xs
xsm
sm
md
lg

วิริยะฯตั้งเป้าเบี้ยเพิ่ม1.5พันล้านรุกประกันสุขภาพ-เมินเข้าตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - วิริยะประกันภัยเผยปี 50 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 14,982 ล้าน ขยายตัว 9.31% เป็นส่วนของมอเตอร์ 13,706 ล้าน และนอน มอเตอร์ 963 ล้าน ตั้งเป้าปีนี้มีเบี้ยประกันภัยรวมเป็น 16,500 ล้าน เน้นรุกตลาดประกันสุขภาพ ยันไม่มีแผนนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุไม่สอดคล้องกับนโยบายบริษัทที่มุ่งงานบริการมากกว่าผลกำไรสูงสุด

นายกฤตวิทย์ ศรีพสุธา กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2550 ที่ผ่านมาว่า บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับจากการรับประกันภัยโดยตรงรวม 14,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่อยู่ในระดับ 13,706 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.31% แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับจากการประกันภัยรถยนต์(Motor) 14,018 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 12,988 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.93% แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรับภาคสมัครใจ 11,590 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยรับภาคบังคับ 2,427 ล้านบาท ส่วนเบี้ยประกันภัยรับประเภทนอน-มอเตอร์(Non-Motor) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 963 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 718 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.21% โดยแยกเป็นประกันอัคคีภัย 183 ล้านบาท ประกันภัยการทางทะเลและขนส่ง 67 ล้านบาท และประกันภัยเบ็ดเตล็ด 712 ล้านบาท

สำหรับในปี 2551 นี้ บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรวมไว้ที่ 16,500 ล้านบาท เป็นส่วนของนอน-มอเตอร์ 1,500 ล้านบาท โดยจะเน้นรุกในส่วนของประกันสุขภาพ เนื่องจากพอร์ตที่มีอยู่ยังไม่มากนัก จึงน่าจะทำได้ดี ซึ่งในปีนี้จะเป็นปีแห่งการทดลองดำเนินการ และหากไปได้ดี ก็จะรุกตลาดอย่างเต็มที่ในปีต่อไป ในส่วนของผลกำไรนั้นในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา รวมถึงปี 2550 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ในระดับ 200-400 ล้านบาท มีอัตราการเคลมอยู่ที่ 64% และมีส่วนแบ่งการตลาด(มาเก็ตแชร์)อยู่ที่ระดับ 13-14% จากช่วงก่อนหน้านี้ที่เคยขึ้นไปถึง 17% ซึ่งบริษัทถือว่าเป็นระดับที่สูงเกินไป

"อัตราการเคลมของบริษัทปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 64% ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าไว้ว่าหากระดับอัตราการเคลมต่ำกว่า 65% ก็จะมีการปรับลดเบี้ยประกันลง แต่ขณะนี้ที่ต้องที่อัตราค่าแรงว่าเพิ่มหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม หากอัตราการเคลมต่ำกว่า 60% บริษัทจะต้องปรับลดค่าเบี้ยประกันลงอย่างแน่นอน"นายกฤตวิทย์กล่าว

ส่วนแนวทางการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น บริษัทยังไม่มีแผนที่ดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากยังมีบางส่วนที่ไม่ตรงกับนโยบายการทำงานของบริษัท โดยเฉพาะในส่วนของกำไร ซึ่งหากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะมุ่งเน้นการทำกำไรเป็นจุดมุ่งหมายหลัก ขณะที่นโยบายของบริษัทยังคงยึดที่การบริการที่ดีเป็นหลัก และมีกำไรในระดับพอควร ประกอบกับการนำเงินจากประชาชนหรือผู้ถือหุ้นมาบริหาร จะเพิ่มความกดดันด้านผลตอบแทนจากเงินทุน ซึ่งอาจทำให้กระทบต่อจุดมุ่งหมายของบริษัทได้ จึงยังไม่มีแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในขณะนี้

นายอานนท์ โอภาสพิมลธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทวิริยะประกันภัย กล่าวว่า อัตราการเติบโตของการรับประกันภัยงานนอน มอเตอร์ประมาณ 34% ในปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงศักยภาพของการเติบโตด้านงาน นอนมอเตอร์ของบริษัทได้เป็นอย่างดี ในด้านผลการรับประกันภัย ก็ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่ได้รับผลกำไรอยู่ในเกณฑ์ดี กล่าวคือ มีอัตราค่าสินไหมทดแทนอยู่ที่ประมาณ 50% ส่วนในปี 2551 บริษัทได้เริ่มนำระบบงานสินไหมทดแทนด้านนอนมอเตอร์เพื่อเข้ามารองรับการให้บริการสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยจากทุกศูนย์บริการสินไหมทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วในการจ่ายสินไหมยิ่งขึ้น จากเดิมที่การอนุมัติสินไหมจะต้องได้รับการอนุมัติจากส่วนกลางเป็นหลัก

อนึ่ง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานิตยสาร Brand Age ได้เสนอผลการวิจัย “2008 Thailand’s Most admired Brand & Why we buy?” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สะท้อนความคิด และพฤติกรรมของประชากรไทยทั่วประเทศ ผลการวิจัยระบุว่า บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เป็นบริษัทที่ประชาชนให้ความเชื่อถือสูงสุด ในประเภทธุรกิจประกันภัย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยได้รับคะแนนสูงถึง 60.34% นอกจากนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทประกันภัยที่คุ้นเคย มีความมั่นคง และเป็นบริษัทที่มีตราสินค้าที่คนนึกถึงเมื่อจะตัดสินใจเลือกใช้ประกันภัย โดยมีคะแนนสูงถึง 60.03% ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ประกันภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น