xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงสงขลาเปิดศึกชิงทรัพยากร เบรกทุน“เคย์แมน”เจาะน้ำมันอ่าวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจริญ ทองมา ประธานกลุ่มประมงชายฝั่ง 3 อำเภอ จ.สงขลา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ –สัมปทานขุดเจาะน้ำมันอ่าวไทยอีกมรดกรัฐบาล “ทักษิณ” กำลังสำแดงฤทธิ์ ประมงพื้นบ้านชายฝั่ง 3 อำเภอใน จ.สงขลา ต้านการเข้ามาขุดเจาะน้ำมันแหล่งสงขลาอ่าวไทยของ บริษัทนิวคอสตอลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจากเกาะเคย์แมน ฉุนนายทุนเมินวิถีชีวิตชาวบ้านจ่ายค่าชดเชยพี่น้องชาวประมงเพียง 1.1 ล้านบาท/ปี ต่างจากความเป็นจริงลิบลับ ซึ่งเฉพาะประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ ระบุเสียโอกาสหาทำประมงต่อปีร่วม 161 ล้านบาท และหวั่นผลกระทบระหว่างการขุดเจาะน้ำมันจะทำให้ทรัพยากรทะเลเสียหายต่อเนื่องถึงอนาคต จี้เปิดเผยข้อมูลแท้จริงรอบด้านให้ชาวบ้านรู้

จากกรณีที่บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข G5/43 เพื่อขุดเจาะและผลิตน้ำมันในอ่าวไทยซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งจังหวัดสงขลา 30 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 7 องศา 31 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 100 องศา 42 ลิปดาตะวันออก โดยได้มอบหมายให้บริษัท อีอาร์เอ็ม สยาม จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ชี้แจงต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลและแก้ไขรายงานเพิ่มเติม เพื่อชี้แจงต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากที่คณะกรรมการมีมติไม่เห็นชอบและให้เสนอข้อมูลเพิ่มเติมในหลายประเด็น

ในขณะเดียวกันก็มีการจัดเวทีประชุม และทำความเข้าใจกับตัวแทนชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550-พฤษภาคม 2551 รวม 6 ครั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถหาข้อยุติถึงการชดเชยกลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้านใน 3 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.ระโนด, สทิงพระ และสิงหนคร ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเข้ามาขุดเจาะน้ำมันบริเวณเดียวกันกับพื้นที่ทำประมงของชาวบ้าน ขณะที่แผนการผลิตปิโตรเลียมของบริษัทจะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว

นายเจริญ ทองมา ประธานกลุ่มประมงชายฝั่ง 3 อำเภอ จ.สงขลา เปิดเผยว่า การได้รับสัมปทานเข้ามาขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบของบริษัทนิวคอสตอลฯ ที่ผ่านมาได้มีการประชุมตัวแทนชาวบ้านและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาหลายครั้งแล้ว แต่การมีส่วนรับรู้ของชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้น้อยมาก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบและไม่ได้มีการลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้านโดยตรง

เมื่อทราบว่าจะมีการขุดเจาะน้ำมันห่างจากฝั่งเพียง 30 กิโลเมตรก็ยิ่งสร้างความวิตกกังวลถึงผลกระทบต่ออาชีพสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ทำประมงของชาวบ้านในแถบนั้นตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ และปัจจุบันยังคงมีปลาชุกชุมคุ้มค่าต่อการลงทุนแม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นแตะ 40 บาท/ลิตรแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้จัดประชุมชี้แจงให้แก่พี่น้องชาวประมงถึงข้อมูลที่เคยร่วมเข้าประชุมกับบริษัทนิวคอสตอลฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเด็นที่บริษัทได้เสนอจ่ายค่าชดเชยจากการทำประมงฐานละ 1,100,000 บาท/ปี ตลอดเวลา 3 ปี ที่บริษัทนิวคอสตอลฯ ได้รับสัมปทาน ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อการชดเชยความเสียหายของกลุ่มประมง ที่เดือดร้อนทั้งระบบราว 6,000 คน มีเรือประมาณ 2,000 ลำ

“บริษัทอ้างว่าไม่สามารถเพิ่มเงินชดเชยได้มากกว่านี้แล้ว เพราะไม่คุ้มทุน ซึ่งเขาจ่ายค่าภาษีให้แก่รัฐไปปีละ 200 ล้านบาท และจะให้ชาวประมงไปเรียกร้องต่อภาครัฐเอง แต่สิ่งที่ชาวบ้านกังวลคือการไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด และยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วสัมปทานของเขา 3 ปีหรือมากกว่านั้น เพราะบางเวทีที่ชี้แจงก็บอกว่า 5 ปี” นายเจริญ กล่าวต่อและว่า

ปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านใน 3 อำเภอมีทั้งหมด 1,365 ลำ แยกเป็นเรือขนาดใหญ่ 1,165 ลำ มีรายได้ประมาณ 700 บาท/วัน และเรือขนาดเล็ก 200 ลำ มีรายได้ประมาณ 400 บาท/วัน โดยสามารถทำการประมงได้ 6 เดือนต่อปี รวมเป็นค่าชดเชยประมาณ 161,190,000 ล้านบาท ขณะที่ชาวประมงอวนลากซึ่งหาปลาตลอด 24 ชั่วโมงก็ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนค่าชดเชย ซึ่งปัจจุบันเรือแต่ละลำมีรายได้ราว 1,500 บาท/วันอีกด้วย

ส่วนนายบุญช่วย ฟองเจริญ ประธานกลุ่มประมงอวนลาก อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผยว่า การเข้ามาขุดเจาะน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างใหญ่หลวง เพราะทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศและดูดอวนของชาวประมง ให้เข้าไปติดในพื้นที่ทำงานของการขุดเจาะน้ำมัน จึงต้องขยับห่างไปอีกมาก เพื่อป้องกันอวนถูกดูดไปติดเครื่องจักรอีก และยังไม่รู้ว่าทรัพยากรใต้ทะเลจะเสียหายจากการขุดเจาะน้ำมันมากน้อยเพียงไร เพราะมีการการตั้งฐานขุดเจาะน้ำมัน จากผิวใต้ทะเลลึก 3 เมตร จำนวน 2 ฐาน ห่างจากชายฝั่ง 30 กิโลเมตร ระยะห่างแต่ละฐานประมาณ 15 กิโลเมตร แม้ว่าจะมีการอ้างว่าสูญเสียพื้นที่ประมงไม่เกิน 2 ตารางกิโลเมตร แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากกว่านั้นอย่างแน่นอน

“คุณภาพชีวิตของชาวบ้านจะดีขึ้นได้ไม่ใช่เพราะสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ที่มาจากบริษัทนายทุนน้ำมันจ่ายให้รัฐ แล้วมาสร้างสิ่งเหล่านี้ให้แก่พวกเรา แต่ชาวบ้านจะอยู่ดีกินดีได้ ก็เพราะมีอาชีพที่ยั่งยืนและไม่เป็นภาระให้แก่ใครเท่านั้น เพราะแค่ชาวประมงทำงานเดือนละ 20 วัน รายได้ต่อปีก็ตกแสนบาทแล้ว แล้วบริษัทนายทุนน้ำมัน เขาจะเอาที่ทำกินไปจ่ายเงินชดเชยเพียงล้านกว่าบาทต่อปี แสดงว่าบริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านเลย ” นายบุญช่วยกล่าวต่อและว่า

นอกจากการเปิดเผยข้อมูลของการขุดเจาะ ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว จะต้องให้วิถีชีวิตของชุมชนที่มีมาก่อนอยู่ได้ด้วย หรือได้รับเงินชดเชยที่เหมาะสมกับความเป็นจริง ซึ่งหากยังตกลงกันไม่ได้เช่นนี้ ชาวประมงก็จะรวมตัวไม่ให้บริษัทนิวคอสตอลฯ ทำการใดๆ กับอ่าวไทย จนกว่าจะตกลงกับชาวประมงได้พร้อมกับพึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม นอกจากผลกระทบที่มีโดยตรงต่อชาวประมงแล้ว ก็ยังมีความกังวลต่อกลุ่มฟาร์มเพาะ ฟาร์มเลี้ยงกุ้งเป็นจำนวนมากใน อ.ระโนด และสทิงพระ ซึ่งผันน้ำจากทะเลมาใช้อีกด้วย รวมถึงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นจุดวางปะการังเทียมระหว่างบ้านสนามชัย-บ้านกระดังงา ต.สนามชัย อ.สทิงพระ ซึ่งมีพื้นที่ 1.2 กิโลเมตร

ด้านนายสุวิทย์ พัชรพร มวลชนสัมพันธ์ บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับแท่นผลิตที่จะใช้ขุดเจาะน้ำมันในแหล่งสงขลาเป็นแท่นคู่มีสะพานเชื่อมต่อกัน มีเรือบรรทุกน้ำมันทอดสมอห่างแท่น 700 เมตร มีทุ่นลอยเตือนเขตอันตราย เนื่องจากการทำงานขุดเจาะล้อมรอบบริเวณแท่นและเรือในระยะ 500 เมตร รวมพื้นที่ทางทะเลที่สงวนไว้เพื่อการทำงาน 1.8 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

สำหรับเรื่องการจ่ายค่าชดเชย ได้มีการศึกษาข้อมูลจากกรมประมงก่อนที่จะประมาณการค่าชดเชยให้แก่ชาวประมง โดยอ้างอิงปริมาณปลาที่จับได้แต่ละปี ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีผลผลิตปีละ 220,000 บาท และใช้อิงราคาปลาในช่วงที่สูงสุด อันเป็นที่มาของเงินชดเชยกลุ่มชาวประมง 1.1 ล้านบาท/ปี ขณะที่บริษัทต้องใช้เงินทุนร่วมพันล้านบาท ในการดำเนินการขุดเจาะและผลิตน้ำมัน ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีรายได้ใดๆ

“แม้บริษัทสามารถขุดเจาะน้ำมันได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะผลิตได้ และการดำเนินงานของบริษัทยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะเริ่มวันไหน ต้องรอความพร้อมจากฝ่ายอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมทำงานด้วย แต่ก็จะมีการดำเนินงานอย่างแน่นอน เพราะได้รับสัมปทานมาอย่างถูกต้อง ซึ่งต้องขุดเจาะและผลิตน้ำมันให้ได้ตามข้อผูกพันกับรัฐ โดยเมื่อผลิตน้ำมันได้แล้วก็จะจ่ายค่าภาคหลวงให้ จ.สงขลา โดยประเมินจากหลุมผลิตว่าน่าจะประมาณปีละ 200 ล้านบาท”นายสุวิทย์กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ แผนดำเนินงานเดิมของบริษัท นิวคอสตอลฯ จะเริ่มติดตั้งแท่นหลุมผลิต และแท่นผลิต ในระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2551 การผลิตปิโตรเลียมจะเริ่มเดือนมิถุนายน 2551 เป็นต้นไป และต่อเนื่องไปจนหมดอายุของแหล่งปิโตรเลียมในปี 2554 (รวมระยะเวลา 3 ปี) การผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่ผลิตแหล่งสงขลา คาดว่าจะผลิตน้ำมันได้ประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรล/ปี กำลังผลิตสูงสุดที่อัตรา 5,000 บาร์เรล/วัน การผลิตปิโตรเลียมของโครงการจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศได้ถึงร้อยละ 2.9

สำหรับที่มาของสัมปทานของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด นั้น เป็น 1 ใน 7 บริษัทที่ได้รับสัมปทานในสมัยนายแพนท์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นการให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จากอดีตที่มีการอนุมัติทีละรายเท่านั้น

บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทต่างชาติ จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท คอสตอล เอเนอร์จี (ชื่อเดิมคือบริษัท PetroWorld corporation จดทะเบียนตั้งตามกฎหมายของเกาะเคย์แมน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 ทุนจดทะเบียน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ดำเนินกิจการด้านบริหาร และจัดการเพื่อสำรวจ พัฒนาและผลิตน้ำมันและก๊าซ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Coastal Energy Company เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547) มีสำนักงานในลอนดอน และฮูสตัน สำนักงานของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และมีโกดังและสำนักงานย่อยในจังหวัดสงขลา โดยเปิดสำนักงานสาขาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น