมูลค่า 3,282 ล้านบาท เติบโต 9.66% จากเดิมที่มี 2,993 ล้านบาท สื่อหนังสือพิมพ์มีมูลค่า 7,501 ล้านบาท เติบโต 2% จากเดิมที่มี 7,352 ล้านบาท สื่อนิตยสารมีมูลค่า 2,736 ล้านบาท ติดลบ 5.26% จากเดิมที่มี 2,888 ล้านบาท
สื่อรองอย่างสื่อโรงหนังมีมูลค่า 1,965 ล้านบาท เติบโต 1.24% จากเดิมที่มี 1,941 ล้านบาท สื่อกลางแจ้งมีมูลค่า 2,149 ล้านบาท ลดลง 4.02% จากเดิมที่มี 2,239 ล้านบาท สื่อเคลื่อนที่มีมูลค่า 649 ล้านบาท เติบโต 55% จากเดิมที่มี 417 ล้านบาท สื่ออินสโตร์ มีมูลค่า 263 ล้านบาท ลดลง 1% จากเดิมที่มี 266 ล้านบาท
ขณะที่ตัวเลขเดือนมิถุนายนเดือนเดียวปีนี้เทียบกับปีที่แล้วพบว่า มีมูลค่า 7,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.35% จากเดิมที่มี 7,294 ล้านบาท แยกเป็นสื่อทีวีมีมูลค่า 4,439 ล้านบาท เติบโต 8.69%จากเดิมที่มี 4,084 ล้านบาท สื่อวิทยุมีมูลค่า 609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.93% จากที่เดิมทีมี 554 ล้านบาท สื่อหนังสือพิมพ์มีมูลค่า 1,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.21% จากเดิมที่มี 1,327 ล้านบาท สื่อนิตยสารมีมูลค่า 380 ล้านบาท ตกลง 25.34% จากเดิมที่มี 509 ล้านบาท
สื่อโรงหนังมีมูลค่า 328 ล้านบาท เท่าเดิม สื่อกลางแจ้งมีมูลค่า 348 ล้านบาท ลดลง 6.70% จากเดิมที่มี 373 ล้านบาท สื่อเคลื่อนที่มีมูลค่า 117 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% จากเดิมที่มี 71 ล้านบาท สื่ออินสโตร์มีมูลค่า 47 ล้านบาท ลดลง 2% จากเดิมที่มี 48 ล้านบาท
สำหรับ 3 อันดับบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดครึ่งปีแรก 2551 เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วพบว่า 1.ยูนิลีเวอร์ใช้งบ 2,312 ล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำลงจากปี 2550 ที่มีมูลค่า 2,750 ล้านบาท 2.โตโยต้าใช้งบ 857 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 200 ล้านบาท จากเดิมที่ใช้ 672 ล้านบาท 3.พีแอนด์จี ใช่งบ 695 ล้านบาท ลดลงเกือบ 40 ล้านบาท จากเดิมที่ใช้ 733 ล้านบาท ส่วนเอไอเอสอยู่ในอันดับที่ 6 ใช้งบ 596 ล้านบาท ลดลง 200 ล้านบาท
โดยแบรนด์สินค้าที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด 3 อันดับแรกในช่วง ครึ่งปีแรกของปี 2551 เทียบกับปี 2550 พบว่า 1.พอนด์ส ใช้งบ 392 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ใช้ 372 ล้านบาท 2.เครื่องดื่มชูกำลังตระกูลเอ็ม ใช้งบ 368 ล้านบาท จากเดิมที่ใช้ 271 ล้านบาท 3.โตโยต้าปิกอัพใช้งบ 307 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 239 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น