xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการอสังหาฯ เพิ่มทุนผู้ประกอบการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อสังหาฯ ประสานเสียง มาตรการภาษี "สมัคร1"สร้างความคึกคักให้แก่วงการอสังหาฯ "บิ๊กแลนด์" ชี้ช่วยคนซื้อบ้านมีค่าใช้จ่ายลดลง เอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เตือนให้ระวังเงินเฟ้อและราคาน้ำมันปัจจัยลบ ค่ายพฤกษาฯ หวั่นลูกค้าชะลอโอนช่วงรอยต่อมาตรการบังคับใช้ งัดกลยุทธ์คืนกำไรลูกค้าพร้อมตรึงราคาบ้านยาว จับตาผู้ประกอบการที่โอนบ้านได้ภายในปีนี้ ได้กำไรเหนาะๆ 4% ส่วนพฤกษาคาดไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท ประธานฯวิจิตรา กรุ๊ป หวังเป็นมาตรการระยะยาว

แม้ว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเน้นไปทางด้านการจูงใจทางด้านภาษี ซึ่งในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ มีการลดภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3% เหลือ 0.1% เป็นเวลา 1 ปี และลดค่าธรรมเนียม การโอนและการจำนอง อสังหาริมทรัพย์และห้องชุดเหลือ 0.01% แต่คงไม่มีผลบังคับในทันที

นายอดิศร ธนนันท์นราพูล กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH) ยักษ์ใหญ่ในตลาด เปิดเผยว่า การลดหย่อนภาษีสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการลดค่าธรรมเนียมการโอน จะช่วยให้ผู้ซื้อมีรายจ่ายน้อยลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะมีค่าใช้จ่ายน้อยลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงมองว่าเมื่อมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้น่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคได้มากขึ้น

"หากมาตรการลดหย่อนภาษีใช้ได้จริง ก็จะส่งผลดีมาก ทำให้ผู้ซื้อจ่ายน้อยลง และทำให้เรา (เอกชน) รายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเรื่องค่าธรรมเนียมการโอน ซึ่งเป็นภาระต่อเราให้ลดค่าใช้จ่ายลง นอกจากนี้ ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น คนที่มีรายได้ไม่ถึง 22,500 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นจึงมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้เป็นมาตรการที่ดี " นายอดิศร กล่าว และเตือนว่า ยังคงต้องติดตามดูเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยทั้งสองยังคงอยู่ในระดับสูง จะเป็นตัวที่กดดันให้ต่อต้นทุนการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เจ้าตลาดทาวน์เฮาส์ กล่าวว่า มาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอสังหาฯ เป็นการช่วยให้ลูกค้าลดค่าใช้จ่ายจากภาษีได้ถึง 2% และในส่วนของผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายได้อีกถึง 4% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประกาศเป็นกฎกระทรวง

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้ง ยังทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มียอดขายรอรับรู้รายได้ และบันทึกค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนไปแล้ว จะสามารถบันทึกเป็นกำไรได้ทันทีถึง 4% หรือผู้ประกอบการที่สามารถโอนบ้านได้ภายในปีนี้จะได้รับประโยชนเช่นกัน

โดยในส่วนของพฤกษาฯ เดิมมีแผนที่จะปรับขึ้นราคาบ้าน เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีการลดภาษีดังกล่าว บริษัทจึงไม่ปรับขึ้นราคาบ้าน นอกจากนี้ยังจะนำส่วนที่ได้ลดภาษีมาเป็นส่วนลดทางอ้อมให้แก่ลูกค้าอีกด้วย โดยจะลดในส่วนของค่าบำรุงสาธารณูปโภคและค่ามิตเตอร์น้ำ –ไฟฟ้า จากเดิมที่ลูกค้าจะต้องเตรียมเงินในส่วนของภาษี ค่าสาธารณูปโภค ประปา น้ำ ไฟฟ้า ในขณะโอนบ้าน ประมาณ 4-5% ของราคาบ้าน

“ระหว่างที่รอมาตรการประกาศใช้อาจเกิดภาวะลูกค้าชะลอการโอนบ้านได้ ซึ่งเราจะต้องหาอะไรออกมากระตุ้นให้ลูกค้าโอนบ้านในระหว่างรอมาตรการ ด้วยการให้ส่วนลดแก่ลูกค้าที่โอนบ้านนับจากนี้เป็นต้นไป”

ปัจจุบันพฤกษามีลูกค้ารอโอนบ้านภายในปีนี้ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะพยายามเร่งก่อสร้างบ้านให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในโครงการที่ต้องโอนภายใน 13-14 เดือนให้เสร็จและโอนได้ภายในปีนี้ เพื่อให้ทันกับมาตรการ โดยคาดว่าจะสามารถโอนได้เกิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไร จากการลดภาษีได้ถึง 400 ล้านบาท จากปกติพฤกษามีกำไรสุทธิที่ 14% อยู่แล้ว

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เจ้าตลาดคอนโดมิเนียม กล่าวว่า จะส่งผลบวกต่อในเชิงจิตวิทยากับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยน่าจะสามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ฟื้นกลับมาได้ และทำให้ผู้ซื้อบ้านมีการตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์ได้เร็วขึ้นด้วย

"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะออกมานั้น ทำให้ทั้งประเทศได้อานิสงส์หมด ไม่ใช่เพียงแต่จะช่วยธุรกิจอสังหาฯเท่านั้น ซึ่งมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจอสังหาฯนั้น เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้แต่ก่อนวันประชุมครม. ราคาหุ้นในกลุ่มอสังหาฯก็ตอบรับในเชิงบวกกัน" นายโอภาส กล่าว

นาย สืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วิจิตรา กรุ๊ป กล่าวว่า ควรจะเป็นมาตรการแบบระยะยาวไป เพราะปัจจุบันราคาประเมินที่ดินปรับตัวขึ้นมาสูงมาก และจะให้ดีที่สุด ควรมีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยด้วย โดยลดตั้งแต่ 0.5 หรือ 1.5% จะเป็นการดี เพราะเท่ากับเป็นการเอาเงินเข้ากระเป๋าประชาชน

สถิติออกใบอนุญาตจัดสรรปี 50 ลดลง 11%

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้เผยตัวเลขสถิติการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศตลอดปี 2550 มีจำนวนโครงการรวม 465 โครงการ ลดลง 11% จากปี 2549 ที่มีจำนวน 524 โครงการ โดยในปีที่ผ่านมามีจำนวนหน่วยทั้งสิ้น 58,604 หน่วย เฉลี่ย 126 หน่วยต่อโครงการ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปี 2549 คิดเป็น 15 % ที่มีจำนวนหน่วยรวม 68,861 หน่วย เฉลี่ย 131 หน่วยต่อโครงการ

จากจำนวนหน่วยทั้งหมด มีกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ 13,446 หน่วย เท่ากับ 23 % ส่วนจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ 5 จังหวัดรวมกันมี 29,813 หน่วย เท่ากับ 51 % และที่เหลืออีก 15,345 หน่วยหรือ 27% อยู่ในอีก 70 จังหวัดรวมกัน จังหวัดรองจากกรุงเทพฯ ที่มีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินมากที่สุด ได้แก่ สมุทรสาคร (9,559 หน่วย) สมุทรปราการ (8,465 หน่วย) นนทบุรี (6,311 หน่วย) ปทุมธานี (4,670 หน่วย) และชลบุรี (4,292 หน่วย)

ขณะที่ตัวเลขค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ตลอดปี 50 เฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 222,837 ราย มูลค่า 6,258,447,190 บาท

ส่วนปี 2549 จำนวน 222,257 ราย มูลค่า 6,181,960,102 บาท มูลค่าเพิ่มขึ้น 1% ขณะที่ในปี 50 มูลค่าการโอนเฉพาะในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น 4% จาก 3,565,643,701 บาท เป็น 3,724,433,429 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น