xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ปรับมุมมองเครดิต AIS-DTAC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน -รายงานข่าวจากฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศนำอันดับเครดิตของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative) ซึ่งฟิทช์ได้ประกาศไว้ในเดือน กุมภาพันธ์ 2550 เนื่องจากฟิทช์มองว่าความกังวลต่อความเสี่ยงด้านนโยบายกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคมได้ลดลงจนมาอยู่ในระดับที่ไม่น่าจะมีผลกระทบในแง่ลบต่อ AIS และ DTAC ในเรื่องของการลงทุนที่จะมีขึ้นในอนาคตและการได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ AIS และ DTAC โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating) ของ AIS ที่ ‘BBB+’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term rating) ที่ ‘AA(tha)’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term rating) ที่ ‘F1+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ DTAC ที่ ‘BB+’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ถึงแม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม 2550 ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสัมปทานที่เกิดขึ้นในอดีตของผู้ประกอบการโทรคมนาคมนั้นไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูลและนำเสนอความเห็นเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าวมีน้อยมากโดยมีสาเหตุหลักมาจากการลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้มีการทบทวนการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอดีตของผู้ประกอบการเอกชนในธุรกิจโทรคมนาคมในเดือนกันยายน 2550

นอกจากนี้การเลือกตั้งและแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ได้ทำให้ความเสี่ยงของการยกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าวลดลงไปอีก โดยฟิทช์คาดว่ารัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้แนวทางที่นุ่มนวลในเรื่องของการทบทวนสัญญาสัมปทานดังกล่าวซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อผู้ประกอบการเอกชนในธุรกิจโทรคมนาคมเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาและการเปิดเสรีอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและไม่น่าที่จะนำประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องของการทบทวนสัญญาสัมปทานข้างต้นมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น