xs
xsm
sm
md
lg

Obstruction of Justice ความผิดฐานประวิงหรือขัดขวางความยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

1. พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ร้องให้อัยการขอให้ตุลาการรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน

ท่านผู้อ่านที่เคารพ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อดีต ผบ.ตร. ยื่นหนังสือให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าพรรคพลังประชาชนมีการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองอันมิชอบด้วยครรลองของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ตามบทบัญญัติมาตรา 68 อัยการมีอำนาจพิจารณาโดยมิชักช้าหรือถ่วงเวลาออกไปถึง 60 วัน ก่อนที่จะส่งข้อเท็จจริงที่ตรวจพบให้กับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งให้ยุติการกระทำ และ/หรือยุบพรรคด้วยก็ได้ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าในระหว่างนี้จะต้องยุติการดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาสำหรับการกระทำใดๆ ที่เห็นว่าเป็นการกระทำผิด

ผมขอบคุณ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และอยากให้ผู้ที่พบเห็นการกระทำดังกล่าว หรือการกระทำอื่นๆ ที่เข้าข่ายหรือมีพยานหลักฐานใหม่ๆ โดยตัวคนเดียวหรือเป็นหมู่คณะ อาศัยตัวอย่างของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้าร้องเรียนอัยการเพิ่มเติมอีกหลายๆ สำนวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เข้ามาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานฯ

การร่วมมือกันเช่นนี้ จะได้กระตุ้นต่อมสำนึกให้อัยการเร่งรีบปฏิบัติหน้าที่ มิฉะนั้นอาจจะได้รับโทษฐานละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญาที่มีอยู่แล้ว หรือดีไม่ดีอาจจะเจอเข้าอีกกระทง คือ ความผิดฐานประวิงหรือขัดขวางความยุติธรรม Obstruction of Justice ซึ่งผมจะได้อธิบายอย่างย่อๆ ต่อไป

ยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆ ที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นำร้องเรียนเรื่องหนึ่งก็คือปาฐกถาของนายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งคณะกรรมการและพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติสรุปแล้วว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ เว็บไซต์ของทำเนียบนายกรัฐมนตรียังบังอาจนำข้อความนั้นมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนกระทั่งถึงวันที่ 10มิถุนายน 2551 ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีจะอ้างว่าเผอเรอ ไม่มีเจตนา หรือมิได้ตรวจสอบก็ไม่พ้นผิด คำโฆษณาให้เปิดเว็บไซต์อ่านอยู่ในกรอบติดกันกับกรอบโฆษณาพูดจาประสาสมัครนั่นเอง

เรื่องนี้ ถึงแม้จะหยุดการกระทำไปแล้ว ผมเชื่อว่าอัยการทุกคนรู้กฎหมายดีพอว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เห็นจะอ้างไม่ได้ว่าระเบียบให้เวลาอัยการถึง 60 วัน

2. ตัวอย่าง Obstruction of Justice หรือความผิดฐานประวิงหรือขัดขวางความยุติธรรม
ผมอยากจะเล่าให้ฟังเสียก่อนว่า ในประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมาย ไม่มีใครสักคนเดียวที่ใหญ่กว่ากฎหมาย ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือประมุขของประเทศที่ได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนเสียงที่ถล่มทลาย และมีกฎหมายให้อยู่ในตำแหน่งเทอมละ 4 ปีก็ตาม ท่านผู้อ่านบางท่านคงจำได้ว่าในปี 1972 ประธานาธิบดีนิกสันชนะการเลือกตั้งเทอม 2 ด้วยคะแนนเสียง 47 ล้าน+ ต่อ 29 ล้าน+ ของคู่ต่อสู้ ได้คะแนนจากคณะผู้เลือกหรือ Electoral Vote 520 ต่อ17 ชนะทุกรัฐนอกจากรัฐของคู่ต่อสู้คือนายจอร์จ แม็ก กับ เวิน พรรคเดโมแครต สถิตินี้ผมเอาหัวเป็นประกันว่าจะไม่มีใครลบสำเร็จ

หากจะเปรียบความยิ่งใหญ่ ไม่มีอะไรที่ทักษิณจะทาบนิกสันได้เลย ถึงอย่างนั้นในทางการเมือง มีสิ่งที่นิกสันทำไม่ได้อยู่ 2 อย่าง นั่นก็คือ (1) ตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดีตลอดกาล (2) ทำผิดกฎหมาย

นิกสันกลับถูกบังคับหรือจำต้องตัดสินใจลาออกกลางเทอมในปี 1974 ด้วยข้อกล่าวหา Obstruction of Justice หรือความผิดฐานประวิงหรือขัดขวางความยุติธรรม อันสืบเนื่องมาจากการกระทำผิดเล็กๆ ก่อนการเลือกตั้ง ที่คณะผู้หาเสียงของนิกสันแอบงัดห้องเข้าไปขโมยเอกสารและแผนการหาเสียงของคู่แข่งขันในตึกวอเตอร์เกต ในกรุงวอชิงตัน จนเกิดตำนานอันลือลั่นเรียกว่า Watergate Affairs เกิดศัพท์การเมืองใหม่นำไปใช้กันทั่วโลกคือคำว่า Gate หรือแปลว่า ประตู เมื่อเอาไปต่อกับชื่อเหตุการณ์ สถานที่หรือบุคคลเข้า ก็จะหมายความถึงกระบวนการกระทำผิดกฎหมายและกระบวนการปกปิดบิดเบือนหรือขัดขวางความยุติธรรมตามกฎหมาย เช่น Irangate คือการที่อเมริกันลอบค้าอาวุธให้อิหร่าน Koreangate หรือเกาหลีใต้ติดสินบนสภาคองเกรสสหรัฐฯ Nixongate หรือนิกสันขัดขวางการดำเนินคดี เป็นต้น คำว่า Thugsingate และ Suvarnabhumgate ก็น่าจะนำมาใช้ได้ในกรณีของไทย

ความจริงไม่มีพยานหลักฐานหรือการพิสูจน์ว่านิกสันมีส่วนรู้เห็นหรือสั่งให้คนแอบเข้าไปงัดตึกเลย แต่เมื่อความแดงขึ้น มีหนังสือพิมพ์ลงข่าว มีนักข่าวหัวเห็ดคู่หนึ่งเขียนเรื่องวอเตอร์เกตขึ้นมาเป็นหนังสือ มีบุคคลตำแหน่งสูงในหน่วยสืบราชการลับแอบให้ข้อมูลกับสื่อเป็นระยะๆ ท่านประธานาธิบดีถูกสอบสวนและสาวลึกเข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งดิ้นไม่หลุดว่า ถึงแม้ท่านจะไม่มีความผิดฐานสั่งคนไปงัดแงะ แต่ท่านก็ปกป้องลูกน้องที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ให้ความจริงที่รู้ทุกอย่างในการสอบสวน หน่วงเหนี่ยวการสืบหาความจริง ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า ในที่สุดท่านก็เป็นผู้ต้องหาคดีObstruction of Justice นิกสันพิจารณาแล้วว่าถึงดิ้นได้ไม่หลุด เพราะนอกจากจะถูกสภาคองเกรส (โดยพรรคของตนเองกับฝ่ายค้าน) ร่วมกันปลดออก (impeach) แน่ๆ แล้ว ก็ยังจะต้องติดคุกคดีดังกล่าวแหงๆ

ในที่สุด ท่านประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีคุณูปการต่อโลกเสรีไม่น้อย ก็ต้องตัดสินใจลาออกแลกกับการที่รองประธานาธิบดีฟอร์ด ผู้ขึ้นมาแทนให้ทำการอภัยโทษให้ (Pardon) ไม่ต้องติดคุกหรือถูกสืบสวนต่อ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ลองเปรียบเทียบกับการเมืองไทยที่ผ่านมา 5-6 ปีนี้ดูดีไหมครับ

ผมขออธิบายเพิ่มเติมครับว่าความผิดฐานประวิงหรือขัดขวางความยุติธรรม (ไม่ให้ดำเนินต่อจบสิ้นกระบวนการนี้) ไม่สู้จะเป็นที่คุ้นเคยกันนักในประเทศไทย เพราะว่า (1) เรายังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผู้มีอำนาจของเรา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจน้อย ตำรวจกลาง ตำรวจนายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจอื่นๆ ล้วนสามารถลบล้าง ปกปิด ถ่วงเวลา ขัดขวางและประวิงความยุติธรรมได้ทั้งสิ้น (2) ขั้นตอนของขบวนการยุติธรรมของเรากว่าจะมาถึงศาลได้กินเวลานานเกินสมควรเพราะจะต้องผ่านองค์กรต่างๆ และขบวนการดุลพินิจและประวิงเวลาได้อย่างไม่สมเหตุผล และเมื่อมาถึงศาลแล้วก็ยังเจออุปสรรคที่คล้ายคลึงกันอีก (3) เพราะประเทศไทยใช้ประมวลกฎหมายมิได้ใช้ Common Law เป็นหลักเหมือนอังกฤษหรืออเมริกา ศาลจึงต้องคอยให้มีผู้ส่งคดีขึ้นมาให้ตามระบบกล่าวหา ธรรมเนียมปฏิบัติตามหลัก Judicial Activism หรือตุลาการก้าวหน้า (แข็งขัน) ที่ศาลไม่จำต้องคอยการกล่าวหาหรือสามารถยกพยานหลักฐานที่ชัดเจนแต่มิได้บรรจุอยู่ในสำนวน เอามาออกความเห็นและวินิจฉัยได้ ตุลาการภิวัตน์ของเราจึงยังคงเป็นคำขวัญโก้ๆ ซึ่งนานๆ ทีต่อมสำนึกศาลถูกกระตุ้น เกิดความก้าวหน้าแข็งขันในการนำคดีขึ้นมาปรึกษาหารือ และนำเข้าสู่ขบวนการ แต่เรื่องนี้ก็ยังล่าช้า ถ้าหากเป็นวิกฤตที่สุดของชาติ ก็ไม่ทันกาล อาจจะเกิดกลียุคหรือชาติล่มจม จนศาลทุกศาลจะหมดความหมายไปเสียก่อน ยกเว้นศาลเตี้ยของผู้มีอำนาจที่แอบแฝงมาเท่านั้น

3. Obstruction of Justice หรือความผิดฐานประวิงหรือขัดขวางความยุติธรรม คืออะไร
ท่านผู้อ่านที่เคารพที่อ่านมาถึงตอนนี้คงจะตอบได้แล้ว แต่ผมขอยกคำอธิบายง่ายๆ จาก Wikipedia มาให้อ่านทั้งดุ้น พร้อมกับขอชี้แจงอย่าคิดว่าผมเป็นผู้รอบรู้ทุกเรื่อง ถ้าท่านอยากรู้เรื่องอะไรและมีอินเทอร์เน็ตใช้ ท่านก็เปิดหาดูเอาจนแตกฉาน กลับมาโต้และสั่งสอนผมได้

เมื่อ 3-4 วันนี้มีท่านผู้อ่านที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนโทร.มาติงผมว่า ผมรู้ไม่จริงที่ผมไปตำหนิว่าในสมัยสามัญแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สภามิได้ปฏิบัติหน้าที่นิติบัญญัติเลย คือมิได้ออกกฎหมายแม้แต่ฉบับเดียว เพราะในยุคไหนๆ และประเทศใดๆ เขาก็ไม่ออกกฎหมายในสมัยประชุมแรกทั้งสิ้น ผมเศร้าใจทำไมการเมืองไทยจึงล้างสมองกันได้ง่ายๆ อย่างนี้ ถ้าท่านอยากรู้ว่าอะไรจริงก็ลองถาม Google ดูเถิด

เอาละครับ
The crime of obstruction of justice includes crimes committed by judges, prosecutors, attorneys general, and elected officials in general. It is misfeasance, malfeasance or nonfeasance in the conduct of the office. Most commonly it is prosecuted as a crime for perjury by a non governmental official primarily because of prosecutorial discretion. Prosecutors and attorneys general however commit obstruction of justice when they fail to prosecute judges and other government officials for malfeasance, misfeasance, or nonfeasance in office.

Modern obstruction of justice, in United States jurisdictions, refers to the crime of offering interference of any sort to the work of police, investigators, regulatory agencies, prosecutors, or other (usually government) officials. Often, no actual investigation or substantiated suspicion of a specific incident need exist to support a charge of obstruction of justice. Common law jurisdictions other than the United States tend to use the wider offense of Perverting the course of justice.

ความผิดฐาน Obstruction of Justice คืออาชญากรรมที่ก่อโดยผู้พิพากษา อัยการ และอัยการสูงสุด รวมทั้งนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีเอาความผิดกับผู้กระทำผิดได้

ผมขอโทษที่จะยังไม่แปลให้ ขอให้ท่านผู้อ่านที่เชี่ยวชาญกฎหมาย และภาษาช่วยกันแปลสู่กันฟังด้วย

สำหรับผมจะขอเตือนอัยการ ผู้พิพากษา กกต. นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และตำรวจว่า เมื่อรัฐบาลที่มิชอบด้วยกฎหมายของนายสมัคร สุนทรเวช จบสิ้นลง สภาใหม่คงจะไม่สาละวนกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะออกกฎหมาย Obstruction of Justice มาเพื่อให้ท่านดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมเกียรติและเต็มภาคภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้วกระทำการตระบัดสัตย์อย่างไร้ยางอาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น