xs
xsm
sm
md
lg

ไทยตื่นแผนพัฒนา “เสือเหลือง”ชิดชายแดน ถกปรับยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์รับการแข่งขัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ ระบุว่า ท่าเรือสงขลา มีการใช้ประโยชน์มากเกินขีดความสามารถจะรองรับได้  จนทำให้เกิดความแออัด
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – สกว.เปิดเวทีถกทิศทางการพัฒนาลอจิสติกส์ไทยให้เท่าทันการพัฒนาประเทศ ทางตอนเหนือของมาเลเซีย ชี้การบริหารจัดการด้านลอจิสติกส์ไทยยังต่ำ เน้นการลงทุนก่อสร้างเป็นหลัก แต่มีการใช้ประโยชน์น้อย พบท่าเรือสงขลาใช้งานโอเวอร์โหลด แต่อีกหลายแห่งใช้ประโยชน์น้อย เอกชนแนะรัฐเร่งทำความเข้าใจการเป็นคู่แข่งภายใต้การพึ่งพา เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมรองรับผลผลิตภายในประเทศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมเสวนาเรื่องทิศทางการพัฒนาลอจิสติกส์ไทย-มาเลเซียในมุมมองของคนในพื้นที่ ณ ห้องเก้าเส้ง โรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อรับทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากแผนพัฒนาของมาเลเซีย และนำไปสู่ทิศทางการปรับนโยบายหรือแผนพัฒนาภาคใต้และเขตชายแดนใต้ให้เท่าทัน

จากข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูตกรุงกัวลาลัมเปอร์ ระบุว่า มาเลเซียมีแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคเหนือ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อพัฒนาภาคเหนือของมาเลเซีย ได้แก่ รัฐปะลิส รัฐเประ รัฐเกดะห์ และรัฐปีนัง เป็นการปรับการพัฒนาเขตภาคเหนือของมาเลเซียจากเขตการเกษตรเป็นเขตลอจิสติกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และเขตการท่องเที่ยวภายในปี 2568

ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างงานใน 4 รัฐทางภาคเหนือจำนวน 500,000 คน ภายในปี 2555 และเป็น 1 ล้านคนในปี 2561 ภายใต้งบประมาณสนับสนุนราว 177 พันล้านดอลลาร์มาเลเซีย (ประมาณ 1,770 พันบ้านบาท) โดยเฉพาะการขยายสนามบินและท่าเรือ รวมทั้งสร้างศูนย์การขนส่งที่เมืองบัตเตอร์เวิธท์ (Penang Sentral) ด้วยงบประมาณกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์มาเลเซีย (ประมาณ 20,000 ล้านบาท) ซึ่งจะรวมสถานีรถไฟ สถานีขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ บนพื้นที่ 557,419 ตารางเมตร

นายประพันธ์ มุสิกพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ เปิดเผยว่า ได้มีการกำหนดให้ภาคใต้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ประเทศ ที่จะเปิดประตูเศรษฐกิจสู่ต่างชาติไม่ใช่เฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น จนนำไปสู่การผลักดันให้สงขลาและสตูลเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ ซึ่งมีผลผลิตภาคเกษตรเป็นวัตถุดิบหลัก และต่อยอดให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นให้ได้ โดยใช้เขตเศรษฐกิจชายแดนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงทางการค้า

เมื่อมองกลับมายังโครงสร้างพื้นฐานของภาคใต้พบว่า ไม่ใช้ศักยภาพด้านที่ตั้งอย่างเต็มที่ทั้งระบบ เช่น ท่าเรือซึ่งมีการใช้ประโยชน์เกินความสามารถรองรับถึง 3 ท่า คือท่าเรือสงขลาซึ่ง ปี 2550 พบว่ามีท่าเรือน้ำลึกสงขลามีสินค้าผ่านประมาณ 1.8 ล้านตัน ทั้งที่รองรับได้เพียง 1.0 ล้านตันเท่านั้น ทำให้เกิดการแออัด เสียเวลารอและมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม, ตรัง และสุราษฎร์ธานี ขณะที่มีการใช้ประโยชน์น้อยอีก 3 ท่า คือ ที่ ภูเก็ต, ระนอง และสตูล เป็นต้น

ด้านนายชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน )เปิดเผยว่า แม้ว่ามาเลเซียเป็นชาติ ที่ต้องนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคแทบทุกชนิด โดยเฉพาะจากไทยซึ่งส่งสินค้าเกษตร และอาหาร แต่ประเทศมาเลเซียก็สามารถวางตำแหน่งให้แก่เศรษฐกิจของตัวเองให้สู่การผลิตขั้นทุติยภูมิ นำสินค้านำเข้ามาเพิ่มมูลค่าและส่งออกต่างประเทศได้ดีมากกว่าประเทศไทย ทำให้สินค้าหลายอย่างที่ผลิตภายในประเทศแต่ส่งออกผ่านมาเลเซียและถูกสร้างแบรนด์ใหม่ก่อนส่งออก ดังนั้น จึงไม่อยากให้ไทยพอใจแค่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่การส่งออกนั้นไม่ได้นำสินค้าไปสร้างมูลค่าดังเช่นที่ประเทศมาเลเซียทำ

“ไทยมีต้นทุนได้เปรียบหลายอย่างในด้านเศรษฐกิจ ทั้งเป็นพื้นที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง ซึ่งนำไปสู่การติดต่อขนส่งได้ แต่ปัญหาหลักต่อการพัฒนาด้านลอจิสติกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานที่จะวางแผนดำเนินการและควบคุมการไหลของสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การพัฒนาที่ต่างคนต่างทำ โดยกระทรวงต่างๆ ไม่หันหน้ามาพูดคุยร่วมวางแผนอย่างบูรณาการ ” นายชัยวุฒิกล่าวต่อและว่า

ขณะนี้ประเทศมาเลเซียมีแผนการพัฒนาทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งติดกับพรมแดนไทยที่เรียกว่า Northern Corridor Economic Region : NCER และพัฒนาสร้างเมืองใหม่พัฒนาอย่างเต็มที่รอมาเชื่อมกับไทยที่ด่านบ้านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ซึ่งมีความคืบหน้าแล้ว 80% ขณะที่ฝั่งไทยยังไม่ได้ทำอะไร และเล็งเห็นว่าไทยมีโอกาสสูงที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ อ.จะนะ จ.สงขลา รองรับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยมีแลนบริดจ์เชื่อมทั้ง 4 จังหวัดแล้ว

เขายังมองอีกว่า โอกาสของการเกิดท่าเรือน้ำลึกปากบารา ยังมีน้อยมาก เพราะสร้างแล้วแทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร และคงจะไม่ทำท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง เพราะเป็นเงินมหาศาล ซึ่ง จ.สตูลนั้น หากพิจาณาให้ลึกซึ้งแล้วมีศักยภาพที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวสร้างมูลค่าได้มหาศาลกว่าสร้างท่าเรือน้ำลึก เพราะเป็นแหล่งดำน้ำที่มีความสวยงามบริสุทธิ์ ของธรรมชาติดีที่สุดในอันดามัน

“ปัญหาของไทยที่ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนา คือควรจะลดอีโก้และทำความเข้าใจการเป็นคู่แข่งระหว่างไทยกับมาเลเซีย ภายใต้การพึ่งพาผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายในระยะยาว เพราะอย่างไรเสียก็ยังเป็นเพื่อนบ้านที่ต้องมีความสัมพันธ์อีกยาวนาน” นายชัยวุฒิกล่าว

สำหรับด่านประกอบ จ.สงขลา เกิดจากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-มาเลเซีย โดยได้ตกลงที่จะสร้างด่านประกอบเพื่อเชื่อมการค้าขายซึ่งกันและกัน โดยมาเลเซียได้ทุ่มเงิน 8,000 ล้าน เพื่อสร้างเมืองรองรับล่วงหน้า และใช้เงินอีก 800 ล้านพัฒนาพื้นที่ด่าน ซึ่งจะเปิดในเดือนกรกฎาคม 2551

สาเหตุที่ไทยยังไม่มีความคืบหน้า เพราะจากข้อตกลงดังกล่าว ทำให้มาเลเซียได้ประโยชน์ 70% แต่ไทยได้รับประโยชน์เพียง 30% ทำให้โครงการไม่มีความคืบหน้ามากนัก แต่ท้ายที่สุดก็ต้องทำตามข้อตกลง โดย จ.สงขลา ได้พยายามผลักดันการก่อสร้างด้วยงบประมาณ 434 ล้านบาท ด้วยความหวังว่าจะสามารถแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น