xs
xsm
sm
md
lg

ตุ๊กตาเด็กพิการ..สวยงามหรือสร้างความแปลกแยก?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดลิเมล์ - ตุ๊กตาเด็กพิการกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางกระแสความไม่เห็นด้วยระหว่างฝ่ายสนับสนุนที่คิดว่าของเล่นนี้จะมีประโยชน์สำหรับเด็กที่มีปัญหาสุขภาพ กับฝ่ายคัดค้านที่มองว่านี่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เด็กเหล่านั้นรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากเด็กปกติ

ตุ๊กตาที่ว่ามีอาทิ ‘คีโม’ ศีรษะล้านแต่มีผ้าคลุมผมสำหรับเด็กที่เข้ารับการบำบัดมะเร็งด้วยเคมี หรือตุ๊กตาที่มีเครื่องช่วยฟัง แว่นตา สุนัขนำทาง นั่งรถเข็น เป็นต้น

พ่อแม่เด็กพิการมากมายให้การต้อนรับตุ๊กตาเหล่านี้ว่าเป็นทางเลือกที่เป็นจริงของสรีระที่สมบูรณ์แบบของตุ๊กตาปกติ

กระนั้น พ่อแม่อีกหลายคนกลับมองเป็นตลกร้าย เนื่องจากเป็นการตอกย้ำความแตกต่างของเด็กพิการ

ซู ฟาร์เรน ข้าราชการจากเดอแรม อังกฤษ ที่มีลูกสาวพิการทางสมองและต้องนั่งรถเข็น ผวากับไอเดียตุ๊กตาพิการ

“คล้ายกับความพิการถูกตอกย้ำขึ้นมา ทั้งที่เด็กพิการต้องการกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งและได้รับการยอมรับจากเด็กทั่วไป ลูกสาวฉันไม่ชอบให้พูดถึงความผิดปกติของเธอนัก

“อีกอย่างที่ฉันกังวลก็คือ เด็กปกติอาจเห็นขันกับตุ๊กตาพิการ เพราะปกติชีวิตเด็กพิการก็ยากลำบากอยู่แล้ว”

รีเบ็กกา ลูกสาวของซู ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองพิการเมื่ออายุเพียง 13 เดือน แต่ความจริงดังกล่าวไม่อาจฉุดรั้งเด็กหญิง

“ตอนนี้รีเบ็กกาอายุ 14 แล้ว และเป็นเด็กที่ฉลาดมาก แกเข้าเรียนในโรงเรียนปกติและหวังว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย แกชอบที่จะรู้สึกว่าแทบไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ฉันคิดว่าถ้าเอาตุ๊กตาที่ตอกย้ำความพิการมาให้ตอนแกยังเล็ก คงกระทบความเชื่อมั่นอย่างแรง

“การเติบโตมากับความพิการเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แค่จะไปเล่นบ้านเพื่อนยังยากเลย เป้าหมายของรีเบ็กกาคือใช้ชีวิตอิสระด้วยตัวเองอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น การให้ตุ๊กตานั่งรถเข็นคงทำให้แกเจ็บปวดกับรูปลักษณ์ของตัวเองมากกว่าจะรู้สึกดี”

เอลิสัน เวลล์มิน เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ที่อาศัยอยู่ในลอนดอน เป็นอีกคนที่สงสัยในข้อดีของตุ๊กตาพิการ

“ตอนซาราห์อายุ 6 ขวบ โรงเรียนประถมซึ่งเป็นโรงเรียนปกติที่แกเข้าเรียน ซื้อตุ๊กตาดาวน์ซินโดรมมาให้นักเรียนเล่นโดยมีเจตนาดี แต่ฉันกลับคิดว่ามันน่ากลัวมาก และยังเคยได้ยินครูคนหนึ่งเรียกตุ๊กตาเหล่านั้นว่า ‘ตัวประหลาด’

“แทนที่จะให้ความรู้เด็กเกี่ยวกับดาวน์ซินโดรม ตุ๊กตาเหล่านั้นกลับทำให้เด็กอย่างซาราห์แปลกแยกจากเพื่อนคนอื่น

“ตุ๊กตาพวกนั้นมีแค่ด้านเดียว เพราะไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าเด็กดาวน์ซินโดรมสามารถสนุกสนานร่าเริง ฉลาดและพูดจาฉะฉาน”

ปัจจุบัน ซาราห์อายุ 16 ปี และเพิ่งไปงานฉลองเรียนจบมัธยมปลายเมื่อไม่นานมานี้

“แกไม่ได้ได้รับการยอมรับเพราะตุ๊กตาดาวน์ซินโดรม แต่เพื่อนๆ ปฏิบัติต่อซาราห์เหมือนเป็นคนๆ หนึ่ง เพราะแกคลุกคลีกับเด็กอื่นมาตลอด และสิ่งนี้มีความสำคัญในการทำให้เด็กดาวน์ซินโดรมกลืมกลืนกับสังคมปกติ ไม่ใช่การใช้ตุ๊กตาเรียกร้องความสนใจโดยไม่จำเป็น”

กระนั้น ตุ๊กตาเด็กพิการกลับได้รับความสนใจมากขึ้น ตอนที่แมทเทลเปิดตัวเบ็กกี้ เพื่อนบาร์บี้ที่นั่งบนรถเข็นสีชมพูสดใส ปรากฏว่าขายเกลี้ยงภายในเวลาแค่สองสัปดาห์

สิบสองปีที่แล้ว ดอนนา มัวร์ จากเซาท์แคโรไลนา ก่อตั้ง downicreations.com ขึ้นมา ในฐานะอดีตครูพิเศษ เธอรู้สึกว่าตุ๊กตาเด็กพิการมีความจำเป็นสำหรับเด็กพิเศษ ยกตัวอย่างเช่นเด็กดาวน์ซินโดรมมากมายที่ไม่มีตุ๊กตาที่ทำให้รู้สึกว่ามีอะไรๆ คล้ายตนเอง

ตอนที่ยังสอนอยู่ ดอนนา แม่ลูกสาม สนิทกับนักเรียนคนหนึ่งชื่อว่าทิม ที่ตอนนี้กลายเป็นหนุ่มน้อยไปแล้ว เธอบอกว่าเด็กดาวน์ซินโดรมคนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เธอ

“ตอนที่มาอยู่กับเรา เขามีตุ๊กตาเด็กผู้หญิงหน้าตาน่าเกลียดมาด้วยตัวหนึ่ง ฉันเลยบอกเขาว่าจะหาตุ๊กตาให้ใหม่ หลังจากนั้น ฉันไปหาผู้ผลิตของเล่นหลายรายจนไปพบศิลปินคนหนึ่งเข้า ฉันเอารูปเด็กดาวน์ซินโดรมให้เขาดู เราช่วยกันทำงานจนได้ในสิ่งที่ต้องการ”

ตุ๊กตา 90 รุ่นของเธอจะประกอบด้วยอาการบ่งชี้ต่างๆ เช่น หูเล็ก จมูกแบน รอยแผลเป็นที่หน้าอกที่เกิดจากการผ่าตัดหัวใจที่เด็กดาวน์ซินโดรมส่วนใหญ่ต้องพบเจอ เพราะมักเกิดมาพร้อมความผิดปกติต่างๆ นานา

ดอนนา ที่ยืนยันว่าบริษัทของเธอเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงผลกำไร บอกว่าตุ๊กตาของเธอไม่ได้เป็นอันตราย แต่กลับเป็นการช่วยเหลือเด็กพิการ

“คำวิจารณ์แง่ลบมีน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับเรา สำหรับเด็ก การมีสิ่งที่คล้ายกับตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ

“เพราะสังคมเราทุกวันนี้ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ เมื่อเด็กดาวน์ซินโดรมเล่นตุ๊กตาปกติ พวกเขาจะไม่เห็นตัวเอง หลายคนชอบบอกว่า เด็กเหล่านั้นไม่รู้ความแตกต่าง แต่จริงๆ พวกเขารู้

“เราไม่ได้พยายามโปรโมทความแตกต่าง แต่เราต้องการโปรโมทความสวยงามของพวกเขา และทำให้พวกเขารู้ว่าแม้รูปลักษณ์ต่างกัน แต่ภายในมีสิ่งเดียวกัน นั่นคือความหวังและความฝัน”

ดอนนาสำทับว่า เธอไม่ได้ขายตุ๊กตาให้เด็กเท่านั้น แต่ยังขายให้กับพ่อแม่หลายคนที่เคยสูญเสียลูกไป ”คนเหล่านี้บอกว่าตุ๊กตาของเราเป็นเครื่องเตือนความจำว่าลูกเคยเป็นอย่างไร และนั่นเป็นสิ่งสวยงาม

“โรงเรียน โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัยก็ซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา และฉันคิดว่านี่คงเป็นประโยชน์ในแง่การศึกษา”

มาเรีย แคมปัส จากลอนดอน เห็นด้วยอย่างยิ่ง แรกเริ่มเธอเสียใจอย่างแรงที่วิกตอเรีย ลูกสาวที่ขณะนี้อายุ 8 ขวบ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคดาวน์ซินโดรมหลังจากคลอดออกมาไม่กี่นาที

แต่ภายหลังมาเรียและริชาร์ด เดวิส สามี ที่มีอาชีพช่างภาพเช่นเดียวกัน ตัดสินใจฝังกลบบาดแผลนี้ และก่อตั้งสมาคมดาวน์ซินโดรมสาขาลอนดอนขึ้นมา

“สองปีที่แล้วตอนไปบราซิล ฉันบังเอิญเห็นตุ๊กตาดาวน์ซินโดรมเลยซื้อมาฝากวิกตอเรีย แกรักตุ๊กตาทุกตัวที่มีอยู่ แต่ฉันคิดว่าการมีตุ๊กตาที่มีอะไรคล้ายกันจะทำให้แกรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้แตกต่างจากใครๆ เลย

“แกรักตุ๊กตาตัวนี้มากและตั้งชื่อให้ว่า คลารา และเล่นตุ๊กตาตัวนี้บ่อยพอกับตุ๊กตาตัวอื่นๆ”

มาเรียเชื่อว่า โรงเรียนและโรงพยาบาลควรมีตุ๊กตาแบบนี้ไว้ เพื่อให้เด็กปกติเรียนรู้และยอมรับเด็กดาวน์ซินโดรม และท้าทายมุมมองของคนทั่วไป

“ฉันเคยคิดว่าเด็กที่เป็นโรคนี้จะไม่มีพัฒนาการ ไม่สามารถเดินเหมือนคนปกติได้ และคงไม่มีทางมีหน้าตาสะอาดสะอ้านและสดชื่น ซึ่งผิดถนัด

“วิกตอเรียเข้าเรียนโรงเรียนปกติ แกไปเรียนบัลเลต์และยิมนาสติก ถึงจะช้ากว่าเด็กอื่นแต่แกก็พยายาม

“ฉันเชื่อจริงๆ ว่าการมีตุ๊กตาเด็กพิการอยู่ตามสถานที่ต่างๆ จะทำให้สังคมยอมรับคนที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรมมากขึ้น และทำให้ผู้คนคุ้นชินและไม่ตกใจจนจ้องตาเขม็งเมื่อเจอกับเด็กอย่างวิกตอเรีย

“พวกเขาควรเข้าใจว่า ถ้าจะแตกต่างคงเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกกเท่านั้น เด็กดาวน์ซินโดรมสามารถสื่อสารและเล่นเหมือนเด็กอื่นๆ หลายคนเข้าโรงเรียนและใช้ชีวิตด้วยตัวเองอย่างแท้จริง”
กำลังโหลดความคิดเห็น