xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนคดีเขาพระวิหาร 1, เจ้าสีหนุและดีน อาชเชสัน

เผยแพร่:   โดย: นิลสีห์

การพิจารณาพิพากษาคดีเขาพระวิหาร ณ กรุงเฮก ในปี 2505/1962 คนไทยระดับชาวบ้านทราบกันแต่ว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าคณะทนายฝ่ายไทย และไม่ค่อยสนใจว่าผู้เป็นหัวหน้าคณะทนายฝ่ายกัมพูชาคือ นายดีน อาชเชสัน อดีต รมต.ต่างประเทศอเมริกัน (1949-1955) สมัยประธานาธิบดีทรูแมน สมัยนั้นรัฐบาลไทยได้ประท้วงสหรัฐอเมริกา และประชาชนรวมทั้งผู้เขียนพากันเดินขบวนประท้วง รัฐบาลอเมริกันตอบว่า อาชเชสันอยู่ในฐานะทนายความอิสระและว่าจ้างโดยรัฐบาลกัมพูชา

แต่ที่ไม่มีใครทราบเป็นทางการก็คือ อาชเชสันนอกราชการมีสำนักงานทนายความคดีกฎหมายระหว่างประเทศห่างจากทำเนียบขาวไม่กี่ช่วงตึก และเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีอเมริกันมาตลอด ทั้งโดยส่วนตัวและคณะ “กลุ่มปราชญ์” The Wise Men ที่เขาเป็นหัวหน้าอันประกอบด้วย ชาร์ลส์ โบห์เลน แอนเวอริล แฮริแมน จอร์จ เคนนัน โรเบิร์ต โลเวต และจอห์น แมคคลอย สองนักกฎหมาย สองนักการทูต และสองนายธนาคารซึ่งเป็นเพื่อนกันมาแต่สมัยโรงเรียนเตรียม มหาวิทยาลัยหรือวอลล์สตรีท รวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 1945 มีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรูแมน เคนเนดี ถึงจอห์นสัน แม้กระทั่งนิกสันศัตรูเก่าซึ่งกลับมาเป็นมิตรก็ยังเชิญอาชเชสันมาเป็นที่ปรึกษาพิเศษ เมื่อเขาเป็นประธานาธิบดี

ดีน กูดเดอแรม อาชเชสัน Dean Gooderham Acheson (1893-1971) รัฐบุรุษอเมริกันและทนายความผ่านการศึกษาจากกรอตัน สกูล มหาวิทยาลัยเยล และฮาร์วาร์ด ลอว์ สกูล เริ่มต้นฝึกงานเป็นเสมียนศาลสูงสหรัฐฯ ทำงานในสำนักงานกฎหมาย Covington and Burling อันมีชื่อในคดีกฎหมายระหว่างประเทศก่อนที่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน โรสเวลท์ จะแต่งตั้งให้เขาเป็นเลขานุการกระทรวงการคลังในปี 1933 ในปี 1940 เขาย้ายมาเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นผู้แทนกระทรวงนั้นอันมีบทบาทสำคัญใน Bretton Woods Conference อันเป็นบ่อเกิดของ IMF World Bank และ WTO

ในเวลาต่อมาในปี 1945 ประธานาธิบดีทรูแมนเลือกอาชเชสันเป็นเลขานุการกระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้ รมต.สเตรททิเนียส เบิร์นส์ และมาร์แชล ซึ่งมักเดินทางต่างประเทศอยู่เสมอ ทำให้เขาได้ใกล้ชิดประธานาธิบดีและเป็นผู้ร่างนโยบาย และเขียนคำร้องขอของประธานาธิบดีต่อสภาคองเกรสให้ช่วยเหลือกรีซ และเตอรกีอันเป็นปาฐกถาที่เรียกกันว่า Truman Doctrine อาชเชสันเป็นผู้ออกแบบโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ยุโรปที่รู้จักกันในชื่อ Marshall Plan ในแผนสงครามเย็นสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์โซเวียตในยุโรป ในปี 1949 อาชเชสันได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้สร้างกรอบนโยบายสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ Containment Policy เป็นตัวสำคัญในการก่อกำเนิดองค์การพันธมิตรทางทหาร NATO กับยุโรป และเป็นผู้ชักนำประธานาธิบดีทรูแมนให้ส่งที่ปรึกษา และความช่วยเหลือไปให้กองทหารฝรั่งเศสในสงครามเวียดนาม

แต่ชัยชนะของจีนคอมมิวนิสต์บนแผ่นดินใหญ่ในปี 1949 นั่นเอง ทำให้อาชเชสันถูกโจมตีในนโยบายสกัดกั้นอันดูไร้ผลของเขาจนสมาชิกสภาผู้แทนสังกัดพรรครีพับลิกันทั้งหมดลงคะแนนให้ถอดเขาออกจากตำแหน่งในปี 1950 หลังเลือกตั้งปี 1952 ในสมัยประธานาธิบดีไอเซนฮาว์ อาชเชสัน เป็นหัวหน้ากลุ่มนโยบายของพรรคเดโมแครตซึ่งมีอิทธิพลต่อนโยบายสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีเคนเนดีและจอห์นสันต่อมา สมัยวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาประธานาธิบดีเคนเนดีส่งเขาไปเจรจาส่วนตัวกับนายพลเดอโกวด์ ให้สนับสนุนการล้อมกรอบ (Blockde) คิวบา ตลอดทศวรรษ 1960 ต่อมาเขาเป็นสมาชิกระดับหัวหน้าผู้ก่อตั้งกลุ่มผู้เกษียณราชการอาวุโสที่เรียกว่า The Wise Men ซึ่งสนับสนุนสงครามเวียดนามมาแต่แรก ต่อมาอาชเชสันได้หันมาดีกับนิกสัน และกลายเป็นที่ปรึกษาพิเศษ เมื่อฝ่ายหลังได้เป็นประธานาธิบดีในปี 1970 อาชเชสันได้รับรางวัลพูลิเซอร์สำหรับบันทึกความทรงจำการทำงานในกระทรวงการต่างประเทศของเขาชื่อ Present of the Creation : My Years in The State Department ก่อนที่จะถึงอนิจกรรมในปี 1971

เมื่อเห็นประวัติผลงานหลากหลายอันทรงอิทธิพลในเวทีโลกโดยเฉพาะยุโรปแล้ว ใครก็ต้องหนาวเมื่ออาชเชสันกลายมาเป็นทนายว่าความให้กัมพูชาในคดีเขาพระวิหาร และไม่แปลกที่เขาจะชี้ว่านกก็จะต้องเป็นนก ว่าไม้ก็ต้องเป็นไม้ ดังนั้นคะแนนผู้พิพากษาส่วนใหญ่ซึ่งเป็นสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปจะเทให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะ ไปไงมาไงถึงได้มาเป็นทนายว่าความให้กัมพูชาในปี 1962 เป็นเรื่องทำศึกษาอย่างยิ่ง ในปี 1964 เขาได้รับรางวัลเหรียญประธานาธิบดี Presiaential Medal for Freedom และต่อมาประธานาธิบดีนิกสันได้ประกาศขยายสงครามเวียดนามเข้าไปในกัมพูชาเป็นทางการในปี 1969

ดีน อาชเชสัน ผู้นี้ว่าเป็นรัฐบุรุษอเมริกันผู้สามารถอย่างยิ่งแล้ว แต่ผู้ที่สามารถกว่าคือ เจ้าสีหนุ รัฐบุรุษประเทศเล็กๆ เช่น กัมพูชาซึ่งสามารถนำเขามาเป็นหัวหน้าคณะทนาย ทรงฉลาดแหลมคมที่ไปอาศัยศาลโลกเพื่อสร้างความชอบธรรม (Legitimacy) ในการครอบครองปราสาทเขาพระวิหารซึ่งฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมได้กำหนดโดยผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และดึงประเทศไทยไปติดกับได้ การมาป้วนเปี้ยนในกิจการกัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงความคิดในนโยบายสงครามเวียดนามของอาชเชสัน เจ้าสีหนุน่าจะต้องทรงมีส่วนในการเปลี่ยนเขาจากเหยี่ยวให้เป็นพิราบในสงครามเวียดนามได้ ในปี 1968 “กลุ่มปราชญ์” ของเขาได้โต้แย้งประธานาธิบดีจอห์นสันในที่ประชุมนโยบายเวียดนาม โดยมีความเห็นว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถชนะสงครามนี้ได้ และควรก้าวถอยออกมาได้แล้ว อาชเชสันยังได้เสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯ เจรจาสันติภาพกับเวียดนามเหนือ

เราจะมีผู้นำประเทศที่ฉลาดสุดแหลมคม และสามารถในเวทีโลกที่ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เช่น เจ้าสีหนุบ้างไหม เราจะมีกลุ่ม “ปราชญ์” ที่แบ่งชีวิตการงานส่วนตัวให้แผ่นดิน โดยทุ่มเทกำลังมันสมองและประสบการณ์ช่วยเหลืองานรัฐบาลโดยไม่เห็นแก่พรรคการเมืองใด เช่น กลุ่ม The Wise Men ของอาชเชสันนี้บ้างไหม คนอเมริกันเห็นว่างานนี้เป็นเอกลักษณ์อเมริกันไม่เหมือนใครประเทศไหน คนไทยชอบตามก้นฝรั่งเอาอย่างเมืองนอกน่าจะตามเขาบ้างในเรื่องนี้ ที่เห็นมีก็คงจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ผู้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงด้านการต่างประเทศให้กับรัฐบาลต่อๆ มา

เจ้าสีหนุน่าจะทรงเล็งประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ของปราสาทเขาพระวิหารด้วย ในสงครามกลางเมืองกัมพูชาปี 1970 ปราสาทบนหน้าผากลายเป็นที่ตั้งกองทหารฝ่ายรัฐบาลลอนนอล และเป็นที่มั่นสุดท้ายในปี 1975 เมื่อเขมรแดงซึ่งยึดพนมเปญได้แล้วตามเข้ามาโจมตียิงระเบิดหน้าผา และกวาดล้างฝ่ายลอนนอลจนสำเร็จในที่สุด ในปี 1978 เมื่อกองทหารเวียดนามบุกเข้ามาล้มรัฐบาลเขมรแดง ฝ่ายหลังก็ถอยร่นมาชายแดนไทย และยึดปราสาทเขาพระวิหารเป็นที่มั่นอีกเช่นกัน จนกระทั่งเวียดนามเข้ายึดปราสาทได้ในที่สุด

รัฐบาลไทยปัจจุบันซึ่งมี รมต.ต่างประเทศนักกฎหมายผู้สามารถในการเจรจากับต่างประเทศ และคณะมนตรีความมั่นคงอยู่กำลังพิจารณาแผนที่ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาเสนอมา คงจะได้ตระหนักในจุดนี้ด้วย ในยามสงบปราสาทเขาพระวิหารเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับมรดกโลกก็จริงอยู่ แต่ในยามสงครามสถานที่นี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ฝรั่งเศสถึงได้ชิงเอาเปรียบเฉือนไป เช่นเดียวกับการครอบครองเกาะทุกเกาะในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างประเทศ กรณีฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่แขวงไชยบุรีซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์หัวหอกในการเข้าภาคอีสาน และกรณีฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่แขวงจำปาสักซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เส้นทางเดินทัพไปมาระหว่างเขมรและญวนแต่โบราณ

อ้างอิง : วิกิพีเดียในเรื่อง Prasat Preah Vihear, Dean Acheson และ The Wise Men
กำลังโหลดความคิดเห็น