xs
xsm
sm
md
lg

แฉ ส.ว.ชุด"สภาทาส"สุดเละ ถูกการเมืองจูง - ตบทรัพย์ - พก"กิ๊ก"ไปนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ชุมพล"แฉแหลก ส.ว.สภาทาสชุดปี 43 แตกแยก การเมืองแทรก ตบทรัพย์ พกกิ๊กไปนอก วอน ส.ว.ปี 51 อย่าเดินซ้ำรอยชั่ว เชื่อ"ประสพสุข"ไม่ใช่เด็ก คมช. หวั่น 3 ปีให้หลัง ส.ว.เลือกตั้งคุมสภา

การสัมมนาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) วันที่ 2 ที่โรงแรมมารีออคิด รีสอร์ท แอนด์ทาวเวอร์ พัทยา จ.ชลบุรี ได้มีการสัมมนาในหัวข้อ "บทบาท อำนาจ หน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญและบทบาทในกรรมาธิการ (เชิงประสบการณ์) " โดยมีนายชุมพล ศิลปอาชา อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นวิทยากร

นายชุมพลกล่าวว่า ส.ว.ชุดปี 2543 กับปี2551 แตกต่างกันเพียงที่มาเท่านั้น อย่างไรก็ตามส.ว.ปี 43 หลังจากที่ได้ประธานวุฒิสภาแล้ว มีการแบ่งออกเป็นกลุ่ม เป็นภาค สายข้าราชการ สายหมอ สายนิติศาสตร์ สายรามคำแหง ซึ่งส.ว.ปี 51 คงน้อยกว่า แต่คิดว่าจะมีคนชักใยเหมือนกัน โดยจะมีนักการเมืองใหญ่ เชิญไปทานข้าว มีการรวมกลุ่ม รวมแก๊ง มีหัวคิว มีการต่อรองเหมือนกัน ตนเองโดนมาก เชิญไปรับประทานอาหารตามที่ต่างๆ มีการตั้งกลุ่ม ตั้งก๊วนมารวมให้ได้เป็น 10 เสียง และขอเสนอให้มีสวัสดิการให้ ส.ว.ต่างจังหวัด ขอรถ บ้าน ไปทัวร์เมืองนอก พร้อมพอกเก็ตมันนี่ หรือการขอให้ช่วยคดี ซึ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในปี43 ซึ่งของส.ว.ปี 51 คงเป็นอีกแบบ

นายชุมพล กล่าวว่า ในการเลือกประธาน ทั้งประธานวุฒิฯ และประธานคณะกรรมาธิการ จะมีการรวบรวมคนโดยคนที่ต้องการจะเป็นประธานจะเป็นตัวการใหญ่ มีการวิ่งเกณฑ์คนว่า จะยึดคณะกรรมาธิการใด ซึ่งคมนาคม เกษตร และสหกรณ์ หรือคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับเศรษฐกิจ พยายามระดมคนให้มากเข้าไว้ เพราะมีผลประโยชน์สูง รวมถึงคณะกรรมมาธิการชุดอื่นๆ ด้วย

การกระทำดังกล่าวทำให้การทำงานของส.ว.โดยรวมไม่มีประสิทธิภาพ และคุณภาพ เพราะส.ว.คนเดียว เป็นกมธ.หลายคณะ อีกทั้งการทำงานยังซ้ำซ้อนกับส.ส. ซึ่งไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะส.ว.เป็นได้สมัยเดียว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องไปทดแทนบุญใครมากนัก และขอเสนอว่า ส.ว.ควรอยู่ กมธ.ได้คนละ 3 คณะเท่านั้น

ทั้งนี้การเลือกประธานวุฒิฯ หรือประธานกมธ. ควรเลือกคนที่มีความสามารถ ซึ่งมีคนแก่งแย่งกันมาก เพราะได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกปี ทั้งนี้ ขอร้องว่าอย่าไปเกณฑ์คนไปถล่มฝ่ายตรงข้าม ต้องเลือกกันตามธรรมชาติ ซึ่งการเลือกประธาน ส.ว. ที่ผ่านมา ส.ว. ทำได้ดี แต่ก็คิดว่า หากรู้จักกันมากกว่านี้ อาจจะไม่เป็นแบบนี้ก็ได้

การเลือกประธานวุฒิฯ ครั้งนี้ไม่มีใบปลิวเถื่อนปลิวให้ว่อน ขุดโคตรเหง้ามาเล่นกัน เหมือนที่ตนเองเจอ นายชุมพล กล่าวว่า ผู้ที่ต้องจับตาและระวังให้มากที่สุดคือ ตำแหน่งประธานวุฒิฯเพราะเป็นคนที่มีบทบาททั้งการต่อสาย การคุมเกม ทั้งนี้ ส.ว. ปี 43 ถูกเรียกว่า"สภาทาส" ซึ่งมี 2-3 คนเท่านั้น และขอยกตำแหน่งนี้ให้ประธานวุฒิฯ คนที่แล้ว ที่มีการต่อสายอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นว่าเล่น การปรบมือให้นายกฯ การตั้งน้องนายกฯ เป็นที่ปรึกษา หรือไปเปิดประตูรถให้นายกฯ เรื่องแบบนี้อย่าไปทำเด็ดขาด

นายชุมพล กล่าวว่า การเลือกองค์กรอิสระ จะเป็นปัญหามากกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะจะมีการล็อบบี้ เช่น การเลือก กกต. ชุด3หนา โดยให้รวมเป็นกลุ่ม มีการจ่ายเงินเดือนประจำ แต่ครั้งนี้รัฐธรรมนูญไม่ให้ ส.ว.เลือกองค์กรอิสระ แล้วคงจะตัดปัญหาไปได้มาก อย่างไรก็ตาม ส.ว.ชุดที่แล้ว ทำหน้าที่ได้ดีในช่วงเริ่มแรก โดยทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านของรัฐบาลเลยที่เดียว เช่น การคว่ำพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล รวมทั้งส.ว. ชุดที่แล้ว มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนมาก

"สำหรับท่านประสพสุขนั้น ผมไม่เชื่อตามข่าวมีข่าวว่า ท่านเป็นเด็ก คมช. เป็นกลุ่มพันธมิตรฯ มีหัวคะแนนเป็นสตรี อยู่องค์กรอิสระ มีข่าวการแจกเงินล้าน การให้รถเบ๊นซ์ การจ่ายเงินเดือน ซึ่งไม่เชื่อว่าจะเป็นตามนั้น ตรงกันข้ามสมัยผมมีแน่นอน โดยมีคนโทรมาหาผมด้วย เพราะตอนนั้นมีการแจกเงิน 42 ซองบนโรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านรัชดา และยังแจกอื่นๆ อีกหลายอย่าง"

นายชุมพล กล่าวว่า สำหรับการแสดงวิสัยทัศน์ส.ว. ปี 43 เป็นคนคิดขึ้นมา รวมทั้งการกำหนดวาระอยู่ 2 ปี ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะตำแหน่งประธานวุฒิฯ ไม่ใช่เค้กที่จะมาแบ่งกันแบบนี้ จึงขอชื่นชมนายประสพสุข ที่ไม่พูดเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง แต่ได้เปิดโอกาสให้มีการประเมินทุกปีแทน เพราะการกำหนดวาระแบบนั้น ที่ผ่านมาเกิดปัญหาว่า เมื่อครบวาระแล้วไม่ยอมลง อ้างเรื่อยไปว่าไม่ได้บอกว่าจะลาออก แต่ให้ประเมินเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมีความกังวลว่า อาจจะเกิดปัญหาการเลือกประธานวุฒิฯ อีกครั้งหลังจากที่ ส.ว. สรรหาหมดวาระ เพราะตรงนั้นอาจจะเกิดสุญญากาศที่จะมีแต่ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และอาจจะยึดตำแหน่งประธานวุฒิฯ และรองประธานทั้งหมดได้ เพราะในขณะนั้น ส.ว.สรรหาจะอยู่ในการสรรหาอยู่

"ถ้าฟังตามที่ ท่านประสพสุขบอก ตามการแสดงวิสัยทัศน์ วาระของท่านจะมี 3 ปี หากตีความตามรัฐธรรมนูญ ส.ว.สรรหา หมดวาระ 17 ก.พ. 54 ทำให้ส.ว.เลือกตั้งมีสิทธิประกาศเลือกประธานวุฒิฯคนใหม่ทันที ในวันที่ 18 ก.พ. ซึ่งขณะนั้น ส.ว.สรรหายังไม่มี เพราะการสรรหาใหม่ จะใช้เวลา 60 วัน ทำให้ตำแหน่งประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาถูก ส.ว.เลือกตั้งยึดไปหมด อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาว่า อยู่ในช่วงสมัยประชุมหรือไม่ หากตีความตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด ประธานวุฒิสภา อาจอยู่ในตำแหน่งได้ ขณะที่พ้นสมาชิกสภาพส.ว.ไปแล้ว ดังนั้นหากเป็นไปได้ ส.ว.เลือกตั้งควรจะรอให้มี ส.ว.สรรหาเข้ามาให้ครบก่อน แล้วค่อยเลือกประธานวุฒิฯจะดีกว่า" นายชุมพล กล่าว

นายชุมพล กล่าวว่า ส.ว.ปี 2543 มีการแบ่งเป็นก๊วนต่างๆ วันๆไม่ทำอะไร ชิงไหวชิงพริบกัน สุดท้ายต้องไปเจรจาต้าอ้วยกันนอกสภา คิดว่าวิธีการเหล่านี้คงไม่เกิดในส.ว.ปี 51 และขอร้องประธานวุฒิฯ ว่าอย่าทำเหมือนประธานวุฒิฯครั้งที่แล้ว โดยขอเตือนว่า อย่าไปตั้งที่ปรึกษามากถึง 33- 44 คน เพราะมันมากมายเกินไป มากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และจากการแสดงอิทธิฤทธิ์ของ ส.ว. ชุดที่แล้ว ทำให้ตนสงสารเจ้าหน้าที่มาก และที่ร้ายกว่านั้น คือการที่ประธานคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ตั้งหัวคะแนนเป็นร้อยๆ คน มาอยู่ในคณะกรรมาธิการ เพื่อเป็นการเอาใจ เพราะทุกคนอยากมีอำนาจ ซึ่งเป็นความอยากส่วนตัว รวมถึงตั้งขึ้นมาเพื่อล่าเบี้ยประชุม อีกทั้งการตั้งกมธ.มากๆ มีการแย่งห้องประชุม บางคนก็ส่งกิ๊ก ส่งเด็กเสิร์ฟ มาจองห้อง ซึ่งเป็นภาพที่น่าเกลียดมาก

"การตั้งคณะกรรมาธิการมากๆ ทำให้องค์ประชุมบางคณะไม่ครบ มีการเวียนเทียนกันลงชื่อ สุดท้ายการทำงานก็ทำไม่ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งพวกนี้จะทำเรื่องที่เป็นประเด็นร้อน เหมือนๆกัน เช่น เรื่องเครื่องบินระเบิด การทุจริตซึ่งสุดท้ายเรื่องก็หายเข้ากลีบเมฆ และอย่าไปตั้งอนุฯ กมธ. 20-30 ชุด เบี้ยประชุมทั้งนั้น สร้างความเสียหายให้กับรัฐมาก มากไปกว่านั้นคนนอกที่เข้ามาชอบพิมพ์นามบัตร เพื่อไปโชว์คนข้างนอก ส.ว.ชุดนี้อย่าทำแบบนั้นเด็ดขาด เพราะจะทำให้เราเสียหายมาก"

ส่วนการไปดูงานต่างประเทศ ส.ว.ชุดที่แล้วมีการพากิ๊กไปด้วย และที่แย่ไปกว่านั้น คือเมื่อไปถึงก็มีการยกเลิกโปรแกรมดูงานจนหมด และไปช็อปปิ้งแทน

นอกจากนี้ การทำงานของส.ว. ต้องมีความเป็นกลาง อย่าไปแตะรัฐบาลมาก อย่าไปตั้งที่ปรึกษาเกินความจำเป็น ที่ในชุดที่แล้วมีการที่ปรึกษาประธานวุฒิฯ ไปเรียกรับเงินสินบนการเลือกคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม 200 ล้านบาท แต่ถูกแฉ จนกระบวนการสรรหาต้องล้มไป รวมทั้งการเรียกรับเงินของกมธ.ต่าง ๆ เช่น กมธ. คมนาคม ที่มีผลประโยชน์มาก ขอให้ส.ว.หญิงไปอยู่กันเยอะๆน่าจะดีกว่า เพราะสิ่งล่อใจมีมาก โดยเฉพาะตัวประธาน อย่าสั่งห้ามข้าราชการไม่ให้มาให้ข้อมูล เพราะข้าราชการอึดอัดมาก

"ผมต้องชม ส.ว.43 กลุ่มเอ็นจีโอ ที่ฉุดลากกระชากลากสิ่งไม่ดีงามออก เพราะผมคิดว่า การประจานตนเองเป็นสิ่งที่ดีขององค์กร ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย การตรวจสอบของ ส.ว.ชุดนั้น เป็นผลงานที่ไปอยู่ที่ คตส. ผมขอเสนอให้มีคณะกรรมการติดตามพฤติกรรมของส.ว.ด้วยกันเองอย่างถาวร เพราะพฤติกรรมของคนทำให้องค์กรวุฒิสภาเสียหาย และควรตั้งกมธ.ตรวจสอบกฎหมายก่อนที่จะส่งยังสภาผู้แทนฯ ต้องให้คณะกรรมการชุดนี้ดูแล อย่าให้เหมือนชุดที่แล้ว ที่มีปัญหาเรื่องพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฎ ที่ผิดพลาดอย่างมาก และควรควบคุมไม่ให้มีการโหวตแทนกัน เพราะที่ผ่านมีการโหวตแทนกันในขณะที่ตัวจริงอยู่ต่างจังหวัด และขอย้ำว่า ภาพพจน์วุฒิสภาอยู่ได้ที่ตัวหัวถ้า หัวไม่กระดิก หางไม่ส่าย" นายชุมพล กล่าว

ต่อมา เป็นการอภิปรายในหัวข้อ "เทคนิคการปฏิบัติงานของสมาชิกวุฒิสภา" โดยมีนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต ส.ส.ร.และอดีต ส.ว.ปี 43 และนาง มาลีรัตน์ แก้วก่า อดีต ส.ว.กล่าวว่า เชื่อว่า ส.ว.ทุกคนในชุดนี้ไม่น่าจะให้พรรคการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพราะว่าจะถูกเพ่งเล็ง โดยเฉพาะเรื่องการสรรหารตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ตนเชื่อว่าจะมีภาคการเมืองเข้ามาแทรกแซงอย่างแน่นอน ขอให้ส.ว.ทุกคนระวังไว้ด้วย

นอกจากนี้นายเสรี ยังฝากเรื่อง ส.ว.ตรวจสอบกันเอง ถือว่ามีความกล้าหาญ ซึ่งส.ว.ปี 43 ก็เคยตรวจสอบกันเอง แต่พอตรวจสอบแล้วไม่เจออะไร เรื่องการตรวจสอบกันเอง ถือว่ามีความกล้าหาญ มีอะไรไม่ดีก็ทำเสีย ถือเป็นการตีปลา หน้าไซ ตั้งแต่เริ่มต้น ความจริงแล้วเสนอว่า น่าจะรอตอนจ่ายเงินก่อน เพราะเชื่อว่าท้ายที่สุดก็เล็ดรอดไปได้

นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังในเรื่องพิจารณากฎหมาย จะต้องมีอิสระไม่ถูกครอบงำ และใช้เวลาในการพิจาณาวาระแรกให้เร็วมากขึ้น เรื่องการยุบพรรคตนไม่แน่ใจว่าการเมืองเข้ามาแทรกหรือไม่ ทุกท่านตอนนี้มีการระวังตัวกันแจ เริ่มต้นก็มีเรื่องการจ่ายเงิน และสิ่งเหล่านี้ก็จะมีการสะสม เรื่องดี หรือไม่ดี ก็จะเป็นข่าว ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน ถ้าจะผิดก็ต้องหาหลักฐานให้แน่เอาผิด

นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีต ส.ว. สกลนคร กล่าวว่า หากมีพรรคการเมืองมาเสนออามิสสินจ้าง ก็มิควรที่จะไปรับ ซึ่งในสมัยที่ตนเป็นส.ว.มีคนมาบอกว่าจะให้อามิสสินจ้าง และมาถามว่าจะเอาเงินเดือนเท่าไร ให้พรรคการเมืองดูแลหรือไม่ ตนขอเสนอด้วยว่า การตั้งกรรมาธิการวิสามัญ นั้นไม่อยากให้เอาตัวแทนจากรัฐบาลมาทำหน้าที่ เพราะจะเกิดการแทรกแซง และจะเกิดความเกรงใจกัน และเมื่อเวลาทำอะไร ก็ไม่ค่อยจะบอกกันตามตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น