xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวยากหมากแพง

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ตอนนี้สื่อต่างๆ ต่างก็พูดถึงปัญหาข้าวยากหมากแพงกันไปทั่ว บางสื่อไม่เพียงรายงานข่าวเรื่องนี้ตามปกติเท่านั้น หากยังมีรายงานพิเศษที่วิเคราะห์เจาะลึกอีกด้วย ในขณะที่อีกบางสื่อก็มีการแนะนำการใช้ชีวิตในยามนี้แถมมาด้วย

ใครที่ตามข่าวนี้อยู่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไรก็ตาม ก็อย่าเพิ่งได้เบื่อเป็นอันขาด เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาเศรษฐกิจแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนละเรื่องกับภาพรวมทางเศรษฐกิจมหภาค และเหตุผลสำคัญประการหนึ่งของภาวะข้าวยากหมากแพงก็คงหนีไม่พ้นปัญหาน้ำมันแพง

แพงจนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตต่างๆ ในเรื่องต้นทุน จากนั้นก็วกเข้าหาเราท่านให้ได้เดือดร้อนกันอย่างที่เห็น

อันที่จริงเรื่องข้าวยากหมากแพงในเมืองไทยนั้นใช่ว่าจะเพิ่งเกิดในช่วงนี้สมัยนี้ เมื่อหลายสิบปีก่อนก็เคยเกิดมาแล้ว ฉะนั้น ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงในแต่ละช่วงว่าประกอบไปด้วยปัจจัยอะไรบ้าง แต่ที่ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงแล้ว คนที่เป็นผู้นำเขาคิดอ่านกันอย่างไรในอันที่จะแก้ปัญหานี้ ไม่ว่าจะทั้งเฉพาะหน้าหรือระยะยาว

ก่อนที่ผมจะว่ากันในเรื่องนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแยกให้เห็นก่อนว่า ภาวะข้าวยากหมากแพงนี้เป็นคนละเรื่องกับข้าวของแพงตามฤดูกาล ฉะนั้น ถ้าผู้นำของประเทศแนะนำทางออกในเรื่องนี้แล้วก็ย่อมเป็นคนละเรื่องกับการแนะนำเรื่องข้าวยากหมากแพง

ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยที่ คุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อยู่มาวันหนึ่งมะนาวก็ขึ้นราคาจาก 5 บาทหลายลูก มากลายเป็นลูกละ 5 บาท ก็รู้กันอยู่นะครับว่าเป็นเรื่องปกติของมะนาว ที่พอหมดฤดูกาลของมันแล้วก็จะขาดแคลน จากนั้นราคาก็ขึ้นตามอุปสงค์อุปทานของตลาด
จำได้ว่า ตอนนั้น คุณบรรหาร ได้แนะนำว่า ในยามที่มะนาวแพงเช่นนี้ก็ให้ใช้มะม่วง (เปรี้ยว) แทนไปก่อน

เท่านั้นแหละครับ ทั้งชนชั้นกลาง (ที่ไม่ชอบ คุณบรรหาร เป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว) ทั้งสื่อ (ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นกลาง) รวมตลอดจนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามต่างก็ออกมา “รุมสกรัม” คุณบรรหาร กันเสียยกใหญ่

เรื่องนี้ผมออกจะเห็นใจ คุณบรรหาร ไม่น้อย เพราะจริงๆ แล้วที่ คุณบรรหาร แนะนำนั้นเป็นเรื่องที่ชาวบ้านต่างจังหวัดเขาก็ปฏิบัติกันเป็นปกติอยู่แล้วในฤดูที่มะนาวขาดแคลน แต่บังเอิญว่าข้อแนะนำของ คุณบรรหาร ไม่ต้องด้วยจริตของชนชั้นกลางที่ยังไงๆ ก็ต้อง “แดก” มะนาวราคาถูกให้ได้ คุณบรรหาร จึงซวยไปโดยใช่เหตุ

จริตของชนชั้นกลางทั้งเวลานั้นและเวลานี้ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่มีนัยสำคัญมาก เพราะเป็นจริตที่ใช่เพียงจะเกิดขึ้นจากการถือตนว่ามีอำนาจซื้อและจะต้องซื้อด้วยราคาที่ถูกเท่านั้น หากยังเป็นจริตที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของชีวิตคนเมืองที่ทำอะไรไม่เป็นหลายอย่างอย่างที่ควรจะทำเป็น หรืออย่างน้อยคนไทยสมัยก่อนก็ทำเป็น

และ 1 ในที่ทำไม่เป็นนั้นก็คือ การทำกับข้าวกินเอง

เรื่องนี้เรื่องใหญ่นะครับ เพราะใครที่ทำกับข้าวเป็นนั้น อย่าว่าแต่การใช้มะม่วงเปรี้ยวในยามที่มะนาวขาดแคลนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเลยนะครับ เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นและสำคัญมากๆ ต่อหลักเศรษฐศาสตร์ก็คือ คนที่ทำกับข้าวเป็นนั้นจะรู้ดีว่าจะช่วยในเรื่องของความประหยัดได้มากแค่ไหน ทั้งนี้ยังไม่นับผลอื่นๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่อาจตามมา อย่างเช่นผลที่เกี่ยวพันกับสุขภาพ เป็นต้น

อย่างหลังนี้ก็เช่น การมั่นใจได้ว่ากับข้าวที่ตนทำนั้นไม่ได้ใส่ผงชูรส ซุปก้อน หรือผงปรุงรสเป็นว่าเล่นดังที่ซื้อกินอย่างแน่นอน

เมื่อคำแนะนำของ คุณบรรหาร ไม่ใช่คำแนะนำในยามข้าวยากหมากแพงแล้ว ที่นี้เราก็มาดูคำแนะนำในยามข้าวยากหมากแพงกันบ้าง ว่าท่านผู้นำแนะนำกันอย่างไร

ครับ....คุณสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีแนะนำว่าให้กิน “โครงไก่ต้มฟัก” (ซึ่งคงหมายถึงอะไรอื่นอีกด้วยที่มีราคาถูก)

ถึงแม้ว่า คุณสมัคร จะแนะนำในฐานที่เป็นคนทำกับข้าวกินเองก็จริง แต่ผมคิดว่าคำแนะนำของ คุณสมัคร ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการทำกับข้าวเป็นหรือไม่เป็น แต่ที่ผมคิดว่าเกี่ยวแน่ๆ ก็คือ เรื่องของวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง “โครงไก่ต้มฟัก”ต่างหากที่น่าคิดมากๆ

ที่ผมคิดเช่นนั้นก็เพราะคำแนะนำของ คุณสมัคร ทำให้ผมคิดถึงคำแนะนำของ คุณประภาส จารุเสถียร ในสมัยที่จอมพลผู้นี้ยังเรืองอำนาจ (เผด็จการ) ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา

ตอนนั้นก็เกิดเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพงไม่ต่างกับตอนนี้ และยังเป็นผลมาจากปัญหาน้ำมันอีกด้วย ทั้งนี้ คุณประภาส ได้แนะนำให้คนไทยกิน “กล้วยน้ำว้า” แทนข้าวบ้างในบางเวลา

แม้จะเห็นได้ชัดว่า โครงไก่ต้มฟักกับกล้วยน้ำว้านั้นต่างกันคนละเรื่องก็ตาม แต่ที่เหมือนกันก็คือ วิธีคิดของผู้นำทั้งสอง

กล่าวคือว่า หากไม่นับในแง่สารัตถะที่ทั้งสองดูเหมือนกันตรงที่ออกจะเหยียดๆ คนไทยด้วยกันเองว่าไม่รู้จักกินรู้จักใช้แล้ว (โดยเฉพาะชนชั้นกลาง) พ้นไปจากโครงไก่โครงนั้นหรือกล้วยน้ำว้าหวีนั้น ผู้นำทั้งสองก็ไม่มีความรู้ (หรือที่เรียกกันหรูๆ ว่าวิสัยทัศน์) ที่จะแนะนำหรือบอกกล่าวถึงการแก้ปัญหาระยะยาวอีกเลย และคนที่ทำก็คือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ เช่นกัน

น่าสังเกตก็ตรงที่ว่า วิธีคิดดังกล่าวมักจะปรากฏกับผู้นำที่มีบุคลิกภาพที่หยิ่งทนงตน จนบ่อยครั้งก็มองไม่เห็นหัวคนอื่น หรือไม่ก็ดูถูกและพูดจาตอบโต้คนอื่นโดยไม่จำเป็น (ยังไม่นับคำตอบโต้ที่ไม่ได้สะท้อนสติปัญญาอะไร นอกจากความโง่)

และที่สำคัญคือ เป็นผู้นำที่นิยมใช้อำนาจเป็นธรรมมากกว่าที่จะใช้ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ว่าจะในทางกาย วาจา และใจ

ผู้นำจำพวกนี้สามารถพบได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ และทั้งในอดีตและปัจจุบัน

เหตุดังนั้น ในกรณีของ คุณประภาส นั้นจึงยังพอเข้าใจได้ เพราะท่านไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และดูท่านเองก็ไม่นิยมการเลือกตั้งเสียด้วย (นอกจากอำนาจของปากกระบอกปืน) กล้วยน้ำว้าของท่านจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ท่านต้องจบเห่ทางการเมืองไปในที่สุด

แต่กับ คุณสมัคร แล้วท่านมาจากการเลือกตั้ง ฉะนั้น ผมจึงไม่แน่ใจว่า กรณีโครงไก่ต้มฟักของ คุณสมัคร จะทำให้คนที่เลือกท่านมาเป็นนายกฯ เห็นดีเห็นงามไปกับท่านด้วยหรือไม่

เพราะถ้าไม่เห็นด้วย คุณสมัคร ก็อาจอยู่ไม่ยาว แต่ถ้าเห็นด้วย คุณสมัคร ก็อยู่ยาว

และถ้า คุณสมัคร อยู่ยาวก็แสดงคนที่รักและเลือก คุณสมัคร ก็คงจะสมัครใจที่จะกินโครงไก่ต้มฟักตามที่ คุณสมัคร แนะนำกันอย่างพร้อมหน้ากันต่อไป ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ผมก็คิดว่า คุณสมัคร เป็นนายกฯ ที่โชคดีที่สุดในโลกที่มีคนรักจนเชื่อท่านได้ถึงขนาดนั้น

ครั้งหนึ่งโลกเราเคยมีผู้นำที่โชคดีอย่างนั้นมาก่อนแล้ว นั่นคือ ฮิตเลอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น