xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯตั้ง15กมธ.วิสามัญสอบจ่ายเงินซื้อเก้าอี้ปธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (21 มี.ค.) มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาสอบสวนเรื่องข่าว การให้ค่าตอบแทนในการเลือกประธานวุฒิสภา โดยนายวิเชียร คันฉ่อง ส.ว.ตรัง และคณะ เป็นผู้เสนอ เนื่องจากมีข่าวตามสื่อระหว่างวันที่ 13 และ 14 มี.ค.ว่ามีบุคคลติดต่อ ส.ว.เพื่อให้เลือกบุคคนหนึ่งเป็นประธานโดยเสนอค่าตอบแทนให้ ถือเป็นความเสื่อม ต่อระบบรัฐสภา และจะซ้ำรอย ส.ว.ในอดีต ดังนั้นวุฒิสภาชุดนี้ต้องไม่ทำอะไรเสียหาย ไม่เช่นนั้นจะเป็นตราบาป สิ่งที่เกิดขึ้น มีสมาชิกจำนวนหนึ่งได้รับการติดต่อและก็เก็บเบอร์ไว้มาเปิดเผยในสภา ฉะนั้นจึงต้องสอบสวนให้เป็นที่ประจักษ์
หลังจากสมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน โดยเฉพาะ ส.ว.ที่ได้รับเลือกจากภาคอีสานเพราะมีการกล่าวหารับเงินเพื่อสนับสนุนบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานวุฒิสภาท่านหนึ่ง และมีบุคคลนอกสภาเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นต้องตรวจสอบให้ถึงที่สุด ไม่ให้โดนตราหน้าว่าเป็นสภาทาส เหมือน ส.ว.ในอดีต พร้อมเสนอให้เอาผิดทางอาญาด้วยหากพบว่าใครเป็นผู้ดำเนินการ
ขณะที่นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม กล่าวว่าข่าวการรับเงินถือเป็น เรื่องน่าอับอายกับวุฒิสภามาก และการให้ข่าวของสมาชิกบางคนทำให้วุฒิสภาทั้งหมดเสียหาย ที่สมาชิกเลือกนายประสพสุข เพราะเห็นว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน แต่เมื่อมีข่าวออกมาเหมือนเอาสีไปสาดใส่นายประสพสุข ถ้าเกิดอีกครั้งตนจะลาออกเพราะ ทนไม่ได้กับสภาอัปยศ เนื่องจากต้องตอบคำถามต่อประชาชนว่ารับเงินมาจริงหรือไม่ ดังนั้นอย่าให้เรื่องนี้จบง่ายๆ ต้องหาคนที่สร้างเรื่องขึ้นมา
ด้านนาย ทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็น 1 ในอดีตผู้ได้รับการเสนอชื่อ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ข่าวการให้ทรัพย์สิน เป็นข่าวที่คลุมเครือมาตลอด ไม่ทราบว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตนไม่สบายใจมาตลอด ดังนั้นการตั้งกรรมาธิการ ตรวจสอบดีที่สุด เพื่อศักดิ์ศรีของสมาชิกและองค์กร
ด้านนาย ประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ข่าวที่ลงระบุว่า คนที่จ่ายเงิน มีตัวย่อ ป. เป็นอดีตนักการเมือง ตนเป็นอดีตส.ส.และยุติบทบาทไปนานแล้วจนมาสมัครเป็นส.ว. ข่าวที่ออกมาทำให้มีคนโทรมาสอบถามตนมากมาย ซึ่งยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้อง และขอสนับสนุนให้สอบสวนเรื่องนี้จนถึงที่สุด
ฝ่ายนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นผู้ออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าวอภิปรายว่า ตนเจ็บปวดเหมือนสมาชิกทุกคน แต่ต้องพูดเพราะ เรื่องความพยายามจากคนภายนอกที่เข้ามาแทรกแซงเป็นเรื่องจริง ตนมีเบอร์โทรศัพท์เก็บไว้ ซึ่งถ้าตนและสภาไม่ทำอะไร จะโดนสื่อตั้งฉายาว่า สภาทาส 2 และ หากไม่จริงตนคงไม่กล้าพูดกับสื่อ โดยวันที่10 มี.ค. ระหว่างที่ตนนั่งอยู่ในห้องรับรองช่วง 15.00 น. มีอดีตนักการเมืองภาคอีสาน ตัวย่อ ป. แต่ไม่ได้อยู่ในสภาแห่งนี้ และไม่ใช่นายประวัติ ติดต่อมาพยายามพบให้ได้ ตนจะไปออกรายการที่เนชั่นเลิก 22.00 น. ก็ยังบอกว่า จะตามไปพบ ตนจึงถามตรงๆว่าต้องการอะไร ก็มีการเสนอว่า จะดูแลตลอดวาระและดูแลเบื้องต้นก่อนด้วย โดยบอกว่ามีสมาชิกมารวมกลุ่มแล้ว 18-20 คน ส่วนเรื่องอื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถเบนซ์หรือฝ่ายบริหารแทรกแซงตนไม่ได้พูด เรื่องนี้ต้องตรวจสอบให้ถึงที่สุด ตนยินดีให้ข้อมูล ทั้งชื่อ และหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลดังกล่าว
หลังการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว จำนวน 15 คน ประกอบด้วย 1.นาง นฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ 2.พล.ต.อ. สุนทร ซ้ายขวัญ ส.ว.สรรหา 3.พ.ต.ท. คมกฤษ ไวสืบข่าว 4.นาย สุริยา ปันจอร์ ส.ว.สตูล 5.นาย วิเชียร คันฉ่อง ส.ว.ตรัง 6.นาย ชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่ 7.พล.ต.ต. เกริก กัลยาณมิตร ส.ว.สรรหา 8.พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ ส.ว.สรรหา 9.พ.ต.ท. จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร 10.นายสงคราม ชื่นภิบาล 11.น.ส. รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. 12.นายภิญโญ สายนุ้ย ส.ว.กระบี่ 13.พล.ต.ต. ขจร สัยวัตร์ ส.ว.หนองคาย 14.นาย พิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา 15.นาย สมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม ทั้งนี้กำหนดเวลาการตรวจสอบข้อเท็จจริง 45 วัน
ด้านนายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ กล่าวว่าการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องการให้ค่าตอบแทนในการเลือกประธานวุฒิสภาฯ คงไม่ได้มุ่งเป้า การสอบสวนมาที่ตน แต่การตั้งคณะกรรมาธิการฯเป็นเรื่องดีเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำหน้าที่ในสภา แต่เท่าที่สอบถามสมาชิกก็ไม่พบว่ามีใครได้รับช้อเสนอในการซื้อตำแหน่งประธานวุฒิสภา เพราะการใช้เงินเพื่อแลกกับตำแหน่งเพียง 2 ปีคงไม่คุ้มและเป็นความคิดของคนที่ไม่ปกติ
นอกจากนี้กรณีดังกล่าวเป็นช่าวก่อนการเลือกตำแหน่งประธานวุฒิสภาเพียง 1 วัน ไม่ทราบว่าเป็นเพียงข่าวปล่อยหรือไม่
ขณะที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. กล่าวว่า มีความมั่นใจในการ ทำหน้าที่ และเห็นว่า หาก พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ ส.ว.สรรหา ทำหน้าที่ประธานฯ ในการตรวจสอบก็จะมีความเหมาะสม เนื่องจากมีประสบการณ์การดำรงตำแหน่งใน ป.ป.ช. ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ ทั้งนี้ เห็นว่าเรื่องดังกล่าวควรที่จะมีการตรวจสอบ เพราะเป็นการปัดกวาดบ้านตัวเองให้สะอาด ก่อนที่จะไปปัดกวาดบ้านคนอื่น
ทั้งนี้ตนต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมเป็น 1 ในคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เพื่อดูภาพรวมของข้อบังคับการประชุมฯ ว่า เปิดโอกาส ให้สมาชิกได้มีช่องทางในการตรวจสอบมากน้อยเพียงใดด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น