xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ชาติอินเดียประกาศขึ้นดอกเบี้ย มุ่งสู้“เงินเฟ้อ”แบบปท.เอเชียอื่นๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียลไทมส์ – ธนาคารกลางอินเดียเคลื่อนไหวฉุกเฉินเมื่อคืนวันพุธ(11) เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ไม่สร้างปัญหาให้เศรษฐกิจ โดยประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 5 ปี
เดอะ รีเสิร์ฟ แบงก์ ออฟ อินเดีย (The reserve Bank of India) ซึ่งเป็นธนาคารกลางของแดนภารตะ ได้เดินตามรอยของธนาคารกลางในเอเชียอื่นๆ อีกหลายแห่ง ที่เลือกหนทางต่อสู้กับเงินเฟ้อโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะต้องแลกด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงก็ตาม ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินเดียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารหรือที่เรียกกันว่า “รีโป”(repo) อีก 0.25% มาอยู่ที่ 8% ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบระยะเวลากว่าหนึ่งปี
ธนาคารออกแถลงการณ์หลังจากตลาดหลักทรัพย์และธุรกิจต่างๆปิดทำการแล้วว่า “ด้วยความประสงค์ที่จะควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectations) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะหน้าในปัจจุบัน”
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ กระทำก่อนกำหนดการประชุมทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ย ที่จะมีขึ้นในปลายเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พรรครัฐบาลผสม 14 พรรคของอินเดีย ซึ่งนำโดยพรรคคองเกรส ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่อันเนื่องมาจากราคาน้ำมัน อาหาร เหล็กกล้าและซีเมนต์ที่พุ่งขึ้น และส่อเค้าว่าจะฉุดให้อัตราเงินเฟ้อของอินเดียขึ้นสู่ระดับที่ไม่เคยเห็นมาในช่วงเวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว
นอกจากนี้ ราคาสินค้าที่ทะยานขึ้นไม่หยุดยั้งก็อาจจะทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลลดลง ถึงขั้นกลายเป็นความหายนะได้ ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคมปีหน้า เพราะตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลก็เริ่มเสียที่นั่งจำนวนมากในการเลือกตั้งในระดับรัฐแล้ว
.
สาเหตุสำคัญก็คือ ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวอินเดียเป็นพวกที่อ่อนไหวต่อเงินเฟ้อมาก เคยมีประวัติเขี่ยเอารัฐบาลออกไปจากเหตุที่ไม่สามารถควบคุมสินค้าหลักไม่ให้มีราคาแพง โดยเฉพาะอาหาร มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ธนาคารกลางอินเดียจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเรื่อย ๆ “เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยรีโปยังจะเพิ่มขึ้นอีก 25 เบซิสพอยต์ (0.25%) ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งหน้าวันที่ 29 กรกฎาคม” ทุชาร์ พอดดาร์ จาก โกลด์แมนแซคส์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ธนาคารกลางก็ยังปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกตัวหนึ่ง นั่นคือ รีเวิร์ส รีโป เรต (reverse repo rate) ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เพื่อดูดซับเม็ดเงินออกจากระบบ ให้อยู่ในระดับ 6% ไม่เปลี่ยนแปลง
รีโปเรตเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางใช้สำหรับให้ธนาคารพาณิชย์กู้ยืม หรือเป็นเครื่องมือของธนาคารกลางในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ส่วนรีเวิร์ส รีโป เรตเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางให้เมื่อธนาคารพาณิชย์เอาเม็ดเงินส่วนเกินมาฝากไว้กับธนาคารกลาง จึงเป็นเครื่องมือดูดซับเม็ดเงินออกจากตลาด
ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางยังคงสัดส่วนเงินสดสำรองต่อยอดเงินฝาก (cash reserve ratio) ไว้ในระดับเดิม แม้ว่าจะสัดส่วนเงินสดสำรองนี้จะเป็นกลไกหลักที่ธนาคารกลางของอินเดียใช้ในการดูดซับเม็ดเงินส่วนเกินออกจากระบบในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา หลักการของเงินสดสำรองก็คือ เมื่อธนาคารกลางเพิ่มสัดส่วนเงินสดสำรองต่อเงินฝาก ก็จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเม็ดเงินที่จะให้กู้ยืมได้น้อยลง
ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางอินเดียครั้งนี้ สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในอินเดีย ตลอดจนในเอเชียโดยรวมด้วย ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางของเวียดนาม, อินโดนีเซีย, และฟิลิปปินส์ต่างก็ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วทั้งสิ้น
ส่วนประเทศอื่น ๆที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเช่น ญี่ปุ่น ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบทำให้อัตราเงินเฟ้อของราคาขายส่งในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% หรือสูงสุดในรอบ 27 ปี ขณะที่ทางจีน ธนาคารกลางก็เพิ่งขึ้นสัดส่วนเงินสดสำรองต่อเงินฝากอีก 1% เพื่อดูดซับเม็ดเงินส่วนเกินออกมาระบบเศรษฐกิจ มิให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
อัตราเงินเฟ้อในอินเดียในรอบหนึ่งปีที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมอยู่ที่ 8.24% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบสามปีครึ่งและสูงกว่าระดับที่ “ยอมรับได้” ที่ธนาคารกลางกำหนด นั่นคือต้องน้อยกว่า 5.5% ขณะที่นักวิเคราะห์เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อจะเกิน 10%ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น