xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันแพงตัวการสำคัญทำไทยขาดดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายๆ คนคงตกใจกับการพาดหัวข่าวในช่วงไม่กี่วันมานี้ว่า ไทยขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 12 ปีบ้าง พิษน้ำมันแพงทำไทยขาดดุลการค้าบ้าง การส่งออกโตน้อยกว่าการนำเข้าบ้าง ซึ่งหากไม่ดูรายละเอียดให้ชัดเจน ก็อาจจะตกใจว่าประเทศไทยกำลังเกิดอะไรขึ้น ทำไมไทยถึงได้ขาดดุลการค้ามากมายเช่นนี้ แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรกับไทยหรือไม่
จากคำถามดังกล่าว หากเจาะลึกลงไป ก็มีคำตอบที่ดูไม่น่าจะตกอกตกใจอะไรเลย เพราะการขาดดุลการค้าที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่า 1,807.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มาจากการที่ไทยต้องเสียเงินนำเข้าน้ำมันเข้ามาใช้ในประเทศล้วนๆ โดยการนำเข้าน้ำมันในเดือนเม.ย.นี้ มีมูลค่า 2,760 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 82.85% หรือมูลค่าเพิ่มขึ้น 1,713 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับการนำเข้าน้ำมันในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน ยังมีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในส่วนของทองคำ โดยมีมูลค่า 536 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆ ที่เดือนเม.ย.ปีก่อนนำเข้าแค่ 75 ล้านเหรียญสหรัฐ เดือนนี้จึงนำเข้าเพิ่ม 462 ล้านเหรียญสหรัฐ
รวมแค่รายการน้ำมันกับทองคำ มูลค่ารวมก็ 2,175 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปแล้ว ถ้า 2 รายการนี้ไม่เพิ่มขนาดนี้ เดือนนี้ไทยก็คงไม่ขาดดุลการค้าอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าในส่วนอื่นๆ ก็มีการเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าไทยในอนาคต โดยสินค้าทุน ก็มีการนำเข้ามูลค่า 3,577 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 251% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 6,576 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 43.3% ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่า 1,298 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 42% ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง มูลค่า 465 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.1%
พ้นจากเรื่องน่าเป็นห่วงไปแล้ว ลองมาดูด้านการส่งออกที่ถือเป็นภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์กันบ้างว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน
ในเดือนเม.ย. ไทยส่งออกได้เป็นมูลค่า 13,765.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.96% ยังคงเป็นการส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงต้นปี แม้ว่ามูลค่าจะไม่ทำสถิติสูงสุดเหมือนในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แต่อัตราการขยายตัวยังอยู่ในตัวเลข 2 หลัก โดยเดือนม.ค.ส่งออกมูลค่า 13,959.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 33.27% ก.พ. มูลค่า 12,991.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.37% และมี.ค. มูลค่า 14,764.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.41%
จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น 44.4% สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว มูลค่าเพิ่มขึ้น 137.6% ยางพารา 32.5% มันสำปะหลัง 41.3% อาหาร 39.1%
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ส่งออกเพิ่มขึ้น 20.5% สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มเกิน 15% เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ สิ่งทอ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้เดินทาง เครื่องหนัง สิ่งพิมพ์และกระดาษ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เภสัช เครื่องมือแพทย์ ของเล่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เลนซ์ อาหารสัตว์เลี้ยง นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกม
สำหรับตลาดส่งออก ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดใหม่ขยายตัวสูงถึง 31.1% ตลาดส่งออกที่ขยายตัว เช่น แอฟริกา 65.7% อินโดจีนและพม่า 68.1% ฮ่องกง 26.4% จีน 32.5% ลาตินอเมริกา 45.5% ยุโรปตะวันออก 31.9% และอินเดีย 40.7% ส่วนตลาดหลัก ขยายตัว 23.5% ตลาดสำคัญ เช่น อาเซียน (5) เพิ่มขึ้น 32.9% สหภาพยุโรป (15) เพิ่มขึ้น 15.8% สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 13.9% และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 29.1%
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า การส่งออกของไทยยังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าเกษตรถือเป็นสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ก็ส่งออกเพิ่มขึ้นแทบทุกรายการสินค้า แสดงให้เห็นว่าต่างประเทศยังคงต้องการสินค้าไทย ที่สำคัญ ตลาดส่งออกอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่คาดกันว่าจะชะลอตัวลง ก็กลับมียอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นแนวโน้มที่ดี
“จากตัวเลขการส่งออกรวมในช่วง 4 เดือนแรก ไทยส่งออกได้แล้วมูลค่า 55,481.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.2% ทำให้มั่นใจได้ว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ไทยจะส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายคือ 12.5% มูลค่า 1.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐอย่างแน่นอน และน่าจะทำตามเป้าทำงานที่ 15% ได้ไม่ยาก เพราะจากการดูแนวโน้มสินค้านำเข้า นอกเหนือจากน้ำมันแล้ว เป็นการนำเข้าที่จะส่งผลดีต่อการส่งออก ทั้งสินค้าทุน และวัตถุดิบ ขณะที่กรมฯ จะมีมาตรการกระตุ้นการส่งออกอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง”นายราเชนทร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ถ้าไทยไม่เจอวิกฤตน้ำมันแพง ตัวเลขดุลการค้าคงจะออกมาสวยกว่านี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสิ่งที่ทำได้ ก็คือ คนไทยต้องช่วยกันประหยัด เพื่อที่จะได้นำเข้าน้ำมันลดน้อยลง ส่วนในภาคการส่งออก หากไม่มีวิกฤตอะไรมาฉุด ปีนี้การส่งออกจะเป็นพระเอกสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยต่อไปอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น