xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติเก็งบาทอ่อนค่า-รมว.คลังทุบซ้ำ-ธปท.เหนื่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติเห็นแววต่างชาติเก็งกำไรค่าเงินบาท กู้บาทมาทุ่มขายออกเพื่อซื้อดอลลาร์ เหตุเชื่อมีแนวโน้มอ่อนค่า อาศัยความไม่มั่นใจทางเศรษฐกิจเขย่า ล่าสุดวานนี้ (9 มิ.ย.) อ่อนสุดในรอบ 5 เดือน "สุชาดา กิระกุล" ครวญ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยไม่ได้เปลี่ยนได้ในวันเดียว ขณะที่ รมว.คลังทุบซ้ำ เข้าทางนักเก็งกำไร เอกชนเป็นห่วงแบงก์ชาติเข้าแทรกแซงหนัก

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ เกิดจากแรงเทขายเงินบาท และซื้อเงินดอลลาร์ของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการเร่งซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้า เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และเกรงว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีก ในขณะที่ผู้ส่งออก ไม่ยอมขายเงินดอลลาร์ เพราะต้องการรอดูสถานการณ์ค่าเงินบาทให้ชัดเจนกว่านี้ โดยวานนี้ (9 มิ.ย.) ธปท.ได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาทในตลาด เนื่องจากเห็นว่าการก่อนค่าของเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป
ทั้งนี้ เท่าที่ ธปท.ติดตาม ส่วนหนึ่งการอ่อนค่าของเงินบาท เกิดขึ้นจากแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ ที่ขายหุ้น และขายพันธบัตรในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนเริ่มไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์การเมือง แล้วซื้อดอลลาร์เพื่อนำเงินออกไป ซึ่งส่วนนี้ ธปท.ไม่เป็นห่วงเพราะเมื่อขายหุ้นแล้วเอาเงินออกถือเป็นเรื่องปกติ แต่ที่กำลังตรวจสอบอยู่เพราะเริ่มเห็นแนวโน้มของการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทบ้างแล้วของนักลงทุนต่างชาติ
“ธปท.เริ่มเห็นการเข้าไปขอกู้เงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ แล้วเอามาซื้อดอลลาร์ ซึ่งประเด็นนี้ ธปท.กำลังติดตามอยู่ว่า น่าจะมีวัตถุประสงค์ในการเก็งกำไร เพราะในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายเงินบาทเร็ว และจำนวนมากจนน่าสงสัย ทั้งๆ ที่ พื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว”
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้นำเข้า ขออย่าให้ตื่นตระหนกหรือเร่งซื้อเงินดอลลาร์ ขอให้ซื้อในส่วนที่จำเป็นต้องใช้ ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกที่ช่วยนี้หายไปจากตลาดเลย ก็ไม่ควรจะรอหรือเก็งว่าค่าบาทจ่ะอนค่าไปอีก ควรจะนำเงินดอลลาร์ออกมาขายตามปกติ เพื่อไม่ให้ตลาดผันผวนจนเกินไป เพราะการอ่อนค่าของเงินบาทในขณะนี้มากเกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทย
ทั้งนี้ จากราคาน้ำมัน ราคาทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น เหล็ก วัตถุดิบที่สูงขึ้นมาก ธปท.ประเมินว่า จะทำให้มูลค่าการนำเข้าของประเทศในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังเชื่อว่า ในส่วนของเงินทุนนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะยังอยู่ในระดับสมดุลได้ ไม่น่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้อย่างแน่นอน โดยนไตรมาสที่ 2 ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลก็เป็นไปตามฤดูกาล นอกจากนั้น ในส่วนของราคาน้ำมันนั้น แม้ว่าล่าสุด ธปท.จะมีการปรับประมาณการราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี ในกรณีเลวร้ายขึ้นไปอยู่ที่ 124.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จาก 112..6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งจะทำให้มูลค่านำเข้าน้ำมันสูงขึ้น แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในภาวะสมดุล

***รมว.คลังทุบซ้ำบอกไม่ผิดปกติ
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่าค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนลงในช่วงนี้เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ประกอบกับแรงเทขายสุทธิของนักลงทุนชาวต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งอาจมีผลกระทบกับการนำเข้าน้ำมัน แต่ยังไม่ผันผวนถึงขั้นผิดปกติทางรัฐบาลได้มีการพิจารณาและเตรียมการในเรื่องนี้แล้ว
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.นพ.สุรพงษ์ได้ออกมาระบุให้ ธปท.ทำหน้าที่ดูแลค่าเงินบาท โดยไม่ควรเข้าไปแทรกแซงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด

**เชื่อ ธปท.แทรกแซงลดความผันผวน**
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเงินบาทในก่อนเที่ยงของวานนี้ (9 มิ.ย.) อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว จาก 33.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเปิดตลาด โดยลงมาแตะจุดต่ำสุดที่ 33.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงก่อนเที่ยง ก่อนที่จะแข็งขึ้นมาอยู่ในระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในการซื้อขายช่วงบ่าย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่าช่วงเช้าของวันที่ 9 มิถุนายน 2551 เงินบาทร่วงลงอย่างหนักหลังตลาดในประเทศเปิดทำการ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนใกล้ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยเงินบาทถูกกดดันจากแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างต่อเนื่องจากทั้งฝั่งผู้นำเข้าและนักลงทุนต่างชาติหลังจากเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วผ่านระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เงินบาทฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยมายืนที่ระดับประมาณ 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงต่อมา โดยได้รับแรงหนุนจากแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าเป็นการเข้าแทรกแซงจาก ธปท.เพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นไปตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคโดยเฉพาะเงินวอน เงินเปโซ และเงินรูปี ซึ่งล้วนถูกกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อและฐานะดุลการค้าที่ถดถอยลงอันเนื่องมาจากวิกฤตราคาน้ำมัน นอกจากนั้น ปัญหาการเมืองในประเทศของไทยเองก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากราคาน้ำมันยังคงทะยานขึ้น แรงกดดันที่มีต่อสกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาครวมทั้งเงินบาท ก็จะดำเนินต่อเนื่องไปอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง
อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจได้รับแรงหนุนจากดุลบริการที่น่าจะเกินดุลในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ตามปัจจัยด้านฤดูกาลจากรายได้จากการท่องเที่ยว แต่เงินบาทจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้มากเพียงใดนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสถานการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน
นักค้าเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทวานนี้มีการแกว่งตัวอยู่ในช่วงกว้าง โดยเปิดตลาดที่ระดับ 33.16-33.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นก็อ่อนค่าลงแตะระดับอ่อนสุดของวันที่ 33.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจนกระทั่งปิดตลาดช่วงเย็นที่ระดับ 33.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแนวโน้มวันนี้หาก ธปท.ยังแทรกแซงอยู่ก็อาจจะแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
"ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงวานนี้ นอกจากคงามขัดแย้งทางการเมืองแล้ว แรงเข้าเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติยังซ้ำเติม แต่จากการเข้ามาแทรกแซงของแบงก์ชาติทำให้ค่าบาทไม่ไปไกลนัก ซึ่งแนวโน้มวันนี้ก็คงต้องดูที่การเข้ามาดูแลของแบงก์ชาติด้วย" นักค้าเงินกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น