xs
xsm
sm
md
lg

คนดีชอบแก้ไข คนแบบไหนทำผิดแล้วจะแก้รัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ได้อาศัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความวิตกกังวลเรื่องที่พรรคพลังประชาชนอาจจะถูกยุบพรรค โดยพยายามผูกโยงสร้างภาพให้ดูน่าสะพรึงกลัวว่า หากยุบพรรคก็เท่ากับทำลายประเทศไทย ประเทศชาติจะเสียหาย ผู้คนจะไม่มาลงทุน พร้อมทั้งมีการทำโพลล์สำรวจให้ได้ผลออกมาว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค

ในที่สุด เมื่อเห็นว่า พรรคการเมืองของตนมีแนวโน้มที่อาจจะถูกดำเนินคดียุบพรรค แกนนำพรรคพลังประชาชนก็ออกมาเปิดเผยว่า จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรค 2 เพื่อหวังให้ตนเองและกรรมการบริหารพรรคพ้นผิด

ประเด็นที่เราต้องรู้ทัน มีดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ผ่านการทำประชามติ เมื่อ 19 ส.ค.2550 ประกาศใช้เมื่อ 24 ส.ค.2550 ก่อนที่ผู้บริหารพรรคผู้ใดของพรรคชาติไทย มัชฌิมาฯ และพลังประชาชน จะกระทำความผิดถึง 4 เดือน

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่ได้ร่างขึ้นเพื่อจำเพาะเจาะจงจะเอาผิดหรือกลั่นแกล้งผู้ใดพรรคใด เพราะไม่รู้ว่าใครจะประพฤติชั่วบ้าง แต่มุ่งจะเอาผิดกับผู้ใดหรือพรรคใดก็ตามที่กระทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างอุกอาจ

เท่ากับว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน กรรมการบริหารพรรคทุกคน และพรรคการเมืองทุกพรรค ล้วนรับรู้ รับทราบถึงกติกาที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง เท่าเทียมกัน ดังนั้น เมื่อมีบางพรรคเอาเปรียบ เล่นตุกติก เล่นนอกกติกา กระทำผิดรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังจะได้จำนวน ส.ส.มากๆ และให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ในขณะที่พรรคอื่นๆ เคารพรัฐธรรมนูญ กระทำตามกติกา ก็ควรจะต้องลงโทษตามกฎหมายตามกติกาในรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้น ต่อไป ทุกคนทุกพรรคก็จะพยายามเอารัดเอาเปรียบกัน เล่นสกปรก เล่นตุกติก ทำทุกวิถีทาง รวมทั้งวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเอาชนะ เพื่อเข้ายึดครองอำนาจรัฐ จากนั้น ก็ไปแก้กติกาภายหลัง เพื่อให้ตนเองพ้นผิด

การอ้างว่า จะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกลั่นแกล้ง เอาผิดพรรคพวกตน จึงเป็นการอ้างแบบหน้าไม่อาย เปรียบเทียบได้กลับขโมยขึ้นบ้านที่ติดตั้งสัญญาณกันขโมยเอาไว้ เมื่อสัญญาณกันขโมยดัง โจรก็อ้างว่าระบบกันขโมยเป็นระบบที่จงใจกลั่นแกล้งตน

การที่พรรคพวกของตนกระทำผิด แล้วไปโทษว่ารัฐธรรมนูญไม่ดีก็เช่นกัน แทนที่จะโทษการกระทำผิดกฎหมายของพวกตนเอง ยอมรับกรรมตามกฎหมาย กลับไปคิดว่าการกระทำชั่วของพวกตนนั้นเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องแล้ว แต่รัฐธรรมนูญไม่ดี เพราะไปห้ามไม่ให้ทำชั่ว


2. ขณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและได้รับคำแนะนำจากคนจำนวนมากว่า ให้กำหนดโทษสำหรับคนทำผิดซื้อสิทธิขายเสียง โดยเฉพาะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่รู้เห็นเป็นใจกับการซื้อเสียงและผู้บริหารพรรคที่ปล่อยปละละเลย ไม่ป้องกันดูแล หรือแก้ไขเยียวยา สภาร่างรัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดบทลงโทษในมาตรา 237 วรรค 2 ดังที่ปรากฏ และกำลังจะถูกพรรคพวกของผู้กระทำผิดแก้ไข

3. ก่อนลงประชามติ ได้มีการถกแถลงถึงประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ ว่าควรรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ผมได้ขึ้นเวทีถกเถียง (ดีเบต) กับคนของระบอบทักษิณ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวถึงว่าจะเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติ

4. โดยปกติ การเขียนกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ อาจจะมีบางมาตรา บางวรรค มีถ้อยคำไม่ต้องตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงแบบทุกตัวอักษร เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีวันรู้ล่วงหน้าในรายละเอียดว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่กฎหมายและรัฐธรรมนูญก็สามารถใช้บังคับได้ เพราะเปิดโอกาสให้ตีความว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงนั้นเข้าข่ายตามบทบัญญัติหรือไม่ โดยยึดถือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก บิดเบือนไม่ได้

ครั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรค 2 บัญญัติว่า

“...ถ้าการกระทําของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อไดวาหัวหนาพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผูใด มีสวนรูเห็น หรือปลอยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทํานั้นแลว มิไดยับยั้งหรือแกไขเพื่อใหการเลือกตั้งเปนไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ใหถือวาพรรคการเมืองนั้นกระทําการเพื่อให ไดมาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิไดเปนไปตามวิถีทางที่บัญญัติไวในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68..”

เป็นการเขียนกฎหมายที่มีถ้อยคำรัดกุม ชัดเจน ตรงตามเจตนารมณ์ ดิ้นไม่ได้เลย

คำว่า “กรรมการบริหารพรรคผู้ใด หมายถึง กรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งคนใด หรือผู้หนึ่งผู้ใด คนเดียวกระทำผิดก็ได้

คำว่า ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้น” ก็หมายความว่า เท่ากับว่าพรรคการเมืองนั้น โดยไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีก เหมือนกับ ถ้าบอกว่า “เหตุฆ่ากันตายที่เกิดบนเรือไทยให้ถือว่าเหตุเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย” ย่อมหมายความว่า เมื่อเกิดเหตุฆ่ากันตายบนเรือไทย ไม่ว่าจะแล่นอยู่ในน่านน้ำประเทศไหน ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายไทย ไม่ต้องพิสูจน์ว่าเกิดในราชอาณาจักไทยหรือไม่อีก เป็นต้น ต่างกับคำว่า “ให้สันนิษฐานว่า” ซึ่งมีความหมายว่า ให้สงสัย และต้องพิสูจน์ข้อสงสัยนั้นต่อไป โดยเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยได้ชี้แจง พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง แล้วศาลจึงตัดสินว่า ข้อสันนิษฐานหรือข้อสงสัยนั้นถูกต้องหรือมีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรค 2 ดังกล่าว จึงรัดกุม ตรงประเด็นอย่างชัดเจน ตีความเป็นอื่นไม่ได้เลย บิดพลิ้วไม่ได้เลย ใช้เลห์ตีความแบบศรีธนญชัยไม่ได้เลย ดังนั้น การที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ออกมากล่าวว่า “รัฐธรรมนูญเขียนรัดคอ จน กกต.ไม่สามารถพิจารณาให้ความเป็นธรรมได้” ความจริงน่าจะกล่าวว่า “เขียนไว้ชัดเจน รัดกุม จนใช้เล่ห์ศรีธนญชัยตีความเป็นอื่นไม่ได้”

5. หากมีการยุบพรรคจริงๆ ผู้เดือดร้อน คือ ผู้บริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการบริหารพรรคการเมืองของตนเอง ต้องเว้นวรรคจากการเมือง 5 ปี (ไปทำมาหากินอย่างอื่นได้ตามปกติ) ส่วน ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ก็สามารถย้ายไปสังกัดพรรคอื่นๆ ได้ และทำหน้าที่ผู้แทนของประชาชนต่อไปได้ตามปกติ

ประเทศชาติ จึงไม่ได้จะย่อยยับอัปปางไปเพราะการยุบพรรคการเมือง อย่างที่คนของพรรคพลังประชาชนพยายามอ้าง กิจการสาธารณประโยชน์ต่างก็ดำเนินต่อไปตามปกติ (จริงๆ แล้ว การยุบเลิกรัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่ายุบพรรคการเมืองเสียอีก)

การอ้างว่า นักลงทุนชะงัก ความเชื่อถือของต่างชาติลดลง ก็เป็นข้ออ้างแบบหมอเดามากกว่าหมอดู หรือหมอรักษาเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์เฉพาะคนไม่กี่คนต่างหากที่จะสะท้อนให้ชาวโลกเห้นว่า ประเทศไทยไม่ปกครองโดย “นิติรัฐ นิติธรรม” ถ้าคนของผู้มีอำนาจรัฐเสียประโยชน์ก็จะแก้กฎหมายหรือแม้แต่รัฐธรรมนูญให้พรรคพวกตนเองได้รับประโยชน์ ทำอย่างนี้ นักลงทุนทั่วโลกจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าผู้มีอำนาจกลุ่มนี้จะไม่แก้ไขกฎเกณฑ์บางประการในอนาคตเพื่อให้เฉพาะพรรคพวกตนเองได้ประโยชน์ หรือกลั่นแกล้งทำให้นักลงทุนทั่วไปเสียเปรียบพรรคพวกของตน

6. สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ สอนสุนัขให้กินอุจจาระ แนะนำวิธีแก้รัฐธรรมนูญให้พรรคพวกของตนไม่กี่คน ได้รับประโยชน์ มี 4 ช่องทาง ดังนี้

(1) ทำรัฐประหารตัวเองเสียเลย เพื่อจะได้อ้างอำนาจรัฐประหารยกเลิกกฎหมายหรือคำสั่งใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อตนและพวกพ้อง อย่าว่าแต่ให้พรรคพ้นผิดเลย จะให้ทักษิณและพวกพ้นผิดก็ได้ หรือจะยุบสถาบันองค์กรอื่นๆ ก็ย่อมได้ ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ

แต่ขอเตือน มิให้ใช้วิธีนี้ เพราะเสี่ยงต่อการเสียเลือดเนื้อของคนในชาติ

(2) คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเป็นผู้เสนอแก้ไข แต่อาจจะโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่า “คิดได้แค่นี้เองหรือ” เพราะเห็นๆ กันอยู่ว่า รัฐมนตรีหลายคนเป็นกรรมการบริหารพรรคผู้ได้รับประโยชน์ หรือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตรง ชาวบ้านอาจจะหยามหน้าได้ว่า ใช้อำนาจรัฐเพื่อตัวเอง

6.3 พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอแก้รัฐธรรมนูญเข้าสภา แต่ย่อมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรรมการบริหารพรรคการเมืองใช้รัฐสภาฟอกความผิดให้กับตนเอง

6.4 พรรคพลังประชาชน ชาติไทย มัชฌิมาฯ ไปหาประชาชนมาเข้าชื่อให้ได้ 50,000 ชื่อ เพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แนวทางนี้น่าจะดูดี ตบตาคนไทยและชาวโลกได้เนียนที่สุด โดยอ้างว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนขอมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนเรียกร้อง ประชาชนต้องการให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นผิด จะได้มีบุคลากรอันทรงคุณค่า เพราะคนกลุ่มนี้คือคนเก่งคนดีที่สุดของประเทศไทยทั้งชาติ

เพื่อความแนบเนียน ควรเลือกแนวทางที่ 4 แต่ก็โดยแก้มาตราอื่นๆ ด้วย เพื่อกลบเกลื่อนความสนใจของสาธารณชน และหาแนวร่วมเพิ่มเติมได้ง่ายๆ คล้ายกับอาบอบนวด ที่ให้มีการอาบน้ำ มีการนวด ก็เพียงเพื่อกลบเกลื่อนการขายบริการทางเพศ หรือ ทำให้ “ซ่อง” ดูดีขึ้นนั่นเอง

แต่ที่สุดแล้ว ประเด็นแก้ไขอื่นๆ จะสำเร็จหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่า กรรมการบริหารของพรรคพวกตนจะต้องพ้นผิดเท่านั้น เช่นเดียวกับการได้อาบน้ำหรือได้นวดหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่าได้ร่วมเพศเท่านั้นก็พอ

สุดท้าย คนเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. พึงสำเหนียกว่า ประชาชนเลือกให้มาเป็น “ผู้แทน” เพื่อให้คอยฟังเสียงประชาชน แล้วนำความต้องการของประชาชนไปถ่ายทอดหรือปฏิบัติในสภา “แทนประชาชน” มิใช่ว่า ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว จะคิดเอง ตัดสินใจเอง ทำเอง เหมือนประชาชนยกประเทศทั้งหมดให้แล้วจะทำอะไรก็ได้

ขนาดนายจ้างหรือนายทาส ก็ยังตัดสินใจแทนลูกจ้างหรือข้าทาสของตนเองไม่ได้ทุกเรื่อง

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ใช้บังคับกับคนทุกคน และอยู่เหนือกฎหมายทุกฉบับ ใครจะแก้ไขตามอำเภอใจ เพียงเพื่อพวกพ้องของตนไม่กี่คน ทำลายความเป็นนิติรัฐและนิติธรรม ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

รัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการลงประชามติของประชาชน หากจะมีการแก้ไข ก็ควรจะต้องมีการศึกษาและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มผลประโยชน์ อย่างกว้างขวางและถ้วนถี่ ไม่น้อยไปกว่าตอนที่มีการร่างขึ้นมา และเมื่อมีการแก้ไขแล้ว ก็ควรจะมีการลงประชามติในส่วนที่แก้ไขนั้นเสียก่อนที่จะใช้บังคับกับประชาชนทุกคน

แต่การจะแก้ไขใดๆ จะต้องไม่มีผลเป็นการล้มล้างความผิด หรือการกระทำความผิด ที่เกิดขึ้นก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่อย่างเด็ดขาด

ไม่เช่นนั้น ต่อให้แก้และร่างใหม่กี่ครั้ง เมื่อคนกระทำผิด กระทำชั่ว จนได้มีอำนาจรัฐแล้ว ก็จะใช้อำนาจรัฐแก้รัฐธรรมนูญเพื่อรับรองความชั่วของตนให้เป็นมาตรฐานของประเทศ

แบบนี้ แม้มิใช่วงจรอุบาศน์ของการรัฐประหาร แต่ก็เลวร้ายยิ่งกว่าเสียอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น