xs
xsm
sm
md
lg

ภาษานั่นฤา คือสื่อเปิดใจให้ไร้เขตแดน

เผยแพร่:   โดย: เชาวลิต บุณยภูษิต


พ่อแม่ผมย้ายจากหมู่บ้านในย่านรอยต่อระหว่างอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช มาตั้งรกรากในเขตอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วให้กำเนิดผมในถิ่นที่ย้ายมาใหม่ บริเวณนั้นมีคนจากหลากหลายถิ่นฐานย้ายไปอยู่อาศัย แต่ที่บ้านและคนในละแวกเดียวกันพูดภาษาถิ่นใต้ ส่วนสำเนียงภาคกลางพูดกันไม่ค่อยจะเป็น แม้จะเจอคนพูดต่างสำเนียงกัน ต่างคนต่างก็พูดภาษาของตัวเอง แต่ก็สื่อสารกันรู้เรื่อง และอยู่ร่วมกันได้

ต่อมาถึงวัยเข้าโรงเรียน ต้องใช้ภาษาสำเนียงภาคกลางสื่อสารเมื่ออยู่ในโรงเรียน ครั้นโตขึ้นอีกวิถีชีวิตทำให้ต้องโยกย้ายไปเรียนทั้งในต่างถิ่นและต่างแดน เป็นเหตุให้ได้เรียนภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาฮินดี ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต (เฉพาะภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เรียนนานและเรียนมากจนขั้นใช้การได้ครบทั้ง 4 ทักษะ คือ ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ส่วนภาษาอื่นๆ เรียนแค่งูๆ ปลาๆ นอกจากนี้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง พึงทราบว่าภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต ถูกจัดเป็นภาษาที่ตายแล้ว เหมือนกับภาษาละติน เนื่องจากภาษาหยุดวิวัฒนาการ และไม่มีใช้การสื่อสารจริงในโลกปัจจุบัน แต่ที่มีการเรียนการสอนกันเพราะทั้ง 2 ภาษานี้ ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลอินโดยุโรป (Indo-European) เป็นรากฐานของภาษาต่างๆ มากมาย รวมทั้งภาษาไทยด้วย แม้ว่าภาษาไทยจะจัดอยู่ในอีกตระกูลภาษาก็ตาม ส่วนพระเรียนกันเพราะเป็นภาษาที่ใช้จารึกคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา คือพระไตรปิฎก ดังที่ทราบกันคือ ภาษาบาลีใช้จารึกคัมภีร์ของเถรวาท ส่วนภาษาสันสกฤตใช้จารึกคัมภีร์ของมหายาน)

การเรียนภาษาของคนอื่นๆ นอกจากภาษาของผู้บังเกิดเกล้า ซึ่งเป็นภาษาแรกที่ได้เรียนรู้ตามธรรมชาติ (ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ต่างภาษากันยิ่งมีข้อได้เปรียบเพิ่มเติม คือได้เรียนรู้มากกว่าหนึ่งภาษาโดยวิธีธรรมชาติเช่นกัน) ทำให้คนเรามีโลกทัศน์กว้างไกลขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็สังเกตเห็นลักษณะของแต่ละภาษา เช่น พหูพจน์ในภาษาสันสกฤต หมายถึง 3 สิ่งขึ้นไป เพราะภาษานี้มี 3 พจน์ คือ เอกพจน์ ทวิพจน์ (dual) และพหูพจน์ หรือ ตัวอักษร A ในภาษาเยอรมันไม่อ่านออกเสียงว่า “เอ” อย่างภาษาอังกฤษ แต่อ่านว่า “อา” เป็นต้น มากไปกว่านั้น การเรียนรู้ภาษาอื่นเพิ่มคุณค่าให้แก่มนุษย์ดังคำกล่าวของ Charles V ที่ว่า “ท่านมีค่าเป็นจำนวนคนเท่ากับจำนวนภาษาที่ท่านรู้ (You are worth as many as men as you know languages.)” (ในหนังสือ “คำคมบ่มชีวิต” โดยอาจารย์กรุณา กุศลาสัย) แน่นอนว่าภาษาที่รู้และทัศนคติที่เปิดกว้างเป็นเครื่องมือติดตัวขั้นพื้นฐานให้คนเราติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมโลก ไม่กลัวการออกเผชิญโลก และเปิดกว้างรับการเรียนรู้สิ่งใหม่

ต่อมาพอได้เรียนรู้ลักษณะของภาษาไทย ทำให้รู้ความจริงว่าอันที่จริงแล้ว คนไทยในดินแดนแหลมทองที่พวกเราอาศัยอยู่แห่งนี้เกิดจากการผสมผสานทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ที่หลากหลาย ภาษาที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้จึงมีรากฐานและวิวัฒนาการมาจากภาษาต่างๆ ของคนที่มารวมกันบนผืนแผ่นดินนี้ เช่น คำไทยแท้ เขมร จีน ชวา ญวน ญี่ปุ่น บาลี เบงกาลี ฝรั่งเศส มลายู มอญ ละติน สันสกฤต อังกฤษ ฮินดี ภาษาถิ่น ฯลฯ แต่เมื่อคนไทยส่วนมากนับถือศาสนาพุทธกันมายาวนาน ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต จึงส่งอิทธิพลทางภาษามากกว่าภาษาอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงคำศัพท์เหล่านี้บางครั้งก็ไม่ตรงกับภาษาเดิมทีเดียว เพราะคำภาษาอื่น ๆ เช่น บาลี สันสกฤต เขมร ที่นำมาใช้ในภาษาไทย โดยมากลดพยางค์บ้าง เปลี่ยนอักขระบ้าง เปลี่ยนเสียงบ้าง เช่น ธมฺม (บาลี) ธรฺม (สันสกฤต) ไทยใช้ว่า ธรรม โปฺรส (เขมร) ไทยใช้ว่า โปรด (คำชี้แจงหลักการจัดทำและวิธีใช้ ใน “พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542”)

ในทำนองเดียวกัน ในภาษาถิ่นใต้ก็มีอิทธิพลภาษามลายู (พึงทราบตามที่ ดร.โมหัมมัด อับดุลกาเดร์ อธิบายไว้ในพจนานุกรมไทย-มลายู มลายู- ไทย ว่า Melayu ไม่ใช่ภาษาเฉพาะของชาวมาเลเซีย แต่ใช้เป็นภาษาทางการบ้าง หรือภาษาพูดบ้าง ในมาเลเซีย (เรียก Bahasa Malaysia – ภาษามาเลเซีย), อินโดนีเซีย (เรียก Bahasa Indonesia – ภาษาอินโดนีเซีย), ทางใต้ของไทย (เรียก Jawi - ภาษายาวี แปลว่าภาษาของคนชวา), ในบรูไน, สิงคโปร์, ทางใต้ของฟิลิปปินส์, บางท้องถิ่นในเขมร, ซาอุดีอาระเบีย, พม่า) อยู่มากมาย สมัยเด็กๆ เคยได้ยินคนรุ่นปู่ย่าตายายพูดกันหลายคำ เช่น เรียกสับปะรดว่ายานัด ซึ่งมาจาก nanas, เรียกอินทผลัมว่าลูม่า มาจาก khurma (แต่ย่าผมเรียก “หูหมา”), เรียกถังตักน้ำว่า “หมา” เสียงกร่อนมาจากคำ timba, ตอนเด็กๆ ก่อนจะเริ่มเล่นเกมต่างๆ จะมีชันชีหรือการตกลงกติกากัน มาจากศัพท์ว่า janji ฯลฯ (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 บรรจุ 2 ศัพท์หลังนี้พร้อมที่มาไว้ด้วย)

แต่เมื่อย้อนมองเลยไปในอดีตไกลก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอย่างใด เพราะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ถึง 16 อาณาจักรศรีวิชัยเคยยิ่งใหญ่ มีอาณาเขตครอบคลุมมลายู เกาะชวา เกาะสุมาตรา ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา และบริเวณภาคใต้ของไทย ในยุคนั้นศาสนาพุทธมหายานเคยรุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรแห่งนี้ ตอนเจริญมากแผ่คลุมจากอินโดนีเซีย ขึ้นมาถึงภาคใต้ของประเทศไทย อย่างน้อยถึงสุราษฎร์ธานี ดังมี บุโรพุทโธ (บรมพุทโธ) บนเกาะชวา และพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประจักษ์พยาน

เมื่อมองไปที่ภาษามลายู เป็นธรรมชาติของภาษาที่ต้องมีการรับ การแลกเปลี่ยนกันกับภาษาอื่นๆ หรือบางครั้งอาจมีสิ่งใหม่ที่หาคำศัพท์ในภาษาเดิมไม่ได้ก็หยิบยืมคำศัพท์จากภาษาที่มีอยู่แล้ว ภาษามลายูก็ไม่อาจฝืนความเป็นธรรมดาของภาษาไปได้ จึงมีคำยืมจากภาษาอื่นๆ เช่น จีนฮกเกี้ยน ดัตช์ ทมิฬ เปอร์เซีย โปรตุเกส สันสกฤต อังกฤษ อาหรับ ฮินดี ฯลฯ อยู่มาก ไม่แน่ใจว่าในโลกนี้มีภาษาใดที่บริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ปราศจากอิทธิพลของภาษาอื่นๆ บ้าง? ผมลองเปิด “พจนานุกรมมลายู-อังกฤษ” (รวบรวมโดย คุณไพฑูรย์ มาศมินทร์ ไชยนรา) พบคำที่มาจากภาษาสันสกฤตมากมาย เช่น anik – มาก, หลาย (อเนก), bahasa – ภาษา (ภาษา), duta – ทูต (ทูต), guru – ครู (คุรุ), jiwa – ชีพ (ชีว), kala – เวลา (กาล), maha – ยิ่งใหญ่ (มหา), manusia - มนุษย์ (มนุษฺย), negara – เมือง (นคร), puspa – ดอกไม้ (ปุษฺป), raja - พระราชา (ราชา), sama – เสมอกัน, เท่ากัน (สม), tiga – สาม (ติก), utara – ทิศเหนือ (อุตฺตร) เป็นต้น ในวงเล็บนั้นเป็นศัพท์สันสกฤตอันเป็นที่มาที่ผมเติมให้

สาเหตุที่ผมพรรณนาถึงประสบการณ์จากการเรียนรู้ทั้งจากบรรพบุรุษและจากการศึกษาในระบบเสียยืดยาวนี้ เพราะแปลกใจที่ได้อ่านหนังสือ “แบบเรียนพระพุทธศาสนา กับปัญหาภาคใต้” เขียนโดย คุณเด่น ต. เนตรโรจน์ ซึ่งให้รายละเอียดว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2548 พลเรือเอกปรีดา กาญจนรัตน์ ข้าราชการบำนาญกองทัพเรือ อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และอดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ผู้อ้างว่ามีประสบการณ์เกี่ยวกับคนไทยมุสลิมภาคใต้ ประมาณ 43 ปี ทำจดหมายเรื่อง “หนังสือเรียนเรื่องพระพุทธศาสนาชั้น ม.1 ทำให้คนไทยมุสลิมภาคใต้เกิดความรู้สึกขมขื่นใจ” ถึงคุณอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในยุครัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เสนอข้อคิดเห็นถึงสาเหตุของปัญหาหลายๆ อย่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นจากหนังสือเรียนเล่มดังกล่าวตามทัศนะของผู้ทำจดหมาย (รายละเอียดทั้งหมดปรากฏในหนังสือ)

หนึ่งในประเด็นที่นำเสนอสรุปเป็นใจความได้ว่าสาเหตุที่คนไทยมุสลิม (บางกลุ่ม) ในจังหวัดภาคใต้ไม่พูดภาษาไทยกับเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ฟังภาษาไทยรู้เรื่อง เพราะมีเหตุผลว่าการพูดภาษาไทยจะเป็นบาป เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาทางพระพุทธศาสนา และภาษาไทยมีรากฐานมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต พล.ร.อ.ปรีดาคัดค้านว่าภาษาไทยส่วนมากไม่ได้มีรากฐานมาจากภาษาบาลีสันสกฤตด้วยเหตุผลต่างๆ

ประเด็นที่ผมจะหยิบยกขึ้นมาพูดถึง มิใช่จะโต้แย้งทัศนะของอดีตนายทหารหาญของชาติท่านนี้ แต่เกิดคำถามว่าถ้าคนกลุ่มเดียวกันที่ใช้เหตุผลเดียวกันในการไม่พูดภาษาไทยเพราะมีอิทธิพลของภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตอยู่ในภาษาไทย แทนที่เราจะคิดเดาเอาเอง เข้าใจเอาตามกระแส หรือยอมรับตามคำกล่าวอ้างโดยไม่ศึกษาหาความจริง เราลองหาความรู้มาพิสูจน์หาความจริงกันดีกว่า ประกอบกับแรงบันดาลใจจากข้อสงสัยของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่ฝากไว้ในหนังสือ “จักรใด ขับดันยุคไอที” ว่าลองไปสืบค้นดูว่าในภาษาไทย กับในภาษามลายู รวมทั้งภาษายาวีที่พูดกันในภาคใต้ของเรา อันไหนจะมีภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตปนอยู่มากกว่ากัน เพราะในภาษายาวี แม้แต่คำบอกชื่อกันก็พูดว่า “Nama saya (ฉันชื่อ).....” ก็เป็นสันสกฤตทั้งประโยค ท่านยกตัวอย่างว่าในขณะที่ภาษาไทยบัญญัติศัพท์ว่า “จานบันทึก” แทนศัพท์เดิม “disk” ในภาษาอังกฤษ แต่ภาษามลายูเรียก disk ว่า “จักร” (เพราะมีลักษณะเป็นวงกลมเหมือนล้อ) เช่น เรียก floppy disk ว่า “จักระ-Felopi” เรียก hard disk ว่า “จักระ- Keras” เรียก CD และ DVD ว่า “จักระ- Padat”

ท่านกล่าวว่าตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมศรีวิชัยฝังลึกในดินแดนมลายู ภาษาสันสกฤตเข้าไปอยู่ในภาษามลายูมากมาย การที่ชาวมลายูรับเอาภาษาสันสกฤตเข้าไปในภาษาของตนนั้น ก็เนื่องมาจากการนับถือพระพุทธศาสนา เป็นการตั้งใจรับเอาไปใช้จนถึงขั้นเป็นค่านิยม โดยวิถีของศาสนาและการศึกษา ตลอดจนแม้แต่วิถีชีวิตในครอบครัว เช่น ชอบตั้งชื่อลูกเป็นภาษาสันสกฤต การที่ภาษาหนึ่งจะรับเอาอีกภาษาหนึ่งเข้าไปใช้เป็นภาษาของตน

ถ้าไม่ใช่มาจากความนิยมนับถือในทางศาสนาและการศึกษาแล้ว ถึงแม้จะติดต่อค้าขายกัน คบหากันนานแสนนานก็รับเข้าได้น้อย อย่างเช่นภาษาจีน คนไทยทำมาค้าขายกันกับคนจีนมาเนิ่นนาน แต่ภาษาไทยมีคำจีนที่รับเข้ามาใช้ไม่กี่คำ และส่วนมากก็เป็นแค่คำศัพท์ชาวบ้าน ยิ่งภาษาสันสกฤตด้วยแล้ว (ภาษาบาลีก็เช่นกัน) ไม่ใช่ภาษาที่พ่อค้าและชาวบ้านจะใช้พูดจาสื่อสารกัน แม้แต่ในอินเดียหรือชมพูทวีปเอง สันสกฤตก็เป็นภาษาชั้นสูง ใช้แต่ในศาสนาและวรรณคดีเท่านั้น คนอินเดียมาค้าขายที่สุมาตรา ชวา และมะละกา ไม่ได้พูดสันสกฤต แต่สันสกฤตมากับศาสนาพุทธ กลายเป็นว่าคนมลายูและคนไทยใช้ภาษาชั้นสูงของชมพูทวีป ซึ่งไม่ใช่ภาษาของสามัญชนคนอินเดียทั่วไป

คำสำคัญๆ ชาวมลายูยังนิยมหาคำสันสกฤตมาใช้ เช่น “ภูมิปุตรา” ใช้กันเป็นคำทางการ ทั้งในอินโดนีเซีย และในมาเลเซีย (“ภูมิปุตรา” เป็นคำแสดงสถานะที่ชื่นใจอยู่ในกฎหมายของมาเลเซีย เวลาเขียนด้วยตัวอักษรโรมัน เป็น bumiputra บ้าง bumiputera บ้าง) พระพรหมคุณาภรณ์กล่าวว่า “ชาวมลายูในอินโดนีเซีย ถึงแม้ปัจจุบันตัวเองจะเป็นมุสลิม แต่อาจจะเป็นเพราะยังภูมิใจในอารยธรรมของบรรพบุรุษ ดูเหมือนว่าจะนิยมใช้คำที่มาจากสันสกฤตมากเป็นพิเศษ ดังที่พระสงฆ์ไทยผู้ไปอยู่ที่นั่นเล่าว่าถึงจะเป็นมุสลิม พอมีบุตร ก็มีผู้มาขอชื่อบาลีสันสกฤตจากพระ รถยนต์เกาหลีใต้ ยี่ห้อ Hyundai รุ่น Elantra เข้าไปขายในอินโดนีเซีย ตั้งชื่อให้เข้ากับค่านิยมทางภาษาที่นั่นว่า ‘พิมันตระ จักระ’ (Bimantara Cakra)”

กล่าวถึงที่สุดแล้ว ภาษามีไว้เพื่อให้มนุษย์ติดต่อสื่อสารถึงกัน ช่วยให้จิตใจและปัญญาของมนุษย์กว้างไกล มีบทบาทสำคัญให้วัฒนธรรมของมนุษยชาติเจริญงอกงาม สำหรับภาษาเองที่เจริญงอกงามส่วนหนึ่งก็เกิดจากการแลกเปลี่ยนกันระหว่างภาษา การพูดการเรียนรู้ภาษาอื่นไม่ได้สร้างความเสียหายต่อคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพภายในจิตใจของกัลยาณชนแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะนำมาเป็นข้ออ้างในการสร้างกำแพง หรือขึงลวดหนามกางกั้น ให้เกิดการรังเกียจเดียดฉันท์ แบ่งแยกกัน หรือว่าเข่นฆ่าทำลายกัน ใช่หรือไม่?


ดังนั้น แทนที่จะคิดเพื่อหาข้อขัดแย้งจากความต่าง น่าจะหันกลับมาพิจารณาความเป็นจริงว่าเราต่างก็ เป็นคนที่เกิดบนผืนแผ่นดินรูปขวานทองเหมือนกัน เป็นคนเอเชียเช่นเดียวกัน อาศัยอยู่ในโลกเดียวกัน เป็นมนุษย์เหมือนกัน เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายไม่ต่างกัน เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นจริงเหล่านี้แล้ว ก็ควรจะมุ่งมั่นร่วมมือร่วมใจร่วมไมตรี เพื่อความเป็นอยู่อย่างสันติสุข ซึ่งจะเป็นโอกาสและพื้นฐานอันดีที่เอื้อให้ทุกคนพัฒนาชีวิตของตนไปสู่จุดมุ่งหมายได้

ขอจบบทความนี้ด้วยคติที่พระพรหมคุณาภรณ์ฝากไว้ในธรรมบรรยายเรื่อง “มลายู สู่แหลมทอง” ในซีดีชุด “ทันโลก ถึงธรรม 2548” ว่า “เวลานี้โลกมีความขัดแย้งมากอยู่แล้ว ศาสนาเป็นเครื่องหมายของความดีงาม ต้องเป็นผู้นำในทางสันติ ถ้าศาสนาไม่มาช่วยในทางสันติ กลับไปก่อความขัดแย้งเสียเอง แล้วโลกนี้จะอยู่ได้อย่างไร? โลกนี้จะมีความหวังจากที่ไหนเล่า? เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในศาสนาต้องคิดในทางนำศาสนามาเป็นสื่อในการสร้างความสามัคคี ในการสร้างสันติ ในการอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข มีอะไรไม่สบายใจก็พูดกัน ไม่ใช่อะไรๆ ไม่พอใจแล้วไปสร้างความรุนแรง”
กำลังโหลดความคิดเห็น