xs
xsm
sm
md
lg

อัดรัฐไร้กึ๋นคุมราคาสินค้า“สมัคร”ให้ปรับค่าแรงก.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (1 พ.ค.) เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรม โดยในกรุงเทพฯ ผู้ใช้แรงงานแบ่งอกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจัดงานอย่างเป็นทางการที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยตั้งแต่เวลา 7.00 น. มีการจัดพิธีทางศาสนา มีนาง อุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน เป็นประธานในพิธีถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์จำนวน 9 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน อาทิ นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวง นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายมนูญ ปุญญกริยากร อธิบดีกรมการจัดหางาน นายสุรินทร์ จิรวิศิษฏ์ เลขาธิการประกันสังคม และคณะกรรมการจัดงานวันแรงงาน เข้าร่วมพิธี
ต่อมาเวลา 08.00 น.ผู้ใช้แรงงานทยอยเดินทางมายังบริเวณงาน โดยส่วนใหญ่สวมเสื้อสีขาวซึ่งได้รับแจกจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยได้ชูป้ายข้อเรียกร้องหลายด้านให้รัฐบาลเข้าแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายผู้พิการและสภาผู้พิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เดินทางมาร่วมชุมนุมและเรียกร้องสิทธิด้านต่างๆให้กับคนพิการด้วย

มิ่งขวัญการันตีขึ้นค่าจ้าง 9 บาท
จากนั้นในเวลา 10.30 น.นายอุดมศักดิ์ บุพนิมิตร ประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ได้ประกาศข้อเรียกร้องวันแรงงาน 8 ข้อ อาทิ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 9 บาททั่วประเทศ การจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม โดยมีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานและรับข้อเรียกร้องแทนนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ได้มาเป็นประธานเหมือนนายกรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ในอดีตที่เคยปฎิบัติมา
นายมิ่งขวัญ กล่าวกับผู้ใช้แรงงานว่า ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน จะผลักดันข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานทั้ง 8 ข้อด้วยตัวเอง อย่างเต็มที่และให้สมกับความตามต้องการของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งขอสัญญาว่าจะทำทุกวิถีทางให้วันพรุ่งนี้ (2 พ.ค.) มีการประชุมปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นในอัตรา 9 บาททั่วประเทศตามข้อเรียกร้อง ดังนั้นพี่น้องแรงงานจึงไม่ต้องกังวล เพราะว่ามีการปรับค่าจ้างขึ้นแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 11.30 น.กลุ่มผู้ใช้แรงงานจาก 7 สภาองค์กรลูกจ้าง ประมาณ 500 คนได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณฝั่งตรงข้ามสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ถนนพิษณุโลกเพื่อยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีนายนคร ศิลปอาชา รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับหนังสือ

ผู้ใช้แรงงานอัดรัฐไม่เร่งแก้ปัญหาคนจน
ส่วนอีกกลุ่มมีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานสังกัดคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมทั้งเครือข่ายพันธมิตร อาทิ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้รวมตัวกันตั้งแต่เวลา 8.30 น. และได้จัดริ้วขบวนเดินตามถนนราชดำเนินมุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงานองค์กรต่างๆได้สร้างสีสันด้วยการเขียนป้ายผ้า และภาพต่างๆ ล้อเรียนและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเน้นไปที่รัฐบาลไม่สามารถ ควบคุมราคาข้าวและสินค้าได้ เช่น “รัฐบาลที่แล้วชอบปั่นหุ้น รัฐบาลนี้ชอบปั่นราคาข้าว “ , “น้ำมันแพง ข้าวของแพง แต่แรงงานถูก รัฐบาลชมพู่ทำอะไรอยู่ “ , “อย่าคิดแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องปากท้องของประชาชนสนใจบ้าง” , “ข้าวแพง นายทุนรวย ชาวนาซวย ต้นทุนสูง ข้าวของแพง ค่าแรงถูก” เป็นต้น
หลังจากนั้น เวลา 10.00 น.ขบวนแรงงานกลุ่มนี้ได้เดินทางมาถึงและปักหลักอยู่บริเวณประตูทำเนียบฝั่งถนนราชดำเนิน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องยังนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี โดยหน้าเวทีได้มีการตั้งโต๊ะอาหารแสดงรายการ “ูดหมาๆ ประสาป๋าหมาก ชิมไปแดกไป โดยมีคนแต่งตัวเลียนแบบนายสมัคร เป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ยังได้มีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุขออกจากตำแหน่ง พร้อมกับลงรายชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ทั้งนี้ แกนนำแรงงานเครือข่ายต่างๆได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ การบริหารงานของรัฐบาล โดยนายบุญสม ทาวิจิต ประธานสหภาพแรงงาน กลุ่มย่านสระบุรี กล่าวว่าขณะนี้ทุกภาคส่วนของสังคมต่างได้รับความช่วยเหลือเยียวยา จากรัฐบาล แต่ในส่วนของผู้ใช้แรงงานกลับยังไม่ได้รับการเหลียวแลใดๆ โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งรัฐบาลพยายามใช้กลไกลของภาครัฐเข้ามาเป็นผู้กำหนด แต่โดยข้อเท็จจริงที่ผ่านมาคือ ในหลายพื้นที่กลับมีอัตราค่าจ้างที่แตกต่างกันมาก เช่น น่านและพะเยามีอัตราค่าจ้างต่างกับกรุงเทพฯและปริมณฑลถึง 50 บาท ขณะที่ข้าวของราคาเหมือนกันหมด แต่ความหวังเราก็ริบหรี่กับรัฐบาลชุดนี้ตราบใดที่ยังมองกรรมกรไม่ใช่คนละก็ มันจะเร่งให้พังเร็วขึ้นเท่านั้น เพราะมันกดดัน คนไม่มีจะกิน

รสก.จวกรัฐบาลทำกิจการเจ๊ง
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่เห็นพนักงานรัฐวิสหกิจมากันมากจำนวนกว่า 43 องค์กร เนื่องจากมีจุดมุ่งหมาย เดียวกันกับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เช่น ปัญหาสิทธิในการทำงาน ไม่มีความมั่นคง ประกอบกับการที่รัฐบาลยุคนี้มี่ให้ความสนใจที่จะปรับปรุงให้รัฐวิสาหกิจรุ่งเรือง และพยายามที่จะให้รัฐบาลสูญหายไป เห็นได้จากการที่ไม่มีการรับพนักงานเพิ่ม ไม่มีการเซ็นเงินกู้ให้กับพนักงาน รวมถึงไม่ส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางธุรกิจดังนั้นจึงเกิดการขาดทุน และต้องล้มหายตายจากไปไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ และในขณะนี้มีหลายรัฐวิสาหกิจที่กำลังประสบปัญหา เช่น รสพ. องค์การฟอกหนัง องค์การเบ็ตเตอร์รี่ รถไฟ ขนส่ง เป็นต้น
“ถ้าดูจากนายกฯคนนี้แล้ว มีวิสัยทัศน์เมื่อของแพงให้ไปกินไก่ คิดได้อย่างไร สนใจแต่ปัญหาอะไรก็ไม่รู้ แต่ไม่สนใจปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องของคนในชาติ ดังนั้นจึงไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก แต่จะติดตามข้อเรียกร้องไปจนกว่าจะบรรลุผล ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างถึงขั้นแตกหักเราจะต้องลุกขึ้นสู้”
น.ส.สมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ.สถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัยฯในการทำงาน และให้สถาบันความปลอดภัยเป็นองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมาตลอดเป็นเวลา 15 ปี ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์จนมีคนตาย 188 คน รัฐบาลเคยรับปากแต่มาจนบัดนี้ไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย นอกจากนี้ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ยังถูกละเลย นายจ้างสถานประกอบการยังคงเอารัดเอาเปรียบ นายค่าจ้างน้อย ไม่คุ้มครองประกันสังคม และนายจ้างไทยยังต้องการใช้แรงานถูกจึงทำให้เกิด การค้ามนุษย์ขึ้นอย่างกว้างขวางโดยรัฐบาลยังคงนิ่งเฉย
กรณีล่าสุดที่แรงงานพม่าเสียชีวิต 54 ศพก็ยังไม่มีข้อสรุป ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการรัฐสวัสดิการโดยการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจากคนรวย เพื่อมาเป็นสวัสดิการแก่ประชาชนทั่วไป

เตรียมม็อบกดดันรัฐแก้ของแพง
นาง สุชิน เอี่ยมอินทร์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาคกล่าวว่า ขณะนี้คนจนในสลัมและคนไร้บ้านได้รับความลำบากเป็นอย่างมากเนื่องจากราคาข้าวสารที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้บางส่วนต้องหันมากินปลายข้าวแทน โดยพวกคนในชุมชนเหล่านี้ส่วนใหญ่ ได้ค่าจ้างวันละกว่า 100 บาท ซึ่งไม่พอเลี้ยงครอบครัวอยู่แล้ว แต่ต้องมาประสบปัญหาข้าวของราคาแพงอีก ซึ่งเรื่องนี้เครือข่ายสลัม 4 ภาคจะมีการหารือกันและจะมีการเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลออกมาแก้ไขอีกครั้งภายในเดือนพ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ารัฐบาลได้ส่งนายนครให้มารับหนังสือเรียกร้อง แต่ผู้นำแรงงานไม่พอใจเพราะอยากให้ส่งผู้บริหารระดับสูงกว่านั้นมารับแทน อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ยอมส่งผู้แทนมารับ ในที่สุดตัวแทนผู้ใช้แรงงานจึงได้ยื่นหนังสือผ่านสื่อมวลชนแทน

เอาโครงการรากหญ้ามาอ้างผู้ใช้แรงงาน
ด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย กล่าวกับผู้ใช้แรงงานเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติสรุปว่า ในนามของรัฐบาล ขอส่งความปรารถนาดี มายังพี่น้องผู้ใช้แรงงานและครอบครัว และขอถือโอกาสนี้เรียนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ให้ทราบว่า จากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง รัฐบาลได้พยายามในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและเกิดการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยรัฐบาลได้กำหนดมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ กำหนดมาตรการเงินทุนเพื่อประชาชนและเศรษฐกิจรากหญ้า มีโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน หรือ SML ทั้งยังมีมาตรการเพิ่มเงินทุนและการจัดการเรียนรู้ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงโครงการฟื้นฟูและพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและยากจน, โครงการธนาคารประชาชน ,โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. และ โครงการสินเชื่อเพื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส.

“สมัคร”ให้ปรับค่าจ้างเดือนก.ค.
สำหรับมาตรการในการดูแลแรงงานรัฐบาลได้ การปรับปรุงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ทั่วประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 และจะได้ดำเนินการพิจารณาปรับ ค่าจ้าง ขั้นต่ำอีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551 นอกจากนี้จะส่งเสริมให้สถานประกอบการใช้แนวทางปรับอัตราค่าจ้างประจำปี 2550/2551ให้กับลูกจ้างที่ทำงานเกิน 1 ปีขึ้นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2551 รวมถึงส่งเสริมให้สถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างใช้ในสถานประกอบการเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามผลิตภาพที่แรงงาน ทำได้เป็นประจำทุกปี และส่งเสริมให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในอัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน ใน 30 สาขาอาชีพที่ประกาศใช้แล้ว
ด้านการช่วยเหลือแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวน 9 ล้านคน ให้ได้รับการดูแลจ่ายประโยชน์ทดแทน ในเรื่องการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ การคลอดบุตร ค่าเลี้ยงดูบุตร และค่าทำศพ
สำหรับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนาแรงงานโดยร่วมมือกับภาคเอกชนฝึกยกระดับคุณภาพฝีมือแรงงาน และพัฒนานิสัยอุตสาหกรรม ทำให้ ผลิตภาพการผลิตสูงขึ้น
ส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลได้ดำเนินการดูแลแรงงาน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยส่งเสริมให้มีการจัดสวัสดิการมากขึ้น มีความปลอดภัยในการทำงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการประกาศเรื่อง แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี เป็นวาระแห่งชาติในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น