ศูนย์ข่าวศรีราชา- ผู้ว่าฯชลบุรี เร่งแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง หลังพื้นที่ฝังกลบหลายแห่งเต็ม เตรียมประสานภาคเอกชน ก่อสร้างเตาเผาขยะความร้อนสูง เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว
นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ปัญหาของจังหวัดชลบุรี ขณะนี้ คือ ปัญหาขยะจากครัวเรือนและจากโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากพื้นที่ในการฝังกลบของแต่ละพื้นที่เริ่มเต็มหมดแล้ว และไม่สามารถหาพื้นที่ในการฝังกลบได้
ทั้งนี้ เพราะประชาชนในแต่ละพื้นที่ต่อต้านและคัดค้านไม่ให้มีการฝังกลบขยะ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ใต้หลุมฝังกลบขยะ ปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาเรื่องนี้หากไม่รีบดำเนินการแก้ไข ปัญหายิ่งจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องรีบวางแนวทางในการแก้ไขในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป
จากการศึกษาการแก้ไขปัญหาขยะ พบว่าขยะในพื้นที่จังหวัดชลบุรี รูปแบบเหมือนกับขยะของประเทศจีน และขณะนี้มีบริษัทจากประเทศจีน ได้ให้ความสนใจและพร้อมจะลงทุนก่อสร้างโรงงานเตาเผาขยะให้
นายประชา กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดชลบุรี กว้างมาก และแต่ละอำเภอก็กระจัดกระจายไปทุกแห่งทั้งด้านฝั่งทะเลและป่าเขา จึงได้แบ่งออกเป็น 3 โซน คือ โซนที่ 1 คือ พื้นที่อำเภอเมืองชลบุรี และศรีราชา พื้นที่โซน 2 คือ อำเภอบ้านบึง พนัสนิคม พานทอง บ่อทอง หนองใหญ่ เกาะจันทร์ และอำเภอเมืองชลบุรีบางส่วน และ พื้นที่โซน 3 คือ อำเภอบางละมุง สัตหีบ และเมืองพัทยา
ขณะนี้พื้นที่โซน 3 ได้ตกลงทำสัญญากับบริษัทซียูเจยู เอ็น ไวรอน เมนทอล โปรเท็คชั่น แอนด์ รีซอร์ส (ประเทศไทย) ( CU.GU) และได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไปแล้ว เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท จึงต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ( EIA)
ส่วนพื้นที่โซน 2 ขณะนี้มีบริษัทมาชู คอนซัลแตนท์ จำกัด (มหาชน) ให้ความสนใจในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนโดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง โดยเป็นโรงงานกำจัดขยะประมาณ 400 ตันต่อวัน ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คาดว่าประมาณ สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ จะสามารถลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ได้ และเริ่มการก่อสร้างได้ทันที
นายประชา กล่าว่า สำหรับจังหวัดชลบุรีมีนโยบายในการกำจัดขยะ โดยเน้นจะต้องกำจัดขยะด้วยกระบวนการทางความร้อนสูง โดยเน้น 1.ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน 100% 2. ท้องถิ่นกลุ่มอำเภอที่กำหนดแต่ละกลุ่มมีหน้าที่จัดเก็บขยะ และนำส่งโรงงานกำจัดขยะ 3.เน้นก่อสร้างที่บ่อทิ้งขยะเดิม เพื่อพัฒนาบ่อขยะให้สวยงาม และหลีกเลี่ยงปัญหาการคัดค้านของประชาชน
4. ท้องถิ่นต้องจ่ายค่ากำจัดเป็นอัตราต่อหน่วย 1 ตัน / 300 - 500 บาท แต่อย่างไรก็ตามราคาดังกล่าวอาจจะต้องมีการเจรจาอีกครั้ง 5. ท้องถิ่นให้เอกชนรับสัมปทานดำเนินการไม่เกิน 20-30 ปี โดยผู้ลงทุนจะต้องส่งมอบโรงกำจัดขยะให้ตกเป็นของท้องถิ่น เมื่อสิ้นสุดสัมปทาน และ 6. ระหว่างอายุสัมปทานผู้ประกอบการจะต้องฝึกหัด ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น ให้สามารถเข้ามาดำเนินการได้เอง เมื่อได้รับมอบโรงงานในอนาคต
นายสุวิเชียร ผ่องนัยเลิศ กรรมการผู้จัดการบริษัทมาชู คอนซัลแตนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทจินเจียง อินเตอร์เนชันแนลฯ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ได้ศึกษาขยะในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมานานหลายปีแล้ว โดยถือว่าขยะในพื้นที่จังหวัดชลบุรีสามารถกำจัดได้ ตามแผนงานที่วางไว้ และไม่น่ามีปัญหาอะไรหากสามารถเซ็น MOU ได้ ก็พร้อมดำเนินการได้ทันที โดยโรงงานที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดชลบุรี จะใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท กำจัดขยะได้วันละประมาณ 400 ตันต่อวัน และเป็นโรงงานแห่งแรกของประเทศที่ก่อสร้างในชลบุรี