xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.หวั่นโกงจำนำข้าวคืนชีพ - ชาวนาทุกทิศเตรียมทัพบุกกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมัก– มิ่ง– เลี้ยบ” ซดเกาเหลาแก้ปัญหาข้าว “สมัคร”ทำทีไว้หน้า “มิ่งขวัญ” แค่สั่งชะลอธงฟ้า ก่อนชงเข้าครม.อังคารนี้ถกเลิกอีกครั้ง รมว.พาณิชย์ยันไม่ถอดใจ ชมรมสหกรณ์ฯเปิดฉากถล่มนโยบายจำนำข้าวรัฐบาลหมักเอื้อนายทุนใหญ่ ส่อเกิดมหกรรมโกงซ้ำซาก ด้านธ.ก.ส.พิจิตรหวั่นขบวนการโคตรโกงฟื้นชีพ ม็อบชาวนาทุกสารทิศเตรียมทัพเข้ากรุง รัฐบาลประกันแหลกคชก.รับจำนำกุ้ง 300 ล. สกัดม็อบอีก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วานนี้ (6 มิ.ย.) ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ชะลอการจัดทำข้าวสารบรรจุถุง (ข้าวถุงธงฟ้ามหาชน) หลังจากที่มีการจัดทำข้าวถุงของกระทรวงพาณิชย์ทั้ง 3 งวดจำนวน 3 แสนถุงในเดือนพ.ค.ที่ผ่าน

“มติที่ประชุม กขช. จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 มิ.ย. นี้เพื่อชะลอการจัดทำข้าวถุงธงฟ้ามหาชน งวดที่ 3 และงวดต่อๆไป แต่อาจจะมีมติอื่นจาก ครม.ถึงขั้นว่า จะยกเลิกโครงการนี้หรือไม่ เพราะเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ข้าวเปลือกราคาตกต่ำ” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ แม้รายงานของนายธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการข้าวสารบรรจุถุง จะชี้แจงว่า ข้าวถุงธงฟ้าสามารถช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เพราะราคาถูกกว่าท้องตลาด 20% และยังช่วยดึงไม่ให้ราคาข้าวถุงปรับราคาสูงเกินไป ที่สำคัญปริมาณข้าวที่นำออกมาทำข้าวถุง มีปริมาณเพียง 1,500 ตัน คิดเป็น 0.28% ของข้าวที่บริโภคในประเทศเดือนละ 5.4 แสนตัน จึงไม่มีผลต่อราคาข้าวเปลือก และไม่มีผลต่อราคาส่งออก

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมีมติให้ องค์การคลังสินค้า หรือ อคส.เสนอเรื่องการแต่งตั้งบอร์ดฯ แทนบอร์ดฯ และผอ.ที่ลาออกไปตั้งแต่เดือนก.พ.51 ทำให้ไม่ครบองค์ประชุมในวันที่ 10 มิ.ย.นี้

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ทำบันทึกมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ชะลอโครงการข้างถุงธงฟ้ามหาชนไว้ก่อน เพราะมีผลกระทบอย่างมากกับหลายฝ่าย และขอให้พิจารณาผลดีผลเสียของการทำข้าวถุงดังกล่าวอย่างรอบคอบ

“มิ่งขวัญ” ปฏิเสธถอดใจ

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ตนจะไม่พูดเรื่องมติที่ประชุมเป็นเรื่องของโฆษกรัฐบาลที่จะแถลง

นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า การที่เขาเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 21 ประเทศ (เอเปค) และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ที่มีนายสุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รมว.คลัง ที่กำกับดูแลธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) รับจำนำข้าวเปลือกนาปรังแทนองค์กรคลังสินค้า (อคส.) ที่ตนเองดูแลนั้นไม่ได้สร้างความน้อยใจและจะไม่ถอดใจลาออกจากตำแหน่ง

“เข้าใจว่าปัญหาเรื่องข้าวจะต้องแก้ไขโดยด่วน นายกรัฐมนตรี ก็ต้องเรียกรัฐมนตรีมาประชุม ตอนแรกเห็นว่าจะมีปัญหาเรื่องม็อบ ก็มีการแก้ไขตัดตอนปัญหา ผมก็เห็นว่า ดีแล้ว เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ”

เมื่อถามว่าการทำงานต่อไปจะเป็นอย่างไรเมื่อนายกฯและ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯพาณิชย์ อาจจะไม่สนับสนุนนโยบายแล้ว นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า ไม่เป็นไรเพราะปกติก็ทำงานเป็นทีมอยู่แล้วและนายกฯ ก็ได้ย้ำแล้วว่า เมื่อปัญหามาข้างหน้าก็ต้องแก้ เป็นการแก้ปัญหาให้ประเทศ

นายมิ่งขวัญ ไม่ได้ตอบคำถามชัดเจนว่าจะร่วมทำงานในโครงการจำนำข้าวกับกระทรวงการคลังหรือไม่ โดยกล่าวแต่เพียงว่า เข้าใจกันดีแล้ว ไม่มีอะไร ส่วนการดำเนินโครงการข้าวธงฟ้าและโครงการรับจำนำข้าว ทางทีมโฆษก จะเป็นผู้แถลงถึงการดำเนินการ

“เลี้ยบ” ร้อนตัวแจงไม่มีขัดแย้ง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติให้กระทรวงพาณิชย์ระงับการจำหน่ายข้าวถุงธงฟ้ามหาชนเป็นการชั่วคราว หลังจากที่ได้มีการประเมินสถานการณ์ราคาข้าวและผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาของโครงการดังกล่าว และเห็นว่า สถานการณ์ปริมาณและราคาข้าวที่เข้าสู่ตลาดเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนจะกลับมาจำหน่ายอีกครั้งเมื่อไรนั้นจะต้องพิจารณาสถานการณ์ให้เหมาะสมต่อไป

สำหรับโครงการจำนำข้าวนาปรังนั้น ที่ประชุมหารือด้วยบรรยากาศที่ดีและมีความเห็นร่วมกันที่จะเร่งให้เร็วที่สุดไม่เกินวันที่ 15 มิ.ย.นี้ โดย ธ.ก.ส.เตรียมเม็ดเงินไว้ 2 หมื่นล้านเพื่อรองรับการจำนำข้าวจำนวน 2 ล้านตัน และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติหลักการ และหากมีความเสียหายภาระใด ๆ เกิดขึ้นกับธ.ก.ส.รัฐบาลก็จะจัดสรรงบประมาณชเชยให้

“ไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งใด ๆ กับทางกระทรวงพาณิชย์ หรือคุณมิ่งขวัญ และเรื่องที่ธ.ก.ส. มาดำเนินการโครงการนั้นโดยไม่มีองค์การคลังสินค้า (อคส.)มาเข้าร่วมก็เพราะปัญหาภายในอคส.เองที่ไม่มีคณะกรรมการและไม่สามารถที่จะทำนิติตกรรมใด ๆ ได้ ซึ่งข้อนี้ทุกคนในที่ประชุมก็เข้าใจตรงกัน เพราะที่ผ่านมาอคส.ก็เคยได้รับจัดสรรเงินจำนวน 5 พันล้านบาทไปให้ใช้ในการจำนำแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องมาใช้ช่องทางนี้ ” น.พ.สุรพงษ์ กล่าว

ธ.ก.ส.พิจิตรหวั่นโคตรโกงคืนชีพ

นายธรรมนูญ เทศขำ ผู้อำนวยการธนาคาร ธ.ก.ส.พิจิตร เปิดเผยว่า โครงการรับจำนำข้าวที่จะมีขึ้น ขณะนี้จังหวัดพิจิตรได้ประสานงานกับชมรมโรงสีแล้ว โดยจะมีโรงสีเข้าร่วมโครงการได้เพียง 7-8 แห่งเท่านั้น ส่วนโรงสีอีก 20 กว่าแห่งถูกขึ้นแบล็กลิสต์ เนื่องจากมีประวัติทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา อีกทั้งคดีอยู่ในชั้นศาล

สำหรับกำหนดเวลารับจำนำข้าว ขึ้นอยู่กับมติครม. โดยขั้นตอนเกษตรกรที่จะนำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำต้องมีใบรับรองการเป็นเกษตรกร จากนั้นจึงนำข้าวเข้าส่งมอบให้กับโรงสีแล้วนำใบประทวนมาขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.รูปแบบคล้ายกับในอดีตที่ผ่านมา ในราคาตันละ 14,000 บาท ความชื้น 14.5 เปอร์เซ็นต์

นายธรรมนูญ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ค่อนข้างกังวลว่า ขบวนการทุจริตจะกลับมาอีก จึงฝากเตือนถึงชาวนา อย่าขายสิทธิ์ให้กับพ่อค้าคนกลางหรือร่วมกันทุจริต เพราะอดีตที่ผ่านมาจังหวัดพิจิตรมีการโกงข้าว ล่าสุดศาลจังหวัดพิจิตรได้สั่งจำคุกชาวนา 36 คนที่ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารราชการ ใช้เอกสารปลอมฉ้อโกงในโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 49 ความเสียหาย 17 ล้านบาท โดยให้จำคุกคนละ 4 เดือน 15 วันและให้ชดใช้คืนทรัพย์ที่ฉ้อโกงไป ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

ส่วนตัวการคือนายธรรมรัตน์ บุกบุญ ศาลได้สั่งจำคุกหลายกรรมร่วม 20 ปี โดยในคราวนั้นนายธรรมรัตน์ ซึ่งเป็นตัวการได้ไปขโมยใบประทวนจากโรงสีแห่งหนึ่ง แล้วจ้างชาวนาที่มีสิทธิ์เข้าโครงการรับจำนำ โดยไม่ต้องมีข้าวเปลือกแต่อย่างใด จากนั้นก็ทำเอกสารปลอมให้ชาวนาไปขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.สาขาโพธิ์ประทับช้าง แล้วแบ่งส่วนแบ่งให้ชาวนาตันละ 500 บาท แต่ในที่สุดก็ถูกดำเนินคดีและถูกศาลจำคุกดังกล่าว

สหกรณ์ขอร่วมวงทุกขั้นตอน

ด้าน นายสมเกียรติ โสภณพงศ์พิพัฒน์ ประธานชมรมสหกรณ์จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลเร่งประกาศมาตรการเรื่องการรับจำนำข้าวโดยประชุมรัฐมนตรี 11 กระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2551 ที่ผ่านมานั้นทางชมรมฯ มีความเห็นสอดคล้องกับกลุ่มเกษตรที่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ว่า มติที่ออกมาขาดความน่าเชื่อถือ มีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นเกมทางการเมืองเพื่อที่จะหยุดการชุมนุมของชาวนาทั่วประเทศมากกว่าการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำอย่างแท้จริง

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลมักใช้วิธีการทำให้ชาวนาคล้อยตาม และไม่เคยปฏิบัติได้จริงตามที่ประกาศไว้ อีกทั้งเมื่อมีการปฏิบัติตามนโยบายก็มักมีการโกงกินคอร์รัปชันในทุกระดับ จนทำให้ทุกวันนี้ชาวนาไม่มีความไว้วางใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำ ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกัน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบาย บรรดาผู้ส่งออกและโรงสีต่างยิ้มอย่างมีความสุข เพราะมีสต๊อกข้าวราคาต่ำกว่าราคารับจำนำอยู่ในมือพร้อมที่จะหาช่องทางนำเข้าจำนำในโครงการของรัฐครั้งนี้ทันที ขณะนี้ที่ทุกข์จะเกิดกับชาวนาอย่างแน่นอน

ดังนั้น ทางเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดพิจิตรจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.รัฐบาลจะต้องแสดงความจริงใจต่อโครงการรับจำนำข้าว โดยการให้สถาบันเกษตรกรเข้ามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น 2.รัฐบาลจะต้องประกาศนโยบายสนับสนุนด้านการเกษตรและสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรเป็นวาระเร่งด่วน และ 3.หากรัฐบาลไม่ดำเนินการ ทางเครือข่ายชาวนา และชุมนุมสหกรณ์ฯ จะเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล โดยใช้มาตรการทุกรูปแบบ รวมทั้งการชุมนุมคัดค้านจนถึงที่สุด

ม็อบทุกทิศเตรียมทัพเข้ากรุง

นายชรินทร์ ดวงดารา ประธานเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวยืนยันว่า เครือข่ายหนี้สินฯ ได้ประสานงานกันทั่วประเทศเตรียมพร้อมชุมนุมใหญ่ กลางกรุงเทพฯ ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้อย่างแน่นอน โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร เพราะหากยังแก้จุดนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะมีโครงการรับจำนำข้าวหรือโครงการต่างๆ ออกมา การช่วยเหลือนั้นก็ไม่ตกถึงมือชาวนา

นอกจากเครือข่ายหนี้สินฯ แล้ว ขณะนี้ยังมีม็อบเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งที่มายึดหน้าทำเนียบฯ ก่อนหน้านี้ 2 – 3 วันแล้ว คือ สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนอีสาน ที่มีนายประพาส โงกสูงเนิน เป็นประธานฯ โดยชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินและติดตามความคืบหน้าโครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ แต่ไม่ได้รับการสานต่อในรัฐบาลชุดนี้
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาต่างๆ ทั้งที่ค่าชดเชยที่ดินทำกินที่มาจากการสร้างเขื่อนลำปะทาว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งส่วนหนึ่งเข้ามาปักหนักหน้าทำเนียบฯ แล้ว และจะมีทยอยเข้ามาเพิ่มเติม รวมทั้งกลุ่มที่เดือดร้อนจากโครงการเหมืองโปแตช ทั้งจากชัยภูมิและอุดรธานี

“หมัก” รับจำนำกุ้ง 300 ล. สกัดม็อบ

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ( คชก.) โดยมีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้มีมติให้องค์การคลังสินค้า ( อคส..) รับจำนำกุ้ง 1 หมื่นตัน ในราคาขั้นต่ำ 120 บาทต่อกิโลกรัม แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของกุ้ง ใช้เวลาในการดำเนินการเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ มิ.ย. - ต.ค.ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการนี้ประมาณ 300 ล้านบาท ในขณะที่เงินหมุนเวียนในกองทุน คชก.มีอยู่ประมาณ 700 กว่าล้านบาท

ทั้งนี้ ที่จังหวัดสงขลา มีการรวมตัวของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง 8 จังหวัดภาคใต้ กว่า 1,000 คนปิดถนนประท้วงและเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือราคากุ้งที่กำลังตกต่ำ ห้ามการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ ช่วยเหลือน้ำมันดีเซลราคาต่ำแก่เกษตรกรรายย่อย หากทางรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆปิดถนนจนกว่ารัฐบาลจะมีมาตรการแก้ไขปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น