xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันดีเซลจ่อลิตรละ 36 บ. ดัชนีเชื่อมั่นวูบรอบ 6 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ผู้ค้าน้ำมันดีเซลขยับอีก 50 สตางค์ต่อลิตรวันนี้ทุกราย เผยค่ายต่างชาติทั้งเชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์นำโด่งอยู่ที่ 35.74 บาทต่อลิตร “พูนภิรมย์” เริ่มลังเล ก.ค.นี้อาจอุ้มดีเซล 90 สต./ลิตร ต่อไป เผยคนไทยหมดหวังรัฐบาลชุดนี้ ทั้งที่คาดหวังเข้ามาช่วยกอบกู้เศรษฐกิจ ส่งผลให้ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนเม.ย.ปรับตัวลดลงทุกรายการในรอบ 6 เดือน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย “ธนวรรธน์” ยังไม่ฟันธงความเชื่อมั่นดิ่งเหวต่อหรือไม่ ขอจับตาดู 2-3 เดือน หากน้ำมันยังแพง รัฐแก้ปัญหาค่าครองชีพไม่ได้ การบริโภคประชาชนทรุดแน่ ด้านเอสเอ็มอีแบงก์หวั่นธุรกิจเอสเอ็มอีไทยกว่า 2 ล้านราย สูญพันธุ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (15พ.ค.) เอสโซ่ได้แจ้งนำปรับขึ้นราคาขายปลีกเฉพาะดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. เป็นต้นไป ส่งผลให้เชลล์ บางจาก คาลเท็กซ์ ซัสโก้ปรับตาม เว้นปตท. ทำให้ราคาดีเซลทุบสถิติใหม่เป็น 35.74 บาทต่อลิตร นำห่างปตท.ที่ไม่เปลี่ยนแปลงถึง 1.30 บาทต่อลิตรโดยราคาดีเซลปตท.ยังคงที่ 34.44 บาทต่อลิตร ส่วนของบางจากต่ำกว่าค่ายต่างชาติ 30 สตางค์ต่อลิตรโดยอยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร ส่วนกลุ่มเบนซินทั้งปตท.และบางจากต่ำกว่ารายอื่นๆ 30 สตางค์ต่อลิตร

พล.ท (หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวหลังการลงนามร่วมดำเนินมาตรการ ”วัด...ประหยัดไฟ..รวมใจสมานฉันท์” หนึ่งใน 11 มาตรการประหยัดพลังงาน ว่า ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมากกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาทุกปัจจัยที่จะดูแลไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยส่วนของนโยบายการลดราคาดีเซล 90 สตางค์ต่อลิตรจากการลดเก็บเงินเข้ากองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่จะนำไปใช้สร้างรถไฟฟ้า 50 สตางค์ต่อลิตร งดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล 10 สตางค์ต่อลิตรและนำเงินบริหารจากน้ำมันอื่นๆ มาลดอีก 30 สตางค์ต่อลิตร ถึงเดือนก.ค.นั้นรัฐยังไม่ได้พิจารณาว่าจะยกเลิกหรือจะยืดเวลาใช้ต่อไปซึ่งขอดูราคาน้ำมันอีกระยะหนึ่งก่อน

“ยอมรับว่าหากน้ำมันแพงแล้วยกเลิกก็จะกระทบกับประชาชน เราจึงยังบอกไม่ได้ขอดูอีกระยะก่อน ส่วนมาตรการประหยัดที่รัฐออกมา 11 มาตรการนั้นบางมาตรการก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็คงจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ส่วนนี้เพิ่ม แต่ระยะนี้คงยังไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม” รมว.พลังงาน กล่าว

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน กล่าวว่า แนวโน้มราคาขายปลีกน้ำมันในไทยคงต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก 1-2 วันนี้โดยเฉพาะดีเซลที่ค่าการตลาดลดต่ำกว่าหน้าโรงกลั่น 3 บาทต่อลิตร เบนซินค่าการตลาดอยู่ประมาณ 70-80 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งดีเซลนั้นมีแรงซื้อเพิ่มเข้ามามาก เพราะทั้งสหรัฐและยุโรปต่างหันมาใช้ดีเซลที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เอเชียยังมีการผลิตไฟฟ้าจากดีเซลอยู่ ทำให้ภาพรวมดีเซลราคาสูงผิดปกติและคาดว่าในที่สุดคงจะใกล้เคียงกับเบนซินได้ แต่คงจะไม่สูงกว่าเพราะภาษีสรรพสามิตดีเซลของไทยต่ำกว่าเบนซินและรัฐบาลคงจะไม่ให้เกิดเช่นนั้น

“การประหยัดที่ได้ผลจริงๆ คือมาตรการบังคับหรือจูงใจให้เกิดการประหยัด เพราะจะเห็นว่าการรณรงค์นั้นจะได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เช่น การจำกัดความเร็วรถ การห้ามรถเข้าชั้นในกรุงเทพฯ เป็นต้น” นายมนูญ กล่าว

ดัชนีเชื่อมั่น เม.ย.ลดครั้งแรกรอบ 6 เดือน

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,242 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจประจำเดือนเม.ย. 2551 พบว่าดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยเท่ากับ 73.0 ลดจากมี.ค.ที่ 73.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำเท่ากับ 72.7 ลดจาก 73.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 94.0 ลดจาก 94.6 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 79.9 ลดจากเดือนมี.ค.ระดับ 80.7 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน 72.1 ลดจากระดับ 73.0 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ระดับ 80.5 ลดจากระดับ 81.1

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง มาจากปัจจัยลบ คือ ระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันขายปลีกเบนซิน 95 และ 91 และน้ำมันดีเซลในเดือนเม.ย.ปรับขึ้นมา 2 บาท/ลิตร ส่งผลให้ประชาชนกังวลถึงภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากคาดการณ์ว่ารายได้อนาคตที่เพิ่มขึ้นไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่สูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง และปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

“เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลง เพราะในช่วง 6 เดือนก่อนหน้านี้ หลังจากเดือนพ.ย.ที่มีการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คนก็หวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยฟื้นเศรษฐกิจ แต่พอมาล่าสุดเจอปัญหาน้ำมันแพง ค่าครองชีพพุ่งไม่หยุด รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย เลยทำให้ความเชื่อมั่นลดลง”

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวลดลง แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง เพราะดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนปัจจุบันเทียบกับค่าเฉลี่ยรายไตรมาส พบว่าดัชนียังมีสัญญาณปรับตัวที่ดีอยู่ ซึ่งทางศูนย์ฯจะรอดูสถานการณ์ 2-3 เดือนข้างหน้า และประเมินผลใหม่ เนื่องจากต้องรอดูทิศทางราคาน้ำมันว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้หรือไม่ เพราะหากราคาน้ำมันยังปรับขึ้นมาอีก และรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าครองชีพได้ มีแนวโน้มที่การบริโภคในช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลง

“ตอนนี้ปัจจัยน้ำมันสำคัญมาก และคนกังวลมากกว่าการเมือง เพราะทำให้อำนาจการซื้อของประชาชนลดลง ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศได้ปรับขึ้นถึงลิตรละ 5 บาท ส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายเงินออกจากกระเป๋าเพิ่มขึ้น 350 ล้านบาท/วัน หรือเดือนละประมาณ 6 พันล้านบาท ทั้งปีก็ 6 หมื่นล้านบาท เป็นเงินที่ต้องเสียออกไป” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่จะพลิกฟื้นให้ประชาชนกลับมามีความเชื่อมั่นเหมือนเดิม โดยรัฐบาลจะต้องเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ เพราะสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ทั้งการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เพิ่มอัตราเงินเดือนข้าราชการ และผลักดันราคาสินค้าเกษตร เป็นเพียงการพยุงสถานการณ์ระยะสั้นไว้เท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งเข้าไปดูแลระดับราคาพลังงาน โดยเฉพาะการขยายระยะเวลาการงดจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 90 สตางค์ของน้ำมันดีเซล ออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวในเดือนก.ค.นี้

“รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลระดับราคาพลังงาน เช่น ขยายการงดจัดเก็บเงินของน้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม เพราะไม่ได้เอาเงินรัฐมาอุดหนุน และทยอยขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี ส่วนการดูแลราคาสินค้าควรใช้โครงการสินค้าธงฟ้าออกไปช่วยเหลือประชาชนให้ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้ เป็นไปตามเป้าหมายในระดับ 5-5.5% และเศรษฐกิจไทยยังขยายตามกรอบได้ 5-6% แต่หากยังปล่อยให้ราคาพลังงานขึ้น การบริโภคของประชาชนในอนาคตชะลอตัวลงแน่นอน” นายธนวรรธน์ กล่าว

ชี้น้ำมัน 50 บาท เอสเอ็มอีไทยตายเกลี้ยง

นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)หรือเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ ประกอบกับขายสินค้าไม่ออก เพราะกำลังซื้อหดหายจึงทำให้เกิดปัญหาเงินขาดมือ

ซึ่งสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีเห็นได้จากลูกค้าเอสเอ็มอีแบงก์ที่กำลังตกชั้นลูกหนี้กว่า 70-80% ส่วนใหญ่มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลให้การแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารคืบหน้าน้อยมาก เพราะมีลูกค้าบางส่วนเริ่มกลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีกครั้ง จากช่วงปี2550 เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 50% แต่ขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่ 40% ต้นๆ หรือมีมูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายว่าปลายปีนี้จะได้เห็นเอ็นพีแอลที่ระดับ 30%

ส่วนการปล่อยสินเชื่อ 5 เดือนยังต่ำกว่าเป้าหมาย 20%จากเป้าหมายทั้งปี 2 หมื่นล้านบาท ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้การปล่อยสินเชื่อทำได้ลำบาก เมื่อขายของไม่ได้ ก็ไม่มีใครอยากที่จะลงทุน เมื่อไม่มีใครลงทุนก็ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ แต่มั่นใจว่าช่วงปลายปีการปล่อยสินเชื่อจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

“ทางเอสเอ็มอีแบงก์ประเมินว่าหากราคาน้ำมันถึง 50 บาท/ลิตรเมื่อใด คงทำให้เอสเอ็มอีในไทยไม่เหลือ ไม่ใช่แค่ตายเฉยๆ แต่จะไม่เหลือซากให้ลอยอังคารเลย เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ขณะนี้ทำให้เอสเอ็มอีเริ่มแย่ลงแล้ว ซึ่งเอสเอ็มอีกลุ่มอาหารเป็นกลุ่มที่โดนผลกระทบหนักสุด”นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) พบว่าในปี2550 เอสเอ็มอีมีจำนวน 2.3 ล้านราย ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 9 ล้านคน หรือ 76% จากการจ้างงานทั้งระบบ และยังสามารถสร้างมูลค่าตลาดจากรายได้รวมถึง 5.695 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% จากทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็นการส่งออก 1.568 ล้านล้านบาท หรือ 29% จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น