xs
xsm
sm
md
lg

แฉแกนนำป่วนใต้"นายหน้า"ใหญ่ จ่ายใต้โต๊ะขนน้ำมันเถื่อนเข้าไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นถึงลิตรละ 36.06 (ดีเซล) และ 39.20 (เบนซิน 95) ได้ทำให้มีการลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศมาเลเซียมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดทำเป็นขบวนการใหญ่มีผู้เป็น "เจ้าพ่อ" รวบรวมผู้ต้องการค้าน้ำมันเถื่อนเป็นทีม โดยมีหน้าหน้าเป็นผู้จัดการในการเคลียร์เส้นทางกับด่านศุลกากร ตำรวจท้องที่ ตำรวจทางหลวง และสรรพสามิต
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรปาดังเบซาร์ ได้เข้มงวด ไม่ยอมให้รถยนต์กระบะ ปิกอัพ และรถเก๋ง ที่ดัดแปลงถังน้ำมันบรรจุน้ำมันได้คันละ 1,100 ลิตรเข้าไปบรรทุกน้ำมันจากฝั่งมาเลเซีย โดยอนุญาตให้เฉพาะรถที่ไม่มีการดัดแปลงถังน้ำมัน เข้าไปบรรทุกน้ำมันจากฝั่งมาเลเซียได้วันละ 3 เที่ยว ทำให้รถดัดแปลงถังน้ำมันทั้งหมดที่มีอยู่จำนวน 270 คัน ต่างหันมาขนน้ำมันจากฝั่งมาเลเซียผ่านทางด่านศุลกากร ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลาแทน
นายวิโรจน์ (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งเคยเป็นผู้ขับรถในขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน เปิดเผยว่า หลังจากที่นายอนุสิทธิ์ กาญจนพล ผู้ช่วยนายด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ ได้เข้มงวดจับกุมรถบรรทุกน้ำมันทั้งดีเซล และเบนซิน ที่ดัดแปลงถังน้ำมันตั้งแต่ 500 ลิตร- 1,100 ลิตร ทำให้ขบวนรถบรรทุกน้ำมันทั้งหมดมาใช้เส้นทางด้าน ต.สำนักขาม ซึ่งเป็นชายแดนที่ติดกับรัฐเคดาห์ของประเทศมาเลเซีย
นายวิโจรน์ เปิดเผยว่า ในประเทศมาเลเชียห่างจากชายแดนไทยประมาณ 3 กิโลเมตรมีปั้มน้ำมันของมาเลเซียที่เป็นปั๊มถูกต้องตามกฎหมายอยู่ 5 ปั้มด้วยกันและมีปั๊มเถื่อนที่เปิดเป็นโกดัง ขายน้ำมันให้เฉพาะลูกค้าคนไทยอยู่จำนวน 8 แห่งด้วยกัน
น้ำมันที่ซื้อจากปั๊มที่ถูกต้องในประเทศมาเลเซียลิตรละ 17 บาทเศษ ถ้าลูกค้าคนไทยเติมน้ำมันตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไปต้องจ่ายใต้โต๊ะให้กับปั๊ม 1,500 บาท โดยเจ้าของปั๊มต้องน้ำเงินส่วนนี้ไปจ่ายใต้โต๊ะให้แก่ตำรวจสนาม หรือยูพีพี ที่รัฐบาลกลางส่งมาควบคุมปั๊มน้ำมันเพื่อมิให้ขายน้ำมันให้แก่ลูกค้าคนไทย-สิงคโปร์ เกินกว่าที่รัฐบาลกลางกำหนดคือ 20 ลิตรต่อหนึ่งคันรถ
ส่วนน้ำมันที่ซื้อจากปั๊มเถื่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นโกดัง เป็นน้ำมันเกรดต่ำที่ใช้สำหรับเรือ และเครื่องจักรกล แต่ขายในราคาที่แพงกว่า คือ ลิตรละ 20-21 บาท แต่ลูกค้าสามารถซื้อได้ไม่จำกัดจำนวนและไม่ต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ของมาเลเซีย เนื่องจากเจ้าของปั๊มเถื่อน ได้บวกเงินที่ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยแล้วและเมื่อผู้ซื้อเข้าไป ติดต่อเพื่อซื้อน้ำมันจากปั๊มทั้ง 2 แห่งก็พบว่าเป็นจริงตามที่มีการบอกเล่า แต่ยังไม่สามารถซื้อน้ำมันจากปั๊มเถื่อนได้ เพราะผู้ที่ซื้อน้ำมันในปั๊มเถื่อนได้ ต้องมีรหัส ซึ่งเป็นรหัสที่เจ้าพ่อทางฝั่งไทย เป็นผู้ออกให้เพื่อเป็นที่รู้กันในระหว่างพ่อค้าน้ำมันเถื่อนทั้งสองประเทศ โดยรหัสที่ใช้ ถ้าเป็นน้ำมันดีเซล ต้องขึ้นต้นด้วย "ดี" และตามด้วยหมายเลข ส่วนเบนซินต้องมีรหัสที่ขึ้นต้นด้วย "บี" และตามด้วยตัวเลข
อับดุลลาห์ กาจิ พนักงานปั๊มน้ำเถื่อนหนึ่งในแปดแห่งฝั่งมาเลเซีย เปิดเผยว่า การค้าน้ำมันเถื่อนขณะนี้ทำกันเป็นขบวนการ ระหว่างตัวแทนคนไทยและตัวแทนคนมาเลเซีย เพราะต้องมีค่าจ้างให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งฝ่ายมาเลเซียและฝ่ายไทย เนื่องจากจำนวนน้ำมันที่คนไทยต้องการซื้อในแต่ละวันเป็นแสนๆ ลิตร ซึ่งหากไม่มีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง และท้องถิ่น เจ้าของปั๊มน้ำมันในมาเลเซียก็ไม่สามารถขายได้
จากการสืบสวนในทางลับมีรายงานว่า ผู้ที่รับหน้าที่ในการเคลียร์เส้นทางจากชายแดนไทยถึง จ.พัทลุง และ จ.ปัตตานี-ยะลา เป็นคนจาก จ.ปัตตานี ชื่อว่า "บังแอ" นอกจากอยู่ในขบวนการน้ำมันเถื่อนแล้ว ยังทำธุรกิจผิดกฎหมายอีกหลายอย่างในชุมชนบ้านไทยจังโหลน ด้านชายแดนไทย-มาเลเซีย และมีรายชื่อเป็นแกนนำของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ทำหน้าที่ติดต่อกับแกนนำและสมาชิกในรัฐเคด้าห์ ประเทศมาเลเซีย และยังมีหัวหน้าใหญ่ที่คอยสั่งการกับ"บังแอ" คือ "บังแว" ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลใน ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา โดยชาวมุสลิมที่เดินทางมาจาก จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ต่างขึ้นกับ "บังแว" ทั้งหมด และขณะเดียวกันกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนประมาณ 80% เป็นมุสลิมจาก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบรายชื่อจากแฟ้มงานความมั่นคง พบว่า "บังแว" หรือ "นายแว" เป็นแกนนำของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ มีหน้าที่ในการส่งเงินที่เรียกเก็บจากสมาชิกที่ทำธุรกิจผิดกฎหมายทุกชนิดส่งให้กับขบวนการเพื่อใช้ในการก่อการร้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสืบสวนในทางลับได้รับการเปิดเผยจากนายยะยาห์ (ขอสงวนนามสกุล) ทราบว่า "บังแอ" ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการเคลียร์เส้นทางให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเปิดไฟเขียว โดยไม่มีการจับกุมรถบรรทุกน้ำมันเถื่อนจะมีการเรียกเก็บเงินจากรถยนต์ทุกคันที่มาเข้ากลุ่มการค้าน้ำมันเถื่อนเที่ยวละ 1,500 บาท สำหรับรถที่ดัดแปลงถังน้ำมันจุได้ 1,100 ลิตร และเที่ยวละ 300 บาท สำหรับรถที่จุ 500 ลิตร ส่วนรถที่ไม่ดัดแปลง ซึ่งมีอยู่อีกประมาณ 300 คัน ให้ไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ศุลกากรเอง
โดยเงินที่เก็บจากผู้ค้าน้ำมันเถื่อน บังแอ อ้างว่า ต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร อ.สะเดา ศุลกากรทักษิณ 10 เที่ยวละ 500 บาทและต้องส่งทุกวัน เพราะศุลกากร มีการตรวจสอบรถที่เข้า-ออกและต้องจ่ายให้กับตำรวจทุกโรงพัก ที่รถน้ำมันเถื่อนต้องวิ่งผ่านคันละ 1,000 บาทต่อเดือน ไม่ว่าจะวิ่งเดือนละกี่เที่ยว ต้องจ่ายเท่ากัน ส่วนตำรวจทางหลวง ต้องจ่ายเดือนละ 5,000 บาทต่อเดือนและสรรพสามิต 10,000 บาทต่อเดือน
ขณะที่นายวิโรจน์ เปิดเผยอีกว่า เครือข่ายของบังแอ ใหญ่มาก เพราะคนอื่นเคลียร์เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยไม่ได้ แต่บังแอ ทำได้ ทำให้มีรถน้ำมันเถื่อนจำนวนมากที่เข้ามาเป็นสมาชิก และยินดีจ่ายเงินเพราะไม่เคยถูกจับกุม รวมทั้งจำนวนเงินที่เรียกเก็บ ผู้ประกอบกิจการน้ำมันเถื่อน ยังมีกำไรมหาศาล เพราะน้ำมันเถื่อนที่นำออกมาถูกนำไปขายให้กับปั๊มน้ำมันและโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้ประกอบการขนส่งในลิตรละ 29-32 บาท แล้วแต่เกรดของน้ำมัน
เช่น นำมันที่ซื้อจากโกดังเถื่อนซึ่งเกรดต่ำขายลิตรละ 29 บาท ส่วนน้ำมันจากปั๊มที่ถูกกฎหมายขาย 31-32 บาท ซึ่งในขณะที่ราขายน้ำมันหน้าปั๊มใน จ.สงขลา ลิตรละ 36. 60 บาท ซึ่งปั๊มที่รับซื้อน้ำมันเถื่อนได้กำไร 4-7 บาท ส่วนผู้ค้าน้ำมันเถื่อนได้กำไรลิตรละ 15-17 บาท หมายเหตุยังไม่หักค่าใช้จ่าย เช่นจ่ายให้บังแอ ค่าเคลียร์เส้นทาง และค่าโสหุ้ยอื่นๆ
นายวิโรจน์ เปิดเผยต่อว่า อู่รถที่รับดัดแปลง โดยทำถังลับตามจุดต่างๆ ในตัวรถ ทั้งรถปิคอัพ และรถเก๋ง ที่ขึ้นชื่อที่สุดคืออู่ "จ" หาดใหญ่ และอู่ "ช" ทุ่งลุง โดยคิดค่าอัดแปลงคันละ 6,000 บาท สามารถจุน้ำมันได้ 1,100 ลิตรต่อคัน นอกจากนั้นยังมีอู่อื่นๆ อีก 10 แห่ง แต่ฝีมือสู้อู่ "จ." และอู่ "ช."ไม่ได้
จากการติดตามตรวจสอบยังพบว่า ในขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนจากประเทศมาเลเซียนอกจากผู้คนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคนใน อ.จะนะ จ.สงขลา มากที่สุดแล้ว ยังมีคนในเครื่องแบบซึ่งมีทั้งตำรวจภูธร และ ตชด.ใน จ.สงขลา มากกว่า 20 ราย โดยส่งขายให้กับปั๊มน้ำมันใน อ.หาดใหญ่ อ.จะนะ และอำเภอต่างๆ
นอกจากนั้น ราคาที่แตกต่างกันเกือบเท่าตัวของน้ำมันในประเทศมาเลเซีย ยังส่งผลให้บริษัทค้ามันจาก จ.ระนอง จ.พิษณุโลก จำนวน 4-5 บริษัท นำรถแท๊งค์เกอร์ ซึ่งบรรทุกได้คันละ 40,000 ลิตรต่อคัน เข้าไปซื้อน้ำมันจากโกดัง ดังกล่าว นำมาเสียภาษีนำเข้า โดยแจ้งว่าจะส่งไปขายยังประเทศสหภาพพม่า หรือนำออกไปยังประเทศที่ 3
แต่จากการสังเกตพบว่า รถบรรทุกเหล่านั้น หลังจากออกจากด่าน อ.สะเดา จ.สงขลา ใช้เวลาไม่ถึง 3 วันก็กลับมาบรรทุกน้ำมันเที่ยวใหม่ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่ 3 และกลับได้รวมเร็วขนาดนั้น ซึ่งขณะนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนใน อ.สะเดา จ.สงขลาว่า น้ำมันดังกล่าวมีการขายในประเทศ และมีการ "ฮั้ว" กัน ระหว่างนายทุนระดับชาติกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ชายแดน อ.สะเดา
กำลังโหลดความคิดเห็น