xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ย่ำแย่เลือกตั้งมาเลเซียเสียที่นั่งส.ส.-5รัฐท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์ - การเมืองมาเลเซียพลิกโฉมจากหน้ามือสู่หลังมือ หลังจากที่พันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี สูญเสียที่นั่งในรัฐสภาจำนวนมากและ 5 เก้าอี้มุขมนตรีผู้ปกครองรัฐต่างๆให้แก่ฝ่ายค้าน ด้านอับดุลเลาะห์แม้ยอมรับประชาชนโหวตไม่ไว้วางใจตนเอง ลั่นไม่ยอมลาออก ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮาหมัด ขับไล่ทายาททางการเมืองของตนลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ชี้อับดุลเลาะห์ต้องรับผิดชอบที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้เสียงข้างมากไม่ถึง2ใน3ในรัฐสภาเป็นครั้งแรกในรอบร่วม 40 ปี ฝ่ายอันวาร์ อิบราฮิม แกนนำฝ่ายค้านตีปีก ชี้ประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนารวมพลังต่อต้านรัฐบาล ทางด้านนักวิเคราะห์มองผลการเลือกตั้งอาจทำหุ้นตก เพราะนักลงทุนหวั่นเกรงอาจเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

นายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์แถลงข่าวเมื่อวานนี้(9) ด้วยสีหน้าเหนื่อยอ่อนอย่างเห็นได้ชัดว่า พันธมิตรแนวร่วมแห่งชาติยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อีกสมัย อย่างไรก็ดี อับดุลเลาะห์ก็ยอมรับว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์(8) อาจชี้ให้เห็นว่าประชาชนลงคะแนนไม่ไว้วางใจความเป็นผู้นำของตน ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอ่อนปวกเปียกและไม่มีประสิทธิภาพ

ผลการนับคะแนนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อเวลา 14.20 เมื่อวานนี้ ตามเวลาในประเทศไทย ชี้ว่าพันธมิตรแนวร่วมแห่งชาติซึ่งนำโดยพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไป 138 ที่นั่ง จาก 222 ที่นั่ง พรรคเกอร์อาดิลันของอันวาร์ อิบราฮิม แกนนำฝ่ายค้าน ได้ที่นั่งไป 31 ที่นั่ง ตามด้วยพรรคเดโมแครติกแอคชั่นปาร์ตี้(ดีเอพี) ซึ่งได้ไป 28 ที่นั่ง และพรรคปาสซึ่งเป็นพรรคอิสลาม ได้ที่นั่งในสภาไป 23 ที่นั่ง

ในการเลือกตั้งเมื่อปี2004 พรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งเพียง 20 ที่นั่ง ขณะที่อับดุลเลาะห์ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายหลังสืบทอดอำนาจต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โดยในครั้งนั้น พันธมิตรแนวร่วมแห่งชาติครองที่นั่งในสภามากถึง 199 ที่นั่ง จากทั้งหมด 219 ที่นั่ง

ผลการเลือกตั้งวันเสาร์ชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียเสียงข้างมาก2ใน3ในรัฐสภา ทำให้ฝ่ายรัฐไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆได้โดยสะดวก เหมือนที่เคยเป็นมา ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งเลวร้ายที่สุดของฝ่ายรัฐบาลนับตั้งแต่ปี1969 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้น ฝ่ายรัฐบาลก็ได้เสียงข้างมากไม่ถึง2ใน3 หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มเชื้อชาติศาสนาต่างๆอย่างรุนแรง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านไม่ว่าจะเป็นพรรคดีเอพีซึ่งลูกพรรคส่วนมากเป็นชาวจีน พรรคปาส และพรรคเกอร์อาดิลัน กวาดที่นั่งส.ส.ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้เกือบทุกที่นั่ง

นอกเหนือจากการสูญที่นั่งส.ส.ให้ฝ่ายค้านแล้ว ฝ่ายรัฐบาลยังสูญเก้าอี้มุขมนตรีประจำรัฐเกดะห์ เประ สลังงอร์ และปีนังซึ่งเป็นบ้านเกิดของอับดุลเลาะห์ ให้แก่ฝ่ายค้าน ขณะที่พรรคปาสยังรักษาเก้าอี้มุขมนตรีในรัฐกลันตันซึ่งเป็นฐานเสียง ไว้ได้อย่างง่ายดาย

'มหาเธร์'ไล่'อับดุลเลาะห์'ออกไป

ทางด้านอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์กล่าวขับไล่อับดุลเลาะห์ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

"ผมคิดว่าอับดุลเลาะห์ทำลายพรรคอัมโน ทำลายพันธมิตรแนวร่วมแห่งชาติ และอับดุลเลาะห์ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น 100% ผมคิดว่าเขาควรลาออกไปซะ....ผมเสียใจ เห็นได้ชัดเลยว่า ผมเลือกคนผิด" มหาเธร์กล่าว

ก่อนหน้านี้ มหาเธร์เคยกล่าวว่าตนน่าจะเลือกนาจิบ ราซัค รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็นทายาททางการเมือง แทนอับดุลเลาะห์

"ปัญหาก็คือเรา(รัฐบาล) หยิ่งยโสจองหอง เราปิดกั้นทุกความเห็นที่เราไม่ชอบ และรัฐบาลก็เริ่มเชื่อรายงานหรือข่าวของตนเองซึ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของเราเลยจริงๆ" มหาเธร์กล่าว

อนาคตของอับดุลเลาะห์มืดมน?

อับดุลเลาะห์กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่สำนักงานใหญ่ของพรรคอัมโนว่า ณ เวลานี้ ไม่มีแรงกดดันให้ตนลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็กล่าวต่อสำนักข่าวเบอร์นามาของรัฐบาลว่า ตนจะไม่ลาออกจากตำแหน่งใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ผู้คนต่างตั้งคำถามถึงอนาคตทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีผู้นี้ภายหลังจากนำพรรคประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่

อันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรีซึ่งผงาดขึ้นมาเป็นแกนนำฝ่ายค้านผู้มีบารมี หลังจากถูกมหาเธร์สั่งปลดและจำคุกเมื่อ 10 ปืที่แล้ว กล่าวว่า "ผมมองเห็นว่ากำลังเกิดความปั่นป่วนทางด้านการนำบางประการขึ้นในพรรคอัมโน พวกเขาจะต้องปรับปรุงยกเครื่องกันใหม่โดยมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำ"

กระเทือนความเชื่อมั่นนักลงทุน

บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเช่นนี้จะต้องกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างแน่นอน รวมทั้งจะทำให้ตลาดหุ้นกัวลาลัมเปอร์ตกวูบด้วยแม้อาจจะเพียงชั่วคราว

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เหล่านี้บอกว่า แม้ความสูญเสียของฝ่ายรัฐบาลจะมาจากการปฏิเสธไม่ยอมลงคะแนนให้ของชาวมาเลย์มุสลิมบางส่วน ทว่าสิ่งที่เหล่านักลงทุนจะรู้สึกวิตกน่าจะเป็นเรื่องความแตกแยกทางเชื้อชาติ

"พวกผู้จัดการกองทุนจะต้องวิตกในเรื่องความแตกแยกทางเชื้อชาติแน่ๆ " ฉั่วฮักบิน นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้กรุ๊ป ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ให้ความเห็น

"จากการที่คนจีนและคนอินเดียลงคะแนนให้ฝ่ายค้านอย่างนี้ คุณก็ต้องตั้งคำถามขึ้นมาว่า ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ของมาเลเซียยังอยู่ดีหรือเปล่า และจะเกิดความรุนแรงทางเชื้อชาติขึ้นมาหรือเปล่า ถึงแม้จะมีชาวมาเลย์ไปโหวตให้ฝ่ายค้านเหมือนกันก็ตาม" เขากล่าว

ทั้งนี้ ชนส่วนน้อยในแดนเสือเหลืองต่างกำลังวิตกเรื่องที่พวกเขาเห็นว่า ระยะหลังๆ มานี้รัฐบาลและสังคมมาเลเซียกำลังโน้มเอียงไปสู่ "กระบวนการแปรไปป็นอิสลาม" นอกเหนือจากความไม่พอใจเดิมๆ ในเรื่องรัฐบาลยังไม่ยอมยกเลิกนโยบายให้อภิสิทธิ์แก่ชาวมาเลย์ ในด้านการศึกษา, การได้ที่พักอาศัย, และการทำธุรกิจ

ฉั่วมองว่า นักลงทุนอาจจะถอยออกมารอดูสถานการณ์ในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ไป เขาชี้ด้วยว่า การที่รัฐปีนังซึ่งถือเป็น "ซิลิคอนแวลลีย์" ของมาเลเซีย โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทไฮเทคจำนวนมาก ตกอยู่ในกำมือของพรรคฝ่ายค้าน ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้

ขณะที่ คาลาเธอร์ โกวินแดน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ ทีเอ ซีเคียวริตีส์ มองว่า ตลาดหุ้นน่าจะตกในวันนี้(10) และระยะสั้นอาจจะหล่นวูบเพราะความกลัวจะเกิดภาวะไร้เสถียรภาพ ทว่าไม่ถึงกับดำดิ่งทะลุดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น