xs
xsm
sm
md
lg

คตส.ส่งสำนวนถึงอัยการ ยึดทรัพย์แม้ว-อ้อ7หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (29 พ.ค.) นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)ได้นำสำนวนการไต่สวนของ คตส.และพยานเอกสารหลักฐานรวม 7 ลัง จำนวน 43 แฟ้ม พร้อมความเห็นชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่ำรวยผิดปกติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.80 ขอให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด พิจารณาเพื่อมีคำสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ยึดทรัพย์สิน จำนวน 76,621,603,061 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน โดยมีนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ในฐานะคณะทำงานพิจารณาคดี คตส.เป็นผู้รับมอบ
นายแก้วสรร กล่าวว่า จากการไต่สวนของ คตส. มีมติในที่สุดพยานหลักฐาน มีมูลเพียงพอที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ยังคงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯและช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาตรการเอื้อประโยชน์ธุรกิจชินคอร์ปฯรวม 6 มาตรการ ทั้งเรื่องดาวเทียม ,โทรศัพท์เคลื่อนที่ (ROAMING),ภาษีสรรพสามิต , PREPAID CARD, ซุกหุ้นชินคอร์ปฯ และการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงค์ ซึ่ง คตส.เห็นว่าทั้งหมดทำให้เกิดทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ โดยมูลค่าความมั่งคั่งของทรัพย์สินที่เกิดขึ้นได้มาโดยไม่ปกติ แต่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐไปเอื้อประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่ง คตส.เห็นว่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นไปโดยไม่สมควร นอกจากนี้ยังเห็นว่า การปฎิบัติหน้าที่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เกี่ยวข้องกับ 6 มาตรการที่เอื้อประโยชน์โดยมีอยู่ 2 กรณีที่ คตส.ตรวจพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้สั่งการโดยตรง คือ กรณีภาษีสรรพสามิต และเอ็กซิมแบงค์ ส่วนอีก 4 กรณี ไม่มีหลักฐานไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ แต่มีความน่าสงสัยอยู่หลายประการ
นายแก้วสรร กล่าวว่า ส่วนที่มีข้อโต้แย้งมาตลอดว่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีมาก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่ได้มีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกตินั้น คตส.ขอชี้แจงว่า พฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มีอยู่ 2 ชนิด ชนิดที่ดูฐานะแล้วสงสัยว่าได้ทรัพย์สินมาจากไหน กับชนิดที่เห็นและระบุเลยว่ามีการได้ทรัพย์สินใดมาโดยไม่สมควร ซึ่งชนิดหลังก็คือข้อกล่าวหาในคดีนี้ โดยความมั่งของบริษัทชินคอร์ปฯ ที่เพิ่มขึ้นมหาศาลจากมาตรการเอื้อประโยชน์โดยมิชอบของรัฐ ได้ตกแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นเจ้าของกิจการถือมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นความร่ำรวยผิดปกติ โดยมีหุ้นชินฯที่ถืออยู่ก่อนเป็นนายกฯจำนวน 49.6 เปอร์เซ็นต์ เป็นทรัพย์สินที่เกียว
“เหตุที่เราถือว่า 6 มาตรการที่เป็นการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ธุรกิจเพราะว่า เราถือว่าไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเข้ามาเพื่อดูแลประโยชน์สาธารณะจะเข้ามาเอาประโยชน์ใส่ตนไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 บัญญัติว่า ใครที่เป็นรัฐมนตรีถือหุ้นสัมปทานไม่ได้ และบริษัทของเขาจะไปมีสัญญากับรัฐก็ไม่ได้ เพราะเป็นวินัยนักการเมือง เปรียบเหมือนเป็นพระห้ามยุ่งกับสีกา ห้ามผิดศีลกาเมฯ ดังนั้นเมื่อนักการเมืองคนหนึ่งฝ่าฝืนซุกหุ้นจึงไม่ต้องเถียง เลิกพูด ถ้าคุณฝ่าฝืนซุกหุ้นแล้วเกิดมาตรการเอื้อประโยชน์ในยุคคุณ ผมต้องถือว่าคุณร่ำรวยผิดปกติ”
นายแก้วสรร กล่าวยืนยันว่า การไต่สวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯที่มีอยู่แล้ว คณะรัฐประหารไม่ได้สร้างอำนาจพิเศษ หรือความผิดพิเศษขึ้นมา ถึงแม้ไม่ได้มีคณะรัฐประหารความผิดนี้ก็มีอยู่แล้ว คตส.เป็นเพียงผู้ไต่สวนและส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ให้พิพากษายึดทรัพย์ จำนวน 76,621,603,061 บาท แต่เนื่องจาก กลัวว่าจะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน คตส.จึงได้อายัดทรัพย์ไว้แล้วส่วนหนึ่งจำนวน 62,000 ล้านบาท ซึ่งการยื่นฟ้องจะมีคำขอให้ศาล ยึดอายัดทรัพย์จำนวนดังกล่าวไว้ก่อน และถ้าศาลมีคำพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ สั่งให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ก็จะยึดทรัพย์สินก้อนนี้ก่อน ส่วนจำนวนเงินที่ยังขาดอีก 14,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ให้ศาลมีอำนาจสั่งยึดทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะได้ครบตามจำนวน ซึ่งจะเห็นได้ว่าทรัพย์สินที่ คตส. ร้องขอให้ยึดทรัพย์เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ไม่ได้เป็นบ้านพัก หรือหุ้น ไม่ได้อายัดมั่วเหมือนยุค รสช.ที่ยึดเกลี้ยงหมด
อย่างไรก็ดีอัยการมีเวลาสั่งคดี 30 วัน ซึ่งหากเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ แล้วต้องตั้งคณะทำงานร่วม แล้วตกลงกันไม่ได้ ในช่วงที่ คตส. จะหมดอายุภายในสิ้นเดือนมิถุนายน นี้ แต่ก็ยังมี ป.ป.ช. ปฎิบัติหน้าที่ยื่นฟ้องคดีเองได้
“เป็นห่วงว่าอัยการจะตรวจเอกสารไม่ทัน เพราะแต่ละคดีมีเอกสารจำนวนมาก ล่าสุด คตส.ก็พึ่งจะส่งสำนวนคดีซีทีเอ็กซ์ วันนี้คดียึดทรัพย์ สัปดาห์หน้าคดีธนาคารกรุงไทย สัปดาห์ต่อไปคดีบ้านเอื้ออาทร และคดีท่อร้อยสาย คดีแรกคดีที่ดินรัชดาภิเษก อัยการกับคตส.ทำงานร่วมกันดี มีการขอคณะทำงาน คตส.ไปช่วยชี้แจงเอกสาร แต่ช่วงหลังๆ แต่ตั้งแต่มีรองอัยการสูงสุดคนใหม่เข้ามาดูแล ไม่เคยขอคณะทำงานไปช่วย งานเลยสะดุด แต่วันนี้ได้เรียนนายเศกสรรค์ แล้ว เดือนเดียวเจอหลายคดี ถ้าผมเป็นอัยการก็ทำไม่ทัน ถ้าหากอัยการจะขอคณะทำงาน คตส.ให้ไปช่วยชี้แจงเอกสาร ก็ให้ติดต่อมาที่ผมๆจะรับหน้าที่ประสานงานให้ทุกคดี และเชื่อว่าถ้าอัยการและคตส.ร่วมมือกันศึกษารูปคดี ก็เชื่อว่าจะมีข้อยุติที่ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะรักหรือเกลียด พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ขอให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำงาน ถ้าผิดหรือไม่ผิดก็ต้องยอมรับ อย่าเอาไปเป็นความขัดแย้งทางการเมือง”
นายเศกสรรค์ กล่าวว่า เมื่อได้รับสำนวนการไต่สวนแล้ว จะรายงานให้อัยการสูงสุดทราบ และคณะทำงานที่ได้รับแต่งตั้งจากอัยการสูงสุดจะทำหน้าที่พิจารณา ซึ่งคณะทำงานจะทำในมาตรฐานเดียวกัน พิจารณาตามพยานหลักฐานที่ คตส. ส่งมาให้ ทั้งนี้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดยินดีให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ คตส. เพราะเป็นหน่วยงานราชการด้วยกัน และขอบคุณ คตส.ที่จะส่งเจ้าหน้าที่ มาช่วยชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับสำนวนคดีต่างๆ อัยการจะพยายามพิจารณาสำนวน อย่างเต็มที่ด้วยความรวดเร็วที่สุด
“ขอยืนยันว่าอัยการมีคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีของ คตส.ที่ส่งมา ทุกคดีอย่างเพียงพอ โดยแต่ละคณะทำงานจะมีอัยการถึง 12 คน ไม่รู้สึกกดดันหรือท้อถ้อย อัยการจะพิจารณาสำนวนทุกคดีด้วยความเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตามพยานหลักฐานการไต่สวนที่ คตส.ส่งมา จะพิจารณาอย่างละเอียดรอบครอบ ขอบคุณ คตส.ที่เป็นห่วงว่าอัยการจะเหนื่อย แต่เราถือว่าต้องปฎิบัติตามหน้าที่ราชการ อัยการจะทำให้ดีที่สุด ให้ความเป็นธรรม โดยไม่หวั่นเกรงหรืออยู่ภายใต้การบีบบังคับของอำนาจใดสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น”
อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษกล่าวและว่า อัยการได้ขอสำเนาการไต่สวนจาก คตส.อีกหนึ่งชุดเพื่อให้คณะทำงานพิจารณา ซึ่ง คตส.แจ้งว่าจะจัดส่งให้ตามที่ร้องขอ และคณะทำงานจะประชุมพิจารณาสำนวนอย่างเร็วที่สุด คือวันที่ 3 มิถุนายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น