xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวธุรกิจอเมริกันพันธุ์ใหม่ เอาต์ซอร์สภาระน่าหน่ายรายวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หญิงสาวคนหนึ่งอยากได้ใครสักคนรับภาระในการตัดสวาทให้ ผู้ชายอีกคนต้องการประมูลหาคนทำความสะอาดหูและก็ได้มือดีมีคุณภาพสมใจ
ชายหญิงคู่นี้ต่างใช้บริการบริษัทพันธุ์ใหม่ที่อาศัยเวิลด์ไวด์เว็บเพื่อค้นหาผู้ที่จะมาตอบสนองภารกิจที่อาจยากลำบาก หรือไม่ก็น่าเบื่อหน่าย หรืออาจเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่สามารถหาเวลาทำเองได้ในวันทำงานอันแสนยุ่งเหยิง
“ผู้หญิงคนหนึ่งบอกเราว่าต้องการให้เราตัดสัมพันธ์กับใครคนหนึ่งให้ ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นการบอกเลิก เราเลยยกเลิกนัดแทนเธอและส่งความปรารถนาดีของเธอไปให้ชายคนนั้น ผมหวังว่าเขาจะไม่อยากเจอเธออีกหลังจากนี้” สตีฟ ลัดเมอร์ จาก AskSunday.com หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการอำนวยความสะดวกให้ชีวิต บอก
ลัดเมอร์ก่อตั้งอาส์กซันเดย์เมื่อปีที่แล้วร่วมกับหุ้นส่วนอีกคน โดยทั้งคู่ต่างเคยเป็นคนทำงานที่ไม่มีเวลาว่างสำหรับตัวเอง
“เราคิดว่าถ้ามีผู้ช่วยส่วนตัวสักคนคงดี แต่คงไม่ใช่ลูกน้องที่ทำงานที่คุณมักลังเลที่จะขอให้ไปทำธุระส่วนตัวให้”
เพื่อนๆ ชอบไอเดียของทั้งคู่ แต่ท้วงว่าค่าจ้างผู้ช่วยส่วนตัวคงจะแพงหลักพันดอลลาร์
“เราเลยได้ไอเดียในการเสนอผู้ช่วยส่วนตัวกลุ่มใหญ่ในอินเดียที่ลูกค้าสามารถโทรหรืออีเมลไปขอความช่วยเหลือได้ วิธีนี้ทำให้เราสามารถให้บริการในราคาที่ลูกค้ารับได้”
ถ้าคุณโทรหาอาส์กซันเดย์ที่มีสาขาอยู่ทั้งที่วอชิงตัน นิวยอร์ก ลอนดอน หรือซิดนีย์ คุณจะถูกเชื่อมต่อไปยังไฮเดอราบัดในอินเดีย ที่ซึ่งมีผู้ช่วยส่วนตัวพร้อมให้บริการคุณตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
คู่แข่งของอาส์กซันเดย์ที่ตั้งชื่อราวกับจะล้อเลียนว่า เก็ตฟรายเดย์ มีฐานสนับสนุนการให้บริการอยู่ที่บังกาลอร์ อินเดียเช่นเดียวกัน
“ที่นั่น เราสามารถดึงดูดนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ต้องการทำงานในคอลล์เซนเตอร์ระหว่างประเทศ ผิดกับที่นี่ที่ในระดับค่าจ้างที่เราต้องการคงดึงดูดคนที่ทุ่มเทมาทำงานด้วยยาก”
อีกบริษัทหนึ่งชื่อว่า ดู มาย สตัฟฟ์ ให้บริการฉีกแนวออกไป กล่าวคือผู้ใช้ที่ต้องการเอาต์ซอร์สงานยากๆ หรือน่าเบื่อ สามารถมาโพสต์ทิ้งไว้ที่ไซต์และเชิญชวนผู้สนใจมาประมูลงาน
“ลูกค้าคนหนึ่งอยากได้คนทำความสะอาดหูให้ ตอนแรกเราคิดว่าเป็นเรื่องอำเล่น แต่ก็ปล่อยให้เขาโพสต์ทิ้งไว้ และในที่สุดก็มีคนมาประมูล โดยคนที่ได้งานไปคือหมอที่อวดอ้างสรรพคุณว่า ‘ผมรู้วิธีทำความสะอาดหูแบบมืออาชีพ’ เดวิด เดวิน จากดู มาย สตัฟฟ์ เล่า
ดู มาย สตัฟฟ์ไม่คิดค่าบริการ และหลังจากก่อตั้งได้ปีครึ่ง ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการแล้วทั้งสิ้น 50,000 รายโดยประมาณ
เดวินบอกว่า ในอนาคตเขาหวังให้ดู มาย สตัฟฟ์เป็นสื่อกลางสำหรับคนที่ต้องการให้บริการ และคนที่ต้องการคนมาทำงานบางอย่างให้
ส่วนอาส์กซันเดย์ไม่ได้เปิดเผยว่ามียอดสมาชิกและขุมกำลังเอาต์ซอร์สในไฮเดอราบัดเท่าใด บอกแต่ว่าสมาชิกต้องเสียค่าบริการ 19 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับการใช้บริการ 10 ครั้ง และเพิ่มเป็น 135 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับบริการ 90 ครั้ง
ที่ผ่านมา การขอรับบริการมีตั้งแต่นัดหมอ จองโต๊ะในภัตตาคาร จัดการเรื่องการเดินทาง ซึ่งล้วนเป็นงานที่สามารถทำได้ภายใน 20 นาทีด้วยการยกหูโทรศัพท์หรืออีเมล
ปัจจุบัน อาส์กซันเดย์ให้บริการเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งทำให้บริษัทมีช่องทางจำกัดในการเจาะตลาดยุโรป กระนั้น ลัดเมอร์บอกว่าเขาเปิดรับความคิดใหม่ๆ และวันใดวันหนึ่งอาจเพิ่มการให้บริการในภาษาอื่นๆ ของยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ด้วยการเปิดคอลล์เซนตอร์ในประเทศแอฟริกาที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส
กำลังโหลดความคิดเห็น