xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.คงดอกเบี้ยเย้ยเฟดดูน้ำมันก่อนลดเป้าGDP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ธปท.ระบุแม้เฟดจะลดดอกเบี้ยลง แต่ทิศทางดอกเบี้ยไทยต้องดูสภาพเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก มั่นใจไม่กระทบเงินทุนไหลเข้าจากส่วนต่างดอกเบี้ย เหตุอัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังต่ำไม่ดึงดูดนักลงทุนนัก ขณะที่เงินทุนไหลเข้ายังมีทั้งในเอฟดีไอ ตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ ซึ่งหลังยกเลิก 30% มีเงินเข้ามาลงทุนแล้ว 2 หมื่นล้าน ผู้ว่าฯ ธปท.เล็งปรับจีดีพีใหม่หากราคาน้ำมันดูไบสูงกว่า 112.6 เหรียญต่อบาร์เรล ด้าน สศค.เผยเศรษฐกิจเดือนมีนาคมยังขยายตัวต่อเนื่อง-สมดุลมากขึ้น การบริโภคภาคเอกชนกลับมาดีหลังราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น แต่มาตรการภาษีส่งผลการโอนบ้านลดลง

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยในการประชุมช่วงวันที่ 29-30 เม.ย. 2551 นี้ว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงต้องดูสภาพเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีโตที่ระดับ 5% แม้อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในระดับสูง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ ธปท.ต้องติดตามดูต่อไป เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่สูงในขณะนี้ ถือว่ายังเป็นความเสี่ยง แม้ราคาน้ำมันจะอยู่ในกรอบประมาณการก็ตาม แต่ในอนาคตราคาน้ำมันจะขึ้นไปอีกเท่าไรนั้นยังไม่มีใครคาดเดาได้

“แม้เฟดจะลดดอกเบี้ย แต่ในส่วนของไทยต้องดูสภาพเศรษฐกิจเรา แม้จีดีพีจะยังขยายตัวได้ดี แต่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังมีอยู่ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะขึ้นไปอีกเท่าไร ซึ่งยังเป็นความเสี่ยงอยู่ ” นางสุชาดา กล่าว

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่าหากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามายังไทยมากขึ้นหรือไม่นั้น นางสุชาดา กล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่จะพิจารณาเฉพาะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่จะดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมากกว่า ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยต่ำมากอาจไม่ดึงดูดให้นักลงทุนนำเงินเข้ามา นอกจากนี้เวลาที่นักลงทุนต่างชาติจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนจะดูอัตราเงินเฟ้อประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สหรัฐเกิดปัญหาวิกฤตซับไพร์ม ทำให้แต่ละประเทศทั่วโลกต้องระมัดระวังสภาพคล่องของตัวเองมากขึ้น ดังนั้น แรงกดดันต่อเงินทุนไหลเข้าและการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท จึงมีน้อยลง

โดยเงินทุนที่ไหลเข้ามาส่วนใหญ่จะเข้ามาในรูปของเงินลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ด้านเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นก็มีทั้งเข้าและออก แต่สุทธิแล้วนักลงทุนต่างชาติยังคงขายออก ส่วนการลงทุนในตลาดตราสารหนี้จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมามีการลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท หลังจากที่ธปท.ได้ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% แต่หากรวมตัวเลขนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาด้วยมีเงินเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้แล้ว 30,000 ล้านบาท

ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในขณะนี้ก็ค่อนข้างนิ่งไม่ได้ผันผวนเหมือนอดีตที่ผ่านมา โดยการขายเงินดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้า (Forward) ของนักลงทุนมีน้อยลง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเริ่มเกินดุลลดลง รวมทั้งด้านผู้นำเข้าน้ำมันมีการเร่งซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐเร็วขึ้น เพราะต้องนำเข้าน้ำมันในราคาที่สูง ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น

ด้านนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในภาวะที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในขณะนี้ ธปท.ได้มีการประเมินสถานการณ์มาโดยตลอดทุกๆ 3 เดือน ซึ่งการประเมินเศรษฐกิจครั้งล่าสุดในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมายังพบว่าสมมติฐานราคาน้ำมันยังสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันอยู่จริงในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามหากราคาน้ำมันสูงกว่าที่ธปท.ตั้งสมมติฐานไว้ธปท.ก็พร้อมจะประเมินเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง

สศค.โว ศก.ขยายตัวสมดุล

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีความสมดุลมากขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากอุปสงค์ภายในประเทศผ่านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่การนำเข้าปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอุปสงค์ภายในประเทศ

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังจะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ขยายตัวในระดับสูง สะท้อนถึงการบริโภคทั่วไปที่ดีขึ้นจากรายได้ประชาชนที่เพิ่มขึ้นตามรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนในระดับฐานรากที่ขยายตัวดีขึ้น

นอกจากนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งเป็นเครื่องชี้การบริโภคในอนาคต ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 72.5 จุด ในไตรมาสแรกของปี 2551 จากระดับ 69.4 จุด ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 โดยมีปัจจัยหลักจากสถานการณ์การเมืองที่ชัดเจนขึ้นและมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ขยายตัวสูงที่ 18.3% ต่อปี และ 31.3% ต่อปี ตามลำดับ เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง 0.8% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนด้านการก่อสร้างที่วัดจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวลง -27.1% ในเดือนมีนาคม อันเป็นผลจากการที่ประชาชนชะลอการโอนซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อรอให้มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนให้มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มีผลบังคับใช้ ทำให้ยอดจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสที่ 1 หดตัว -3.4% ต่อปี ทั้งนี้ สศค.คาดว่าในระยะต่อไปผลการลดภาษีดังกล่าวจะกระตุ้นให้มีการทำธุรกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนด้านการก่อสร้างเริ่มขยายตัวดีขึ้น

ด้านการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดี โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนมีนาคมและในไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 14.8 และ 41.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ 14.8% ต่อปี และ 20.8% ต่อปี สำหรับสาเหตุหลักที่มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ดี ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาสินค้าส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 10.2% ต่อปีในเดือนมีนาคม และ 9.9% ต่อปีในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมที่เร่งตัวขึ้นตามความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นได้ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกโดยรวมยังขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจขณะที่เมื่อพิจารณาจากมิติด้านตลาดการส่งออกพบว่า มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลักโดยเฉพาะสหรัฐและญี่ปุ่นชะลอลง ขณะที่ตลาดเกิดใหม่และตลาดภูมิภาค เช่น จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ยังคงขยายตัวได้ดี

สำหรับการนำเข้าในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ปรับตัวดีขึ้นมากตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยการนำเข้าในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 14.6 และ 42.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึง 32.7% ต่อปี และ 38.0% ต่อปี ตามลำดับ

ส่วนดุลการค้าในเดือนมีนาคมกลับมาเกินดุลที่ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่ขาดดุลรวม -1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ทำให้ดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 ขาดดุลสุทธิที่ -1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในด้านเสถียรภาพภายนอกนั้น ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 110.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หน้าที่อยู่ที่ 100.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 4 เท่า

ขณะที่เสถียรภาพในประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่1 ปี 2551 อยู่ที่ 5.3% ต่อปี และ 5.0% ต่อปีตามลำดับ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.9% ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น