xs
xsm
sm
md
lg

เสียงเพลงกับเสียงปืน

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวที่ชวนสลดและสยองข่าวหนึ่งถูกรายงานตามสื่อต่างๆ ว่ามีการฆ่าหมู่ภายในบริเวณบ้านพักของแพทย์คนหนึ่งจนมีผู้เสียชีวิตไปด้วยกัน 8 ศพรวมทั้งตัวแพทย์ผู้นี้ด้วย โดยในเบื้องต้นทราบว่า สาเหตุของการฆ่าหมู่ครั้งนี้เนื่องมาจากผู้ตายทั้งหมดได้มีการดื่มสุราสังสรรค์และก็ได้ร้องเพลงแบบคาราโอเกะกันไปด้วย จนเพื่อนบ้านทนไม่ไหวก็ออกมาตักเตือน แล้วทำให้เกิดการโต้เถียงกันขึ้น กระทั่งเป็นเหตุให้เพื่อนบ้านคนนั้นเกิดบันดาลโทสะขึ้นมา แล้วใช้ปืนยิงกลุ่มผู้สังสรรค์กลุ่มนี้ตายไปในที่สุด

ตอนที่เขียนบทความอยู่นี้ ผมยังไม่ได้ข่าวความคืบหน้านอกเหนือไปจากนี้อีก จึงไม่รู้ข้อเท็จจริงอะไรมากไปกว่าที่เล่ามา เช่น ไม่รู้ว่าสาเหตุที่ยิงกันจริงๆ นั้นเป็นไปตามที่เขา “ว่ากันว่า” หรือไม่ หรือตัวผู้ยิงมีสติสตังปกติเหมือนคนทั่วไป คือทำไปด้วยความโทสะจริงหรือมีสาเหตุอื่นด้วย ฯลฯ

ที่ผมต้องเขียนออกตัวเช่นนี้ก็เพื่อจะบอกกับท่านผู้อ่านว่า สมมติว่าที่รายงานข่าวมาข้างต้นเป็นไปตามนั้นทุกประการ คือมีสาเหตุมาจากการร้องเพลงดังจริงแล้ว ผมเกิดสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วเราท่านทั้งหลายควรคิดเห็นต่อการสังหารหมู่ครั้งนี้อย่างไรดี

และต่อไปนี้เป็นความรู้สึกนึกคิดของผม...

ผมเป็นคนหนึ่งที่รักเสียงเพลงและรังเกียจเสียงปืนอย่างยิ่ง ฉะนั้น เสียงปืนจึงไม่ควรเป็นประเด็นที่ผมจะต้องหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเลยแม้แต่น้อย แต่พอเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา มันทำให้ผมต้องหันมาทบทวนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเสียงปืนด้วย ว่าที่ตัวเองรักเสียงเพลงโดยไม่มีเสียงปืนมารบกวนนั้น รักอยู่บนเงื่อนไขอะไร

เท่าที่คิดออก ผมพอบอกได้ว่า ผมรักเสียงอยู่บนเงื่อนไขของคนที่เข้าใจใน “วัฒนธรรมในการใช้เสียง” ครับ คำว่า “วัฒนธรรมในการใช้เสียง” นี้ผมยืมมาจาก อ.วีระ สมบูรณ์ เพื่อนร่วมงานของผมในคณะรัฐศาสตร์อีกทีหนึ่ง ซึ่งเราได้เคยสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายปีดีดักแล้ว และท่านเป็นคนที่ใช้คำคำนี้ขึ้นมา

ส่วนคำที่ว่าจะเป็นอย่างไรนั้น ผมขออธิบายไปตามความเข้าใจของผมเอง ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าคงจะตรงกับที่ อ.วีระ ท่านอธิบาย และถ้าไม่ตรงก็ต้องขอโทษ อ.วีระ มา ณ ที่นี้ด้วย ที่ผมต้องยกเครดิตในเรื่องการอธิบายคำดังกล่าวให้ อ.วีระ ก็เพราะว่า ท่านจัดเป็นผู้รู้เรื่องเพลงที่ดีคนหนึ่ง โดยมีหนังสือ “รหัสดนตรีพลิกวิถีโลก” หรือ “Music that Changed the World” (สำนักพิมพ์โอเพ่น, 2550) เป็นข้อยืนยันเรื่องนี้ได้ดี

ส่วนวัฒนธรรมในการใช้เสียงในความรู้สึกนึกคิดของผมจะเป็นอย่างไรนั้น ผมขอเริ่มจากการใช้เสียงผ่านเสียงเพลงหรือดนตรีผมรักว่าผมมันใช้อย่างไรก่อน โดยผมจะยกผ่านพฤติกรรมของผมเอง เช่นว่า เวลาที่ผมเปิดเพลงฟังในบ้าน ผมจะเปิดดังพอที่จะให้ตัวเองได้ยิน ถ้าจะดังออกไปนอกบ้านบ้างก็คงแผ่วเต็มที และที่ดังแผ่วเช่นนั้นก็แต่เฉพาะเพลงบางประเภท ที่มีบางตอนของเพลงจะถูกบรรเลงอย่างหนักหน่วงตามอารมณ์ของเพลง (เพลงคลาสสิกส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ โดยเฉพาะเพลงซิมโฟนี) หรือถ้าอยู่ในโรงหนัง ผมจะไม่ดูหนังเพลินจนลืมฟังดนตรีประกอบ ที่ผมถือว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งของหนัง และจะเคารพผู้สร้างหนังยิ่งขึ้นถ้าเขารู้จักปล่อยให้เสียงเพลงหรือดนตรีออกมาอย่างรู้จังหวะจะโคน ยิ่งเป็นความเงียบที่รู้กาลเทศะด้วยแล้ว ผมก็ยิ่งชื่นชมในการใช้เสียง “เงียบ” มากเข้าไปอีก

หรือถ้าอยู่ในโรงคอนเสิร์ต ผมก็พึงรู้ด้วยว่าตนเองกำลังฟังเพลงหรือดนตรีประเภทไหนอยู่ ถ้าเป็นเพลงที่ผู้บรรเลงต้องการให้เรามีส่วนร่วม ผมย่อมยินดีมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมแก่วัยของผม แต่ถ้าเป็นเพลงคลาสสิก ผมย่อมบอกกับตัวเองว่า ผมไม่ควรกระดิกตีนสั่นยิกๆ จนทำให้เก้าอี้ของผู้ฟังคนอื่นพลอยสั่นไปด้วย เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ผมมีพฤติกรรมในการใช้เสียงอย่างที่ว่า ผมจึงไม่ชอบเสียงดังจากมือถือหรือเสียงพูดคุยในโรงหนังหรือคอนเสิร์ต ซึ่งในเวลาเช่นนั้นผมถือว่าเป็นเสียงจากนรกจริงๆ

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ผมจึงไม่ชอบไปเดินเล่นในสวนสาธารณะที่ชอบเปิดเพลงดังผ่านเสียงตามสายหรือลำโพงที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ ทั่วสวน เพราะมันทำให้ผิดหน้าที่ที่แท้จริงของสวนสาธารณะซึ่งควรเป็นสถานที่เงียบสงบเพื่อปล่อยให้คนที่มาควรได้นอนหลับ อ่านหนังสือ สนทนาตามประสาญาติมิตร การพลอดรักของคู่รัก หรือแม้แต่ฟังเพลงที่ตัวติดมาพร้อมหูฟัง ดังนั้น ผมจึงพลอยไม่ชอบการเปิดเพลงบนรถเมล์หรือในที่สาธารณะอื่นๆ ไปด้วยเช่นกัน

ทุกครั้งที่ผมเจอกับการใช้เสียงแบบนี้ ผมอยากตะโกนถามคนที่เปิดเพลงดังๆ ว่า มึงรู้ได้อย่างไรว่ากูกับคนอีกตั้งมากมายชอบเพลงที่มึงเปิด

แต่การที่เป็นคนในเมืองใหญ่ ผมจึงไม่ค่อยโชคดีนัก เพราะจนแล้วจนรอดผมมักหนีการใช้เสียงแบบผิดที่ผิดทางและผิดหน้าที่ไม่ค่อยพ้นสักกี่ที ไม่ว่าจะในสวนสาธารณะ โรงหนัง โรงคอนเสิร์ต ครับ...ไม่เว้นแม้แต่ป้ายรถเมล์บางป้าย ! ฉะนั้น ตรงไหนที่เลี่ยงได้ผมก็จะเลี่ยง เลี่ยงไม่ได้ก็ซวยไป

ถัดจากการประสบการณ์การใช้เสียงอย่างที่ว่าแล้ว ต่อไปก็เป็นการใช้เสียงแบบประชิดตัวของคนที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเรา แต่เป็นเพื่อนบ้านของเรา (ซึ่งผิดกับประสบการณ์ข้างต้น เพราะคนเหล่านั้นเราไม่ได้รู้จักด้วย) ครับ...ผมเคยเจอเพื่อนบ้านที่เปิดเพลงหรือร้องคาราโอเกะด้วยเสียงอันดังอย่างแน่นอน แต่กับเรื่องนี้แล้วผมกลับโชคดี คือโชคดีที่ผมมักจะได้เพื่อนบ้านดีที่รู้กาลเทศะในการใช้เสียง ทั้งผมและเพื่อนบ้านจึงไม่เคยใช้เสียงในอันที่จะก่อความรำคาญให้แก่กันและกัน

แต่ถ้าคราใดที่ผมหรือเพื่อนบ้านจะต้องมีกิจกรรมภายในบ้านของตนเองอย่างค่อนข้างเอิกเกริก ซึ่งนอกจากจะมีแขกเหรื่อมาบ้านกันมากมายหลายคน หรือจะต้องมีการสังสรรค์กันจนหลีกเลี่ยงเสียงดังไม่ได้แล้ว ผมกับเพื่อนบ้านจะขออนุญาตซึ่งกันและกันก่อนล่วงหน้า โดยถ้าเป็นกิจกรรมที่เชิญเพื่อนบ้านมาร่วมได้ เราก็จะเชิญ โดยเฉพาะงานบุญ

ของแบบนี้ขอกันได้อยู่แล้ว อย่างน้อยมันก็นานๆ ครั้ง ไม่ใช่ทุกวันหรือทุกสัปดาห์เสียเมื่อไหร่ แต่ที่โชคดีเอามากๆ ก็คือว่า ผมกับเพื่อนบ้านเคยเจอเพื่อนบ้านคนใหม่ที่ใช้เสียงต่างไปจากเราอยู่เหมือนกัน ใหม่ๆ เราก็ปล่อยไป ด้วยทำใจให้เข้าใจว่าเขาคงมีเหตุผลอะไรอยู่ (เช่นอาจจะทดลองเครื่องเสียงอยู่บ้าง อาจไม่ได้ตั้งใจบ้าง เด็กในบ้านไปเพิ่มเสียงให้ดังด้วยความซนบ้าง ฯลฯ) แต่ถ้าสรุปร่วมกันแล้วเห็นว่าไม่ใช่เช่นนั้น คือเห็นว่าเขามีพฤติกรรมในการใช้เสียงอย่างนั้นเอง เราก็เห็นพ้องต้องกันว่า ควรที่จะเดินไปคุยกับเพื่อนบ้านคนใหม่ของเราให้รู้เรื่องกันไป

ที่ผมบอกว่าโชคดีมากๆ ก็เพราะว่าเพื่อนบ้านคนใหม่ของเราก็เข้าใจและขอโทษขอโพยเรา และก็ไม่ทำเช่นนั้นอีกเลย

ผิดกับเพื่อนของผมอีกคนหนึ่งที่โชคร้ายเอามากๆ ที่พอเช้าทีไรเธอเป็นต้องเจอกับเสียงเพลงที่ดังสนั่นอย่างไร้เหตุผลหรือไร้วัฒนธรรม เธอว่า เพื่อนบ้านคนนั้นท่าทางเป็นนักเลงอันธพาล ทั้งเธอและเพื่อนบ้านคนอื่นๆ จึงไม่กล้าทำอะไรในแบบที่ผมกับเพื่อนบ้านของผมทำ ส่วนที่เคยโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจนั้น ก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น อ้ายหมอนั่นก็ยังคงเปิดเพลงเสียงดังมาจนทุกวันนี้ และตอนนี้เธอก็กำลังเตรียมจะย้ายหนีไปในเร็วๆ นี้แล้วด้วย

เธอเคยระบายให้ผมฟังมากกว่าหนึ่งครั้งว่า ถ้าทำได้ เธออยากฆ่าอ้ายหมอนั่นจริงๆ !

นานนับสิบปีมาแล้วที่สังคมไทยเรากำลังมีปัญหาวัฒนธรรมในการใช้เสียง และมีแนวโน้มที่จะหนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหานี้โดยหลักแล้วมาจากความไม่รู้บ้าง ความเห็นแก่ตัวบ้าง ความเข้าใจผิดๆ ต่อการใช้เครื่องเสียงบ้าง (คือเข้าใจว่า ถ้าเสียงเบสดังตึงๆ ทุ้มๆ จนใจสั่นสะเทือนแล้ว คือเครื่องเสียงที่ดี) หรือเพื่อผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์บ้าง ฯลฯ ที่น่าเศร้าก็คือว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่ในสถานที่ราชการ หรืองานที่ราชการเป็นเจ้าภาพด้วยซ้ำไป

โดยรวมของปัญหานี้มักจะรวมศูนย์อยู่ที่การไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง

และเพราะปัญหาวัฒนธรรมในการใช้เสียงอย่างที่ว่า ข่าวน่าเศร้าข้างต้นจึงเกิดขึ้น ผมพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าตนเองสะใจกับข่าวที่ว่า ถึงแม้บ่อยครั้งที่เจอปัญหานี้จะทำให้ผมเหลืออดก็ตาม แต่ผมก็ยับยั้งชั่งใจ ตรงกันข้าม ผมกลับเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต และเห็นว่ามือปืนควรต้องรับโทษทัณฑ์ของตนตามกฎหมาย

แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราจะนำข่าวที่ว่านี้มาทบทวน “วัฒนธรรมในการใช้เสียง” ของเราอีกครั้ง อย่างน้อยก็ให้เสียงเพลงยังอยู่กับเราต่อไปนานๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีเสียงปืนมารบกวน
กำลังโหลดความคิดเห็น