xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตแบบ Portfolio

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ยายพลอย ลูกสาวของผมเล่าให้ฟังว่า มีคนมาจ้างไปเป็นคนคิดออกแบบงานแต่งงาน นับว่าเป็นงานใหญ่ ยายพลอยเองก็แปลกใจที่มีคนมาจ้างให้ทำงานนี้

เราคงสังเกตว่างานแต่งงานของคนชั้นกลางยุคนี้เปลี่ยนไป เริ่มตั้งแต่การหาฤกษ์วันหมั้นและวันแต่ง สมัยก่อนต้องนำดวงชะตาเจ้าบ่าวและเจ้าสาวไปให้พระหรือหมอดูช่วยหาฤกษ์ มายุคนี้ขึ้นอยู่กับการจองวันว่างของโรงแรม บางโรงแรมมีคนจองแยะ ก็ต้องหาวันที่ว่าง

ในงานแต่งงาน สิ่งที่แปลกใหม่ก็คือ หน้างานจะมีรูปเจ้าบ่าวเจ้าสาวในอิริยาบถต่างๆ วางไว้ให้ดู ระหว่างงานจะมีการฉายวิดีทัศน์ประวัติของเจ้าบ่าวเจ้าสาวตั้งแต่ยังเด็ก และการพบรักกัน การจัดงานต้องอาศัยบริษัทที่เรียกกันว่า “ออร์แกนไนเซอร์” มาจัดงาน โดยรับเหมาตั้งแต่การจัดเลี้ยง ดนตรี การจัดการภายในงาน (ซึ่งรวมไปถึงการดูแลเหล้า และไวน์ไม่ให้คนมาหยิบฉวยไปด้วย) การจัดงานแต่งงานสมัยนี้ ถ้าจัดในโรงแรมชั้นหนึ่งและเชิญคน 500-800 คน จะใช้เงินประมาณหนึ่งล้านบาท

งานแต่งงานบางคนเลือกไปจัดงานในต่างจังหวัด ตามรีสอร์ตต่างๆ ซึ่งได้บรรยากาศดีไปอีกแบบหนึ่ง การคิดออกแบบงานแต่งงานของยายพลอยนั้น มีถึง 10 แบบด้วยกัน

ยายพลอย มีอาชีพเป็นผู้ออกแบบความคิด หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Concept Designer ในโลกนี้มีคนทำงานเช่นนี้น้อยมาก ในเมืองไทยเท่าที่รู้ก็มียายพลอยเพียงคนเดียว และการทำงานของยายพลอยนั้น เป็นการทำงานที่ไม่มีอาชีพหลักที่ไปทำงาน 8 โมงเช้ากลับบ้าน 5 โมงเย็น และไม่ได้มีเพียงงานเดียว แต่มีหลายงานเรียกว่าเป็นงานที่เป็น Portfolios คือมีงานหลายชิ้น ทำเสร็จเป็นชิ้นๆ ส่วนมากจะมีระยะสั้น และจะต้องทำให้เสร็จทันกำหนด มีคุณภาพดีเป็นที่ถูกใจของลูกค้า

ยายพลอย ทำอย่างนี้มาหลายปีแล้ว สามารถเลือกลูกค้าได้ และมีรายได้สม่ำเสมอ แม้จะไม่รวยแต่ก็สบายใจและสนุก ที่สำคัญคือทำอยู่กับบ้าน ไม่มีที่งาน แม้จะต้องเดินทางเป็นบางครั้ง แต่ก็เป็นระยะสั้นๆ

ผมให้ยายพลอยอ่านเรื่อง Portfolio Life ของ Charles Handy ยายพลอยชอบมาก และได้ดำเนินชีวิตแบบนี้มาโดยตลอด ผมเองก็มี Portfolios เหมือนกัน คนที่ไม่เข้าใจก็ตำหนิว่า ทำงานหลายอย่าง แต่ผมต่างจากยายพลอยตรงที่ไม่ได้ทำงานอยู่กับบ้าน หากมีที่ทำงานหลัก และที่ทำงานรอง ที่ทำงานรองเป็นงานที่มีลักษณะพิเศษอย่างที่ราชบัณฑิตยสถาน เป็นต้น ราชบัณฑิตยสถานมีราชบัณฑิต 90 คน และภาคีสมาชิกอีกจำนวนหนึ่ง งานส่วนใหญ่เป็นงานคณะกรรมการบัญญัติศัพท์สาขาวิชาต่างๆ นอกจากนั้นยังต้องมีการพิจารณาคำที่ต่างสาขาบัญญัติไว้ว่าควรจะใช้คำเพียงคำเดียวหรือไม่ด้วย ซึ่งเป็นงานที่ยากมาก เพราะต่างสาขาวิชา แม้จะใกล้เคียงกันก็ตาม ก็ยังใช้ในความหมายที่ต่างกัน

ชีวิตการงานที่คนเรามีงานไม่ประจำทำแล้วเสร็จนี้ โลกสมัยใหม่เริ่มมีคนทำอย่างนี้มากขึ้น แต่ก็ยังมีไม่มากเพราะน้อยคนที่จะทำได้

ตัวอย่างเช่น ยายพลอย เป็นนักแปลหนังสือ และเขียนบทความ การเขียนบทความของยายพลอยต่างไปจากคนอื่น คือเขียนจากประสบการณ์ตรงบวกกับความคิดเห็น บทความแต่ละบทมีการค้นหาข้อมูลมาก และมีภาพประกอบซึ่งยายพลอยถ่ายเองด้วย แต่เดิมยายพลอยมีงานเขียนอาทิตย์ละ 5 เรื่อง เดี๋ยวนี้ลดลงเหลือ 2-3 เรื่อง และลงในนิตยสารที่มีคนอ่านมาก เช่น สกุลไทย เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีงานออกแบบความคิดให้บริษัทต่างๆ ออกแบบบุคลิกลักษณะของโรงแรม ซึ่งเป็นโรงแรมขนาดเล็ก และเป็นผู้แนะนำการซื้อของๆ ร้านใหญ่ๆ งานเหล่านี้เกิดขึ้นใหม่ตามความหลากหลายของกลุ่มลูกค้า

การทำงานแบบนี้ไม่ใช่งานที่สบาย เพราะต้องคิดไม่ให้เหมือนคนอื่น คนที่เจาะจงมาจ้างก็ต้องเห็นแล้วว่า คนอื่นทำไม่ได้ต้องคนนี้เท่านั้น หากทำไปอย่างไม่มีคุณภาพ ก็จะมีการบอกต่อๆไป ในที่สุดก็จะไม่ได้งาน

คนยุคใหม่ หากมีฐานะดีก็จะไม่รับราชการหรือทำงานบริษัทแล้ว หลานผมคนหนึ่งจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ด้านการละคร แล้วไปเรียนทำอาหารและขนมจากกอร์ดอง เบลอ กลับมาก็ทำของว่างในงานเลี้ยงรับรอง ใช้ครัวที่บ้านทำมีเพื่อนช่วยด้านการหาลูกค้า เป็นหุ้นส่วนกันอีกคน ถามดู หลานบอกว่ามีงานแยะ และยังมีคนให้จัดอาหารเลี้ยงคน 10 คน 20 คนอีกด้วย

วันก่อนผมอ่านหนังสือเล่มใหม่ชื่อ My Self ของ Charles Handy เป็นการรวมเรื่องสั้นๆ เกี่ยวกับชีวิตของ Charles Handy ซึ่งเรียนหนังสือที่โรงเรียนประจำ แล้วไปเรียนภาษากรีกและละตินที่ออกซฟอร์ด ต่อมา Handy ไปเป็นพนักงานของ Shell ที่บอร์เนียว (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย) Handy ไปเรียนบริหารธุรกิจที่ M.I.T. แล้วกลับมาพัฒนาหลักสูตรบริหารธุรกิจให้มหาวิทยาลัยลอนดอน Handy เองเมื่อออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันจริยธรรมของอังกฤษก็ใช้ชีวิตที่ไม่ทำงานประจำ หันมาเขียนหนังสือที่ไม่เป็นวิชาการ และมีรายการทางวิทยุ B.B.C.

ในเมืองไทยมีคนใช้ชีวิตแบบ Portfolio มากขึ้น ถ้าเป็น Portfolios ขนานแท้ก็ต้องเป็นแบบยายพลอย คือมีหลายชิ้นงาน แต่ละชิ้นงานก็ต้องมีการนำเสนอต่อลูกค้า และทำให้ดีให้เสร็จตามกำหนด จะว่าไปแล้วก็เป็นงานที่อาศัยความคิดจริงๆ การจะมีความคิดดีๆ จะต้องเป็นผู้ได้พบเห็น และอ่านหนังสือมากๆ ยายพลอยใช้เงินหลายหมื่นบาทซื้อหนังสือ และนิตยสาร แต่ที่ดีก็คือยายพลอยไม่ชอบลอกความคิดของใคร จึงเป็นที่ต้องการของลูกค้าซึ่งทุกคนพอใจกับบริการที่ได้รับ

คนที่เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองมาก น่าจะทำงานเช่นนี้ ชีวิตแบบ Portfolios ต่างกับพวกรับจ้างทำงานแทนนอมินี ซึ่งไม่ต้องอาศัยสติปัญญามากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น