ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทอท.เตรียมทุ่มอีก 5,000 ล้าน พัฒนาท่าอากาศภูเก็ตรองรับผู้โดยสาร 11.5 ล้านคนต่อปีในปี 2559 หลังจากปัจจุบันใกล้จะเต็มขีดความสามารถที่มีอยู่ เพื่อรองรับการเติบโตทางการท่องเที่ยวของภูเก็ต
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ว่า จากสถิติปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานภูเก็ตในระยะที่ผ่านมา มีปริมาณการจราจรทางอากาศที่เติบโตอยู่ในระดับสูงอย่างรวดเร็วมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2550 มีเที่ยวบินรวม 38,368 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึงร้อยละ 32.3 สำหรับผู้โดยสารรวมมีถึง 5.47 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากเที่ยวบินของสายการบินราคาประหยัด
สำหรับปี 2551 จะมีเที่ยวบินประมาณ 41,000 เที่ยวบิน เติบโตจากปีงบประมาณ 2550 ร้อยละ 7 มีผู้โดยสารรวมประมาณ 6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5
นายทรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่ผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตเติบโตอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดไป จึงจำเป็นต้องเตรียมการจัดทำแนวทางการพัฒนาท่าฯภูเก็ตระยะยาวปีงบประมาณ 2552-2554 ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของท่าฯภูเก็ต เนื่องจากท่าฯภูเก็ตในขณะนี้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 6 ล้านคน
ทั้งนี้ จะพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 11.5 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 6 ล้านคน ผู้โดยสารภายในประเทศ 5.5 ล้านคนต่อปี ซึ่งคาดว่าจะรองรับได้จนถึงปี 2549 และคาดว่าจะพัฒนาเต็มพื้นที่ท่าฯภูเก็ตในระยะสุดท้ายจะรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี จนถึงปี 2563
การพัฒนาท่าฯภูเก็ต จะพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การก่อสร้างทางขับและลานจอดอากาศยาน จำนวน 11 หลุม การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มอีก 1 อาคาร พร้อมกับทุบทิ้งอาคารผู้โดยสารหลังเก่า โดยการสร้างใหม่ขึ้นมาแทนเป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ ปรับปรุงลานจอดรถ ทำลานจอดรถใหม่ การก่อสร้างอาคารคลังสินค้า การก่อสร้างระบบถนนทางเข้าและเชื่อมต่อภายในท่าฯ ก่อสร้างอาคารที่จอดรถสำหรับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และก่อสร้างอาคารสำนักงานท่าฯภูเก็ตและสำนักงานสายการบิน เป็นต้น
นายทรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทอท.มีแนวคิดเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อขอรับโอนท่าอากาศยานกระบี่ ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากท่าฯภูเก็ตมาเป็นท่าอากาศยานรองรับ เพื่อเตรียมการสำหรับอนาคต เมื่อไปสามารถขยายขีดความสามารถของท่าฯภูเก็ตได้อีกแล้ว จะได้มีท่าฯกระบี่ช่วยรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศควบคู่กับท่าฯภูเก็ต หรือช่วยรองรับกรณีฉุกเฉิน กอปรกับภูเก็ตและกระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมีผู้โดยสารทั้ง 2 ท่าฯ มักจะเดินทางท่องเที่ยวใน 2 จังหวัดควบคู่กันไปอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่จังหวัดพังงาผลักดันให้มีการปรับปรุงสนามบิน ที่เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมการบินพาณิชย์ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้แล้ว แต่จะเป็นสนามบินขนาดเล็ก ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงา