xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ ร้องศาล ปค.ไต่สวน "เขาพระวิหาร" 26 มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พันธมิตรฯยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพิกถอนมติ ครม.ขายชาติลงนามสนับสนุนเขมรขึ้นทะเบียน "เขาพระวิหาร" เป็นมรดกโลก ชี้ขัด รธน.มาตรา 190 ศาลปกครองนัดไต่สวนฉุกเฉินกรณี "เขาพระวิหาร" 26 มิ.ย.นี้ พร้อมระบุให้ "นพดล" นำมติ ครม.แถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชาและแผนที่แนบท้ายมาชี้แจงต่อศาลด้วย ด้าน ส.ว.และคนดังยื่น 300 รายชื่อพร้อมหนังสือทักท้วงผ่านยูเนสโกประจำประเทศไทย ขอให้ชะลอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก ด้าน ผอ.ยูเนสโก พร้อมจัดส่งไปสำนักงานใหญ่ทันที

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (24 มิ.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความเครือผู้จัดการ, นายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ, นายนคร ชมพูชาติ ทนายความตัวแทนสภาทนายความ และนักสิทธิมนุษยชน, นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว., นายคณิศร ฑปภูผา ทนายความ, นายกิ่งแก้ว โยมเมือง ทนายความ, นายประภาส บุรีศรี ทนายความ และนางรัศมี ไวย เนตร ทนายความ ร่วมกันยื่นฟ้องนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่องกระทำการโยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา การขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลก ที่จะมีการเสนอแถลงการณ์ต่อองค์การยูเนสโก ในวันที่ 5 ก.ค.นี้

โดยคำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องทั้งหมดในฐานะเป็นประชาชนไทยและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของชาติไทยโดยตรงตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 3 และใน มาตรา 71 บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศรักษาผลประโยชน์ของชาติและปฏิบัติตามกฎหมาย โดยผู้ฟ้องทั้งหมดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ใช้อำนาจหน้าที่กระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริต ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534, พ.ศ.2545

รวมทั้งไม่ยึดถือในการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ไม่บริหารราชการแผ่นดินตามคำแถลงนโยบายของ ครม.ที่แถลงต่อรัฐสภา วันที่ 18 ก.พ.51 และกระทำการขัดรัฐธรรมนูญโดยเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 ครม.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชาที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ต่อองค์การยูเนสโก ซึ่งมีนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 เป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์นั้นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. และจะมีการรายงานต่อองค์การยูเนสโก ในวันที่ 5 ก.ค.นี้

โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่ากระบวนการลงนามแถลงการณ์นั้นไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอน รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ระบุว่า หนังสือสัญญาใดที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่งคงเศรษฐกิจ สังคม หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และก่อนจะดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับองค์การระหว่างประเทศ ครม. ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาที่ปรากฏในแถลงการณ์ร่วม ฯ แล้ว ระบุว่า ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนที่เสนอ ซึ่งเขตรอบพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารปรากฏตามแผนที่แนบท้ายที่จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งแผนที่ดังกล่าวให้รวมถึงพื้นที่กันชนทิศตะวันออกและทิศใต้ของตัวปราสาท

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแผนที่แนบท้ายแล้วจะแสดงให้เห็นว่ากัมพูชา ยืนยันอย่างชัดเจนเป็นหลักฐานว่าพื้นที่กันชนทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของตัวปราสาทเป็นอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ซึ่งพื้นที่นั้นอยู่เหนือคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ดังนั้นการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ จึงเท่ากับว่า ไทย ได้สละสิทธิในข้อสงวนที่ไทยจะเอาปราสาทเขาพระวิหารกลับคืนมาในอนาคตกรณีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 และยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากปราสาทเขาพระวิหารอย่างถาวร ดังนั้นจึงต้องถือว่าข้อตกลงในคำแถลงการณ์มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยอย่างชัดเจน

การกระทำที่นายนพดล และ ครม.ดำเนินการทั้งหมดจึงเป็นการปกปิด บิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริงในสาระสำคัญของคำแถลงการณ์ร่วมฯ ที่จะมีผลต่อกระบวนการ ขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายด้านอาณาเขตดินแดนและอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งกระทบกระเทือนต่อพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ และสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องทั้งเก้าและประชาชนชาวไทยทุกคน

จึงขอให้ศาลปกครอง มีคำพิพากษา 1.ให้เพิกถอนการกระทำของ รมว.ต่างประเทศ ที่เสนอร่างคำแถลงการณ์ร่วมต่อ ครม.เพื่อพิจารณาและมีมติ ครม.เห็นชอบ 2.เพิกถอนมติ ครม.ลงวันที่ 17 มิ.ย.51 ที่เห็นชอบร่างคำแถลงฯ โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนาม 3.เพิกถอนการลงนาม รมว.ต่างประเทศ ในคำแถลงการณ์ร่วมฯ ลงวันที่ 18 มิ.ย.51 และ 4. มีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยุติความผูกพันตามคำแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อกัมพูชาและองค์การยูเนสโกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ฟ้องทั้งเก้า ยังยื่นคำขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่จะให้ 1.ศาลสั่งระงับการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งในเรื่องการเสนอเรื่องต่อ ครม.และการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมฯ ให้สิ้นผลเป็นการชั่วคราว 2.ศาลสั่งระงับผล ครม.ลงวันที่ 17 มิ.ย.51 ที่เห็นชอบร่างคำแถลง สิ้นผลเป็นการชั่วคราว และ 3.ศาลสั่ง รมว.ต่างประเทศ และ ครม.กระทำการใด ๆ เพื่อเป็นการแจ้งยุติความผูกพันตามคำแถลงการณ์ร่วมฯต่อกัมพูชาและองค์การยูเนสโกไว้เป็นการชั่วคราวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น.ศาลปกครองกลางได้รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 เพื่อพิจารณาว่าจะประทับรับฟ้องและได้มีคำสั่งนัดไต่สวนฉุกเฉินโดยให้คู่กรณีทั้ง 2 มาชี้แจงต่อศาลในวันพฤหัสบดีที่ 26 มิ.ย.นี้เวลา 10.00 น. ทั้งนี้ ในคำสั่งได้ให้นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ หรือตัวแทนนำเอกสารที่เป็นมติ ครม.คำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชาที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโกและให้นำแผนที่แนบท้ายมาชี้แจงต่อศาลในวันดังกล่าวด้วย

ยื่น 300 รายชื่อทักท้วงผ่าน"ยูเนสโก"

วันเดียวกันที่สำนักงานองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประจำประเทศไทย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นำโดย ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต, น.ส.รสนา โตสิตระกูล และนายประสาร มฤคพิทักษ์ รวมทั้งนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการมรดกโลก ผ่านยูเนสโกประจำประเทศไทยโดยร้องเรียนขอให้ชะลอการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยราชอาณาจักรกัมพูชา ทั้งนี้ เพื่อประเทศไทยจะมีเวลาในการเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับโบราณสถานร่วมสมัยที่ตั้งอยู่ในส่วนของประเทศไทย เพราะปราสาทพระวิหารเป็นทรัพย์สินข้ามพรมแดน โดยนายเชลดอล เชฟเฟอร์ ผู้อำนวยการยูเนสโก ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้เป็นผู้รับหนังสือและรับปากว่า จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการยูเนสโก สำนักงานใหญ่ในช่วงบ่ายวันนี้ (24 มิ.ย.) และจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป

ม.ร.ว.ปรียนันทนา กล่าวมั่นใจว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้คณะกรรมการมรดกโลก มีการชะลอการพิจารณาออกไปและต้องการให้รัฐบาลไทย ฟังข้อร้องเรียนของประชาชนด้วย เพราะไม่ทราบว่านายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ มีเหตุผลใดที่จะต้องเร่งรีบไปดำเนินการ อย่างไรก็ตาม หวังว่าปัญหานี้จะไม่กระทบทำให้เกิดวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาทางแก้มีอยู่แล้ว คือขอให้ประเทศไทยร่วมเสนอจดทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกับกัมพูชาด้วย

สำหรับการยื่นหนังสือในครั้งนี้ นอกจาก ส.ว.แล้วยังได้รวบรวมรายชื่อของผู้คัดค้านอีก 300 รายชื่อ มามอบให้ยูเนสโก ประจำประเทศไทยด้วย บุคคลสำคัญได้แก่ศาสตราจารย์ อดุลย์ วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นต้น

ม.ร.ว.ปรียนันทนา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ในที่ประชุมยูเนสโก มีหลายประเทศเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกว่า 60 แห่ง การชะลอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร น่าจะไม่มีปัญหา เพราะคณะกรรมการฯ จะพิจารณาใน 60 แห่งที่เสนอก่อนขอให้ประชาชนคนไทยเรียกร้องรัฐบาลระงับการตัดสินใจเรื่องนี้

ด้านนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า การที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในนามประเทศเดียวจะรวมถึงภูเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ของประเทศไทยด้วย และจะมีปัญหาภายหลัง จึงอยากให้ระงับความวุ่นวายดังกล่าว เชื่อว่าคณะกรรมการมรดกโลก มีหลักเกณฑ์ที่จะขึ้นทะเบียนสถานที่ใดเป็นมรดกโลก ก็ไม่ควรแบ่งเส้นศรัทธาของประชาชน ทั้งนี้ ในส่วนภาคประชาชนจะมีการเปิดให้ประชาชนที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารไปร่วมลงชื่อด้วย ส่วนช่องทางลงชื่อ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

นายเชลดอล เชฟเฟอร์ กล่าวว่า ยูเนสโก เป็นหน่วยงานในการประสาน ทำหน้าที่เป็นเลขาให้กับคณะกรรมการมรดกโลก ไม่มีหน้าที่อำนาจใดๆ ในการตัดสินใจ การพิจารณาขึ้นอยู่กับคณะกรรมการมรดกโลก แต่รับปากจะส่งเรื่องให้

ด้านนายริชาร์ด อิงเกลฮาร์ท ที่ปรึกษาทางวัฒนธรรมของยูเนสโก ภูมิภาค เอเชีย และแปซิฟิก กล่าวว่า กระบวนการในการพิจารณาคัดเลือกมรดกโลก ต้องใช้เวลา 3-10 ปี กรณีปราสาทพระวิหาร รัฐบาลกัมพูชาเสนอเป็นมรดกโลกครั้งแรก เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา คณะกรรมการเตรียมที่จะพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ มรดกโลก ที่ประเทศแคนาดา ระหว่าง 2-12 ก.ค.นี้ ซึ่งการเสนอมีหลายรูปแบบ และมีหลายกรณีที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็ขอให้อยู่ในกระบวนการคณะกรรมการเป็นผู้ตัดสินใจ

ต่อข้อถามว่า คณะกรรมการมรดกโลกสามารถล็อบบี้ได้หรือไม่ เนื่องจากหลายฝ่ายเป็นห่วงว่า คณะกรรมการฯ อาจถูกล็อบบี้ได้ นายริชาร์ด กล่าวว่า โดยระเบียบคณะกรรมการมรดกโลก เป็นองค์กรเอกชน มีผู้แทนจากหลายประเทศไม่ขึ้นกับฝ่ายใด มีข้อห้ามที่จะไม่ให้มีการถูกล็อบบี้โดยเด็ดขาด ซึ่งในช่วงของการพิจารณาของคณะกรรมการจะไม่มีการแถลงข่าว หรือให้ข้อมูล ยกเว้นผู้ได้รับมอบหมายเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น