โดย ศ.ระพี สาคริก
เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชนซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา โดยที่ขณะนี้มีความรุนแรงที่บานปลายออกไปจนกระทั่งอาจทำให้คน
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ฉันนึกถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 ที่ถนนราชดำเนินจนถึงขั้นต้องเสียเลือดเนื้อกันอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงเท่านั้นยังมีอาคารสถานที่ถูกเผาไฟลุกโชติช่วงหลายหลังเช่น กรมประชาสัมพันธ์และอื่นๆ ที่อยู่บนถนนราชดำเนิน
เรื่องนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้มันทำให้ฉันนึกถึงเหตุการณ์เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ซึ่งชีวิตฉันเองมีส่วนร่วมเข้าไปเกี่ยวข้องแม้จะไม่ได้ออกไปอยู่บนถนนราชดำเนิน แต่ก็อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นในหลายกรณี
ช่วงนั้นฉันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เนื่องจากอธิการบดีเสด็จไปอยู่ต่างประเทศฉันจึงต้องรักษาการณ์ทำให้ตัดสินใจในหลายๆ เรื่องได้อย่างอิสระ ซึ่งอาจมีผลขัดแย้งกับคณาจารย์ ผู้บริหารอื่นๆในมหาวิทยาลัยแม้แต่รองอธิการบดีฝ่ายนิสิต แต่ก็ทำให้นิสิตเกษตรทุกคนยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างสง่างามและได้รับความชื่นชมจากมวลชนอย่างกว้างขวาง
วันนั้นฉันยืนอยู่ด้านหน้าของนิสิตทุกคนอย่างมั่นคงตลอดเวลา คืนวันนั้นฉันสั่งให้ดับไฟมืดในมหาวิทยาลัยทั้งหมดแล้วบอกกับนิสิตว่า “ถ้ามีทหารบุกเข้ามาให้พามาหาคุณพ่อ คุณพ่อจะยืนอยู่ข้างหน้านิสิตทุกคนอย่างไม่หวั่นไหว” คืนวันนั้นหลังจากง่วงนอนแล้วฉันก็นอนหลับอยู่บนเบาะยูโด จนกระทั่งนิสิตต้องมาเอาตัวไปนอนที่หอพักโดยไม่รู้ว่าประตูห้องที่ฉันนอนนั้นนิสิตเอากุญแจมาล็อกไว้ด้านนอกโดยให้เหตุผลว่า กลัวทหารจะมาจับตัวเอาไป ความจริงเรื่องราวในวันนั้นมันยังมีอีกยาวมากแต่ฉันก็แก้ปัญหาให้ทุกคนเดินทางไปอยู่ที่ถนนราชดำเนินแล้วกลับด้วยความปลอดภัย ประจักษ์พยานเรื่องนี้มีคนหนึ่งที่สามารถนำมาเล่าได้ นั่นก็คืออาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นอธิการบดีของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อีกคนหนึ่งคืออาจารย์ธีรยุทธ บุญมีซึ่งก่อนหน้าเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่กี่วันได้ไปพูดบนเวทีหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีฉันนั่งฟังอยู่ข้างหลังเพียงคนเดียว ส่วนผู้บริหารมหาวิทยาลัยคนอื่นๆ ไม่กล้าที่จะเข้าไปอยู่ในที่นั้นด้วย ซึ่งฉันคิดว่าผู้บริหารเหล่านี้มองอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีว่าไปปลุกระดม ทำให้พวกเขากลัวอำนาจจากเบื้องบน ไม่เพียงเท่านั้นการกระทำของฉันขณะนั้นเป็นลักษณะหนึ่งซึ่งทำให้ผู้บริหารคนอื่นๆ มองว่าฉันเป็นคนให้ท้ายเด็ก ขณะนั้นผู้บริหารกลุ่มดังกล่าวเกรงอำนาจเบื้องบนเอามากๆ อาจเป็นเพราะความไม่บริสุทธิ์ใจในการทำงานให้กับประเทศชาติก็เป็นได้
อีกกรณีหนึ่งน่าจะได้แก่การจัดตั้งมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งมีอาจารย์โคทม อารียาเป็นแรงสำคัญซึ่งผู้นี้ได้มาเลือกให้ฉันเป็นประธานและมีคุณสุวัฒน์ วรดิลกเป็นรองประธานเพื่อปูพื้นฐานให้กับมูลนิธิจนกระทั่งสามารถสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่สี่แยกคอกวัวได้สำเร็จ ดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้
ถ้าใครจะว่าฉันเป็นคน 14 ตุลาหรือไม่ใช่ก็สุดแล้วแต่ แต่ตัวเองไม่เคยคิดว่าจะนำเอาเรื่องนี้มาอ้างเพื่อประกาศตัวให้ใครรู้ คงมีแต่ความรู้สึกเจียมเนื้อเจียมตัวและมีจิตสำนึกรับผิดชอบที่จะทำงานสนองบุญคุณให้แก่แผ่นดินถิ่นเกิดของตัวเองอย่างมั่นคงเท่านั้น
ช่วงหลังๆ ฉันมักได้ยินคนพูดกันว่าคนนั้นเป็นคน 14 ตุลา คนโน้นเป็น 14 ตุลา นอกจากนั้นยังมีหลายคนสะท้อนพฤติกรรมแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมค่อนข้างรุนแรงให้คนเชื่อถืออีกด้วย
มาถึงช่วงนี้ฉันได้ทราบเบื้องหลังของคนที่เคยอ้างว่าตัวเองเป็น 14 ตุลา หรือไม่ก็เคยแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงเพื่อสร้างภาพความรับผิดชอบต่อสังคมไทยให้คนทั่วไปได้เห็น ข้อมูลที่ฉันได้รับรายงานมาในขณะนี้เป็นที่เชื่อถือได้ว่าน่าจะเป็นความจริง
เพราะคนกลุ่มดังกล่าวหลายคนหลังจากถูกอิทธิพลผลประโยชน์ทางการเงินซื้อตัวเอาไปอย่างไม่น่าเชื่อจนกระทั่งไม่อาจทนอยู่ได้ ได้กลายเป็นคนอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้นเหตุการณ์ครั้งนี้จึงหาหน้าคนที่เคยแสดงตนว่าเป็น 14 ตุลาได้น้อยที่สุด
ทำให้ฉันต้องตั้งคำถามขึ้นมาถามตัวเองว่า “แล้วประชาชนซึ่งเป็นคนที่มีความเป็นไทแก่ตนเองและห่วงชาติบ้านเมืองจะเอาความหวังไปฝากไว้กับใคร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราชอบพูดว่า ขอให้เอาความหวังไปฝากไว้กับชนรุ่นหลัง สำหรับตัวฉันเองซึ่งมีอายุ ๘๖ ปีแล้ว แท้จริงมันก็เป็นคนแก่คนหนึ่งซึ่งไม่ช้าก็ตายไป แต่คนแก่คนนี้ก็ยังทุ่มตัวทำงานอย่างเต็มที่และใช้โอกาสมองหาคนที่เป็นความหวังสำหรับอนาคตของชาติบ้านเมืองเหมือนกับทุกคน
จึงฝากข้อเขียนบทนี้เอาไว้แก่ทุกคนได้นำไปคิดกันเอาเองว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้วจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีกสักกี่ครั้งเพื่อใช้หนี้กรรมซึ่งคนแต่ก่อนกลุ่มหนึ่งได้สร้างเอาไว้ให้ลูกหลาน
27 พฤษภาคม 2551