xs
xsm
sm
md
lg

ทหารกับการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ในกระแสการวิจารณ์รุนแรงต่อการโยกย้ายข้าราชการพลเรือนและตำรวจ โดยเฉพาะสองตำแหน่งแรกที่ถูกรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โยกย้ายคือตำแหน่ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ที่ท่าน สุนัย มโนมัยอุดมเป็นอยู่ให้หมดอำนาจไป และพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ออกจากการเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งๆ ที่ยังเหลือเวลาราชการอีกเพียง 5-6 เดือนก็จะเกษียณอายุราชการอยู่แล้ว ซึ่งบุคคลแรกเป็นอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และยังเหลือเวลารับราชการอีก 5-6 เดือนเช่นเดียวกัน แต่ด้วยความที่ท่านเป็นผู้พิพากษาทั้งจิตและวิญญาณจึงไม่ตอบโต้ใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมกับยอมรับกลยุทธ์สกปรกทางการเมืองจากกลุ่มของผู้ฝักใฝ่ระบอบทักษิณ ส่วนพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ก็ออกมาตอบโต้เชิงนิตินัย และคงจะพัฒนาวิวาทะไปเรื่อยๆ ตามจังหวะความร้อนแรงของการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกน้ำลายระหว่างรัฐบาลกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ครบองค์ทั้งนายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายพิภพ ธงไชย ส่วนพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ติดภารกิจที่ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเมื่อกลับมาแล้ว ก็คงเข้าร่วมเป็นทัพใหญ่อีกเช่นเคย ทั้งนี้ในวันที่ 28 มีนาคม ที่จะถึงนี้เป็นการประลองเชิงครั้งแรก

หลังจากที่พรรคพลังประชาชนหรือตัวแทนพรรคไทยรักไทย ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2550 แบบฉิวเฉียดเพราะมีกลอุบายและแผนยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่แยบยลลึกล้ำในเขตภาคอีสาน ส่วนภาคเหนือนั้นมิได้ชนะขาดตามที่ตั้งใจไว้ จึงเกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค ที่กำลังจะเกิดปัญหาการถูกยุบพรรคของพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ขณะที่ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ประธานสภาผู้แทนราษฎรถูกใบแดงซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง รับฟ้องไว้แล้ว ประเด็นความเป็นระเบียบของระบบการเมืองไทยขณะนี้นั้น อยู่กับหลักตุลาการภิวัตน์ มิฉะนั้นแล้วเสถียรภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคงไม่เกิดขึ้นแน่นอน

ดังนั้น จากกระแสการเมืองที่มีการใช้อำนาจรัฐย้ายข้าราชการ ทั้งๆ ที่รัฐบาลนี้เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศยังไม่ถึงหนึ่งไตรมาส จึงถูกเรียกว่าเป็นรัฐบาลเมียร์ฟาร์ ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า”Mere Far” หรืออาจจะแปลว่า “เพียงแต่ไกล (ความฝัน)ไปหน่อยเท่านั้น” หรือหากเป็นคำผวนก็อ่าน “มาเฟีย” ก็ได้ตามแต่จะอ่าน และจะตีความภาษาเป็นอย่างไรสุดแต่ผู้อ่าน

และการโยกย้ายข้าราชการระดับ “สั่งการ” และ “บริหาร” จึงเป็นปุจฉาของทุกฝ่ายที่ไม่ใช่พรรคพลังประชาชนว่ารัฐบาลเมียร์ฟาร์นี้ปฏิบัติการเพื่อใคร เพื่อปัจเจกบุคคลหรือเพื่อรัฐบาลนี้จะได้บริหารงานได้คล่องแคล่วหรือเพื่อขจัดศัตรูแบบหน้าด้านๆ และขณะที่ทั้งทหารและสาธารณชนที่เฝ้าดูว่าการโยกย้ายทหารกลางปีจะเป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยกำลังหลักของกองทัพว่า รัฐบาลนี้ รัฐมนตรีกลาโหมท่านนี้จะทำอย่างไรกับกระแสการวิเคราะห์ การวิพากษ์และการวิจารณ์ของสื่อมวลชนเกือบทุกฉบับในรอบ 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ว่าเตรียมทหารรุ่น 10 เพื่อนรักของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับเข้าครองตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยกำลังหรือไม่ หรือมีการสร้างฐานรองรับการเกษียณอายุราชการของ ผบ.ทอ.อดีตแกนหลักของการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งสังคมทหารอากาศและประชาชนทั่วไปเฝ้าดูการกลับมาของ พล.อ.อ.สุกัมพล สุวรรณทัต (ตท. 10) จะกลับเข้าลงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศแทน พล.อ.อ.อาคม กาญจนหิรัญ (ตท. 8) ที่ลาออกไปเล่นการเมืองหรือไม่

แต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.อ.พุฒิ มังคละพฤกษ์ (ตท. 9) เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศเรียบร้อยแล้ว แต่ก่อนที่สาธารณชนจะลืม ขอเตือนความจำว่า พล.อ.อ.สุกัมพล นั้นก้าวกระโดดข้ามหัวรุ่นพี่เตรียมทหารรุ่น 7-8-9 ในยุคที่พรรคไทยรักไทยเรืองอำนาจ และขณะนี้พล.อ.อ.คณาพันธ์ สงวนสัตย์ (ตท. 8) เป็นผู้บัญชาการยุทธทางอากาศ และพล.อ.ท.ม.ล.สุทธิรัตน์ เกษมสันต์ (ตท. 10) ผู้ซึ่งเดินสายกลางมาตลอด และเป็นบุคคลมีคุณภาพไม่เข้าใครออกใครง่ายๆ ขึ้นมาจ่อคิว 5 เสือในตำแหน่งปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการสนับสนุนทหารอากาศ ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทน ตท. 10 ได้ในกองทัพอากาศ แต่ยังมีผู้อาวุโส และมีฝีมือในรุ่น ตท. 8 และ 9 อยู่อีกที่พร้อมจะเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ และถ้าหลักการอาวุโสก็ยังเป็นเกณฑ์การพิจารณาที่สำคัญในกองทัพอยู่ พล.อ.อ.บุรีรัตน์ รัตนวานิช รองเสนาธิการทหาร (ตท. 7) อดีตราชองครักษ์ประจำ มีผลงานในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศดอนเมือง และผู้บัญชาการหน่วยอากาศโยธินก่อนถูกแผนพิฆาต ตท. 7 หลุดออกจากกองทัพอากาศ

จึงอนุมานในชั้นต้นว่า พลังกองทัพยังแข็งแกร่งอยู่ โดยเฉพาะกองทัพอากาศและนายเรืออากาศรุ่น 1 เช่น พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล หรือพล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ก็ยังเป็นที่พึ่งได้เพราะน้องชายนายสมัคร สุนทรเวช พล.อ.อ.สมมต ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเป็นนนอ.รุ่นที่ 1 แต่ที่สำคัญอดีตรัฐมนตรีว่าการกลาโหมและ ผบ.ทอ.พล.อ.อ.พะเนียง กานตรัตน์ ยังเปรียบเสมือนเสาหลักของทหารอากาศอยู่

ส่วนกองทัพบกนั้นเห็นว่า การโยกย้ายกลางปีนั้นไม่น่ามีผลอะไรกับการโยกย้ายตุลาคม 2551 อันเป็นการโยกย้ายหลัก แต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ตท. 10)ผบ.ทบ. ยังไม่เกษียณอายุราชการ พร้อมกับ ผบ.ทร. และผบ.ทอ. แต่ความแข็งแกร่งของท่านสวนกระแสลือที่วิพากษ์ถึงการจัดแกนผู้บัญชาการหน่วยกำลังระดับกองพลในกองทัพภาคหลักๆ และหวังผลักดันท่านออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.ในอีก 6 เดือนข้างหน้าที่จะถึงนี้ซึ่งยังคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ส่วนกองทัพเรือก็เช่นเดียวกันที่เอกภาพของกองทัพยังคงเป็นเหมือนภูผาหิน แต่กองทัพก็คงประมาทไม่ได้เพราะอำนาจรัฐยังคงความศักดิ์สิทธิ์ตามนัยของกฎหมาย และระเบียบราชการที่ฝ่ายบริหารจะสั่งการอย่างเด็ดขาดก็กระทำได้ หากแต่ว่าการเจรจาด้วยเหตุด้วยผลให้มีลักษณะได้กับได้หรือ WIN-WIN แล้วทหารก็คงรับได้และคงไม่มีคลื่นใต้น้ำในกองทัพ

ทหารกับการเมืองตามหลักรัฐศาสตร์แล้วแยกกันมิได้ เพียงแต่ว่าแนวทางปฏิบัติต่อทหารนั้นมีความละเอียดอ่อนแฝงอยู่ เพราะภารกิจของทหารตามรัฐธรรมนูญนั้นแตกต่างกับหน่วยงานอื่น 2 ประการคือ ปกป้องอำนาจอธิปไตยของชาติ และปกป้องรักษาราชบัลลังก์ด้วยชีวิต ซึ่งทหารได้ทำการเปล่งวาจาสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระพักตร์ที่จะยอมตายเพื่อชาติ และราชบัลลังก์ ทั้งสองภารกิจนี้คืออาชีพของทหาร ดังนั้นทหารอาชีพเป็นบุคคลที่มิได้มองการเมืองเชิงจุลภาค แต่มองเชิงมหภาคอันหมายถึงชาติทั้งหมด มิได้มุ่งที่ทำงานให้ใครหรือพรรคการเมืองใด

ทหารเป็นส่วนหนึ่งของรัฐศาสตร์ เพราะเป็นกลไกทั้งปกป้องและให้ได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยหรือแผ่นดินอื่น รวมถึงปกป้องระบบการปกครองตามนัยนี้ได้แก่ การปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความเป็นธรรมาภิบาลสูงสุดจนทหารไม่สามารถหยิบยกเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประการได้เลย

นอกจากนี้ ทหารเป็นกลุ่มคนสำคัญของพระมหากษัตริย์เพราะกษัตริย์แปลว่าทหาร เกือบทุกชาติมีประวัติศาสตร์บ่งบอกไว้ชัดเจนว่า กษัตริย์ต้องเป็นแม่ทัพนำหน้าทหารทั้งปวงออกศึก แม้ในประเทศไทยก็ชัดเจนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำทัพมีชัยเองจนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่การสงครามมีความซับซ้อนขึ้น และก่อนเกิดสงครามร้อนนั้น จะมีสงครามอื่นๆ เกิดขึ้นก่อนเสมอ เช่น สงครามการเมืองซึ่งมีความสำคัญกว่าสงครามร้อน เช่น สงครามการเมืองล่าอาณานิคมใน ร.ศ. 112 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำสงครามการเมืองกับชาติล่าอาณานิคม และรักษาเอกราชไว้ได้ทำให้สงวนชีวิตทหาร และรักษาเอกราชของชาติไว้ได้อย่างเด็ดขาดหรือในปัจจุบันผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ คือประธานาธิบดีที่สามารถสั่งการรบได้เยี่ยงแม่ทัพ

ปัจจุบันทหารอาชีพสมัยใหม่ย่อมรู้ถึงบทบาทตัวเองดี และเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยดีเพราะทหารถูกฝังรากประชาธิปไตยไว้ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2475 เสียอีก แต่คนเห็นแก่ตัวเท่านั้นที่ทหารยอมรับไม่ได้ และทหารก็เข้าใจในลัทธิรักชาติดี เพราะจะเป็นกลุ่มคนไทยที่ตายก่อนเสมอ เมื่อเกิดศึกสงครามทุกระดับความเข้มข้น

มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับทหารสมัยใหม่ในญี่ปุ่น ใช้เป็นบทเรียนได้ไม่มากก็น้อยในวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1970 ยูคิโอ มิชิมา (Yukio Mishima) นักประพันธ์ระดับชาติของญี่ปุ่นเป็นผู้นิยมลัทธิบูชิโดและรักชาติตามแบบฉบับอนุรักษนิยมญี่ปุ่น จัดตั้งชมรมโลห์แห่งชาติหรือ Tatenokai หรือ Shield Society เป็นหน่วยกำลังติดอาวุธลับๆ ที่แอบทำการฝึกทหาร และมีวินัยแบบซามูไรเพื่อที่จะปกป้ององค์จักรพรรดิและคืนอำนาจที่ยิ่งใหญ่ให้กับองค์จักรพรรดิ

มิชิมาทำการยึดกองบัญชาการทหารภาคตะวันออก และพยายามโน้มน้าวจิตใจทหารญี่ปุ่นให้ทำการปฏิวัติแต่ทหารกลับไม่ฟัง ทั้งยังดูแคลนอีกต่างหาก มิชิมาจึงทำการเซปปุกุ หรือพิธีการฆ่าตัวตายแบบสูงสุดของซามูไร หมายถึงฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้องแล้วองครักษ์คนที่ 2 จะตัดคอผู้นำเซปปุกุแล้วองครักษ์คนที่ 2 จะฆ่าตัวตายเช่นเดียวกันนี้ และองครักษ์คนที่ 3 จะตัดคอองครักษ์คนที่ 2 เป็นอันเสร็จพิธี จึงสรุปได้ว่าทหารญี่ปุ่นขณะนั้นยังมองไม่เห็นว่ามีภัยอะไรจะมาทำลายญี่ปุ่นหรือจักรพรรดิจึงไม่ฟัง การชักชวนของใครก็ตามซึ่งมีหลักการเข้าข้างตัวเองเท่านั้น จึงไม่ร่วมมือ

ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมความคิดและจิตใจของญี่ปุ่นกับไทยจะต่างกัน แต่สัจธรรมหนึ่งก็คือ ความมีเหตุมีผลที่เป็นตรรกะเท่านั้น ที่จะทำให้คนคล้อยตามได้ ดังนั้นในประวัติศาสตร์การกบฏจึงเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะทหารทั้งหมดมิได้กระทำตามใจใครคนหนึ่งได้ง่ายๆ แต่รัฐประหารสำเร็จได้เพราะทหารมีตรรกะเดียวกัน เมื่อเห็นว่าชาติบ้านเมืองกำลังมีภัย และภัยนี้แก้ด้วยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว แต่ขณะนี้ในอำนาจอธิปไตย อำนาจตุลาการยังคงความศักดิ์สิทธิ์ หลักตุลาการภิวัตน์จึงยังเป็นที่พึ่งของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น