xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อเฟดลดดอก1สลึงพุธนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - แม้พายุเศรษฐกิจยังโหมกระหน่ำ แต่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ใกล้ยุติวงจรการลดดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ โดยที่เหล่าผู้วางนโยบายจะรอลุ้นผลของมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่หลายระลอกที่ออกตามกันมาก่อนหน้านี้

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนลงความเห็นว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ครั้งต่อไป อันจะหารือกันเป็นเวลา 2 วันโดยสิ้นสุดลงในวันพุธ(30)นี้ และมี ประธานเฟด เบน เบอร์นันกี นั่งเป็นประธานตามเคยนั้น จะมีการประกาศลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ 2% ทว่าผู้สังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า นี่อาจเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายแล้ว อย่างน้อยก็น่าจะต้องมีการพักกันไปสักระยะหนึ่ง

แม้เชื่อว่าเศรษฐกิจอเมริกากำลังบ่ายหน้าสู่ภาวะถดถอย แต่ที่ผ่านมามีการออกมาตรการต่างๆ นานามาต้านทานแนวโน้มขาลง เฉพาะเฟดนั้นลดดอกเบี้ยไปแล้ว 3% เต็มนับจากเดือนกันยายนปีที่แล้ว และต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่ผลลัพธ์ของการลดต้นทุนการกู้ยืมนี้จะซึมซับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 168,000 ล้านดอลลาร์ที่ผ่านการอนุมัติของรัฐสภา และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชประกาศใช้แล้ว ซึ่งประกอบด้วยการคืนภาษีแก่ประชากรนับล้านครัวเรือน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากมาตรการกระตุ้นทั้งทางการเงินและทางการคลังที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเหล่านี้ บวกกับความกังวลกับภาวะเงินเฟ้อขาขึ้น จึงมีแนวโน้มว่าเฟดจะระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยครั้งต่อๆ ไป

ปีเตอร์ เบเรซิน นักเศรษฐศาสตร์ดูแลภาพรวมโลก ของ โกลด์แมนแซคส์ เชื่อว่าเฟดไม่อยากให้ดอกเบี้ยลดต่ำไปกว่า 2% ดังนั้น การลดดอกเบี้ยกลางสัปดาห์นี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้าย กระนั้น เฟดจะยังเปิดช่องสำหรับการกลับไปใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินกันใหม่ หากภาวะเศรษฐกิจถอยหลังรุนแรง

มุสตาฟา เชาว์ดูรี นักเศรษฐศาสตร์ของดอยช์ แบงก์ ก็เห็นอย่างเดียวกันว่า เฟดอาจกังวลกับการอ่อนค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งหมายความว่าวงจรการลดดอกเบี้ยใกล้ถึงคราวปิดฉาก

จอห์น ไรดิ้ง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแบร์ สเติร์นส์ ขานรับว่าที่ผ่านมาเฟดได้เปิดช่องทางสินเชื่อให้แก่ภาคการธนาคารและหลักทรัพย์อย่างกว้างขวาง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบในอันที่จะเกิดการล่มสลายทางการเงินลงได้อย่างชัดเจน

ผลลัพธ์คือ เฟดน่าจะยุติการลดดอกเบี้ย เพราะแม้ดูเหมือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ย่างเท้าเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งทำให้เฟดน่าจะต้องคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไปเพื่อผลักดันกิจกรรมเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกัน ภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นไปใกล้ทะลุ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็ทำให้ความหวังของเฟดในการที่จะเห็นราคาน้ำมันดิ่งลงและทำให้ความกดดันด้านเงินเฟ้อทุเลาลงนั้น ยังคงห่างไกลความจริง

ไรดิ้งเสริมว่า ในอนาคตอันใกล้ ความกังวลกับภาวะเงินเฟ้อจะจำกัดช่องทางในการลดดอกเบี้ย และมีแนวโน้มว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% เท่านั้นในอีกสองวันนี้

นาไรมาน เบห์ราเวช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลบัล อินไซต์ เห็นด้วยว่าในวันพุธที่จะถึงเฟดน่าจะลดดอกเบี้ยหนึ่งสลึง และลดทิ้งทวนอีกรอบเท่าๆ กันในเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนยังคงมองว่า รายงานที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งระบุว่ายอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐฯ ประจำเดือนมีนาคมลดลงทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี อาจทำให้เฟดยังต้องพึ่งพิงมาตรการลดดอกเบี้ยต่อไป

ริชชี สนธิ นักเศรษฐศาสตร์จากอาร์บีซี ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ชี้ว่าภาวะตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัย ทำให้เฟดยังจำเป็นต้องใช้มาตรการลดต้นทุนการกู้ยืมต่อไป โดยอาจมีการลดดอกเบี้ยแรงถึง 0.5% ในวันพุธ และลดอีก 0.25% ในเดือนมิถุนายน

เช่นเดียวกัน อีทาน แฮร์ริส นักเศรษฐศาสตร์จากเลห์แมนบราเธอร์ส วิเคราะห์ว่าวงจรการลดดอกเบี้ยจะยังไม่จบลงง่ายๆ แต่จังหวะอาจช้าลง โดยคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 0.25% ในวันพุธและเว้นยาวจนถึงเดือนธันวาคมถึงจะมีการประกาศลดดอกเบี้ยกันอีกระลอก ต่อด้วยในเดือนมกราคมและมีนาคมจนอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟดฟันด์เรต ลงไปอยู่ที่ 1.25%

แฮร์ริสแจงว่า ในช่วงเวลาปกติ การลดดอกเบี้ยลงมาถึง 3% แล้ว จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตกว่า 3% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ไม่ถือว่าปกติ ดังนั้น ส่วนเดียวในกลไกการส่งผ่านนโยบายที่ได้ผลจึงมีเพียงการที่การอ่อนตัวของดอลลาร์ช่วยประคับประคองให้ภาคส่งออกขยายตัวอย่างเข้มแข็ง ขณะที่นโยบายอื่นๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยในตลาด ราคาสินทรัพย์ และการปล่อยกู้ของธนาคาร ยังคงติดขัดหรือได้ผลตรงกันข้ามกับที่ควรจะเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น