xs
xsm
sm
md
lg

การรักษาเอกราชและการธำรงเอกลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ในยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตกกำลังแผ่ขยายไปทั่วเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ลัทธิล่าอาณานิคมดังกล่าวนั้นหาความชอบธรรมจากการใช้กำลังเข้ายึดครองประเทศอื่นด้วยผลสำคัญ 2 ประการ

ประการแรก เพื่อขอเจริญไมตรีและการค้าซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็นของระเบียบโลก นั่นคือให้มีการเปิดประตูประเทศต้อนรับเรือพาณิชย์ ซึ่งในความเป็นจริงก็ผสมผสานกับการเป็นเรือรบเพื่อหาสินค้าที่มีความต้องการของตลาดในยุโรป และบางส่วนในสหรัฐอเมริกา สินค้าที่สำคัญที่สุดได้แก่เครื่องเทศ ลัทธิล่าอาณานิคมนั้นในแง่หนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากลัทธิการสร้างความมั่งคั่งให้กับชาติด้วยการค้าขาย (mercantilism) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของทองคำ กองเรือสเปนเป็นกองเรือที่ขนทองคำมากที่สุด ซึ่งรวมถึงสมบัติมีค่าต่างๆ อันได้แก่ อัญมณี เหรียญกษาปณ์ และโลหะที่มีคุณค่า ลัทธิการค้าขายดังกล่าวนั้นบางครั้งก็มีการร่วมมือระหว่างรัฐกับโจรสลัด กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทั้งกองเรือและโจรสลัดก็กลายเป็นเครื่องมือของกษัตริย์ในยุโรปที่จะแข่งอำนาจบารมีกันด้วยการค้าขาย ลัทธิล่าอาณานิคมจึงเป็นผลพลอยได้ที่ตามมาเพื่อให้มีการเปิดประตูการค้า บางส่วนก็ต้องการให้เปิดประตูเพื่ออาหารและน้ำจืด ถ่านหินเพื่อการเดินเรือกลไฟ ที่สำคัญคือเครื่องเทศซึ่งใช้ประโยชน์ในการปรุงอาหารและทำน้ำหอม

ประการที่สอง คือข้ออ้างที่ว่าประเทศที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์เป็นพวกป่าเถื่อนที่ต้องตกนรกและถูกหมกไหม้โดยไฟบรรลัยกัลป์ การกรีฑากองเรือและกองทัพไปปกครองดินแดนป่าเถื่อนเหล่านั้นจึงเป็นภารกิจจากสรวงสวรรค์ ดังนั้น จะมีการเริ่มต้นเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ ด้วยหมอสอนศาสนา จากนั้นก็ตามมาด้วยเรือที่จะมาขอทำการค้าขาย และก็มีการส่งกองทัพเรือมาเจรจาเพื่อขอเปิดประตูการค้า เช่นกรณีของญี่ปุ่นคือนายพลจัตวาเปอร์รี่ ของไทยได้แก่สนธิสัญญาเซอร์จอห์นบาวริ่ง โดยก่อนนั้นก็มีการพยายามหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ การทำสนธิสัญญาไมตรีและการค้าบางครั้งก็ใช้การบีบคั้นด้วยการทูตเรือปืน (gun-boat diplomacy) แต่ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีการพยายามอธิบายว่าปรากฏการณ์ปกติของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐคือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (balance of power)

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความแตกต่างของอำนาจก็จะนำไปสู่การบีบคั้นและการเกิดสงคราม ประเทศที่ด้อยพัฒนาหรืออ่อนแอกว่าในทางเศรษฐกิจ และทหาร รวมทั้งการจัดตั้งโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่ล้าสมัยก็จะตกเป็นเมืองขึ้น ซึ่งในส่วนนี้เลนินได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า ลัทธิล่าอาณานิคมคือจุดสูงสุดของลัทธิทุนนิยม ประเทศที่ใช้ระบบทุนนิยมต้องการจะซื้อวัตถุดิบราคาถูก ต้องการขยายตลาด ต้องการได้แรงงานราคาถูกเพื่อการผลิต เมื่อการผลิตและตลาดในประเทศอิ่มตัวก็ใช้วิธีขยายอาณาจักรด้วยลัทธิจักรวรรดินิยมด้วยการล่าอาณานิคม แต่มาในปัจจุบันวิธีการดังกล่าวแม้จะยังเหลืออยู่แต่ก็เปลี่ยนจากการปกครองบริหารโดยตรงมาเป็นวิธีการครอบงำด้วยความคิดและระเบียบโลกทั้งในการเมือง การค้า การเงิน มาตรฐานสากลในเรื่องภาษี สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ

ในยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 คือยุคของการล่าอาณานิคม วิธีการต่อสู้ของพระองค์ท่านใช้ 3 มาตรการหลักๆ ก็คือ

มาตรการแรก ก็คือ การใช้ใจและปาก หมายถึง การใช้ความชาญฉลาดและความจริงใจบวกกับกุศโลบายทางการทูต ด้วยการพยายามถ่วงดุลมหาอำนาจสองมหาอำนาจใหญ่คืออังกฤษและฝรั่งเศส และต่อมาก็ได้อาศัยรัสเซียและเยอรมนีมาช่วยบรรเทาแรงกดดันจากฝรั่งเศสโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณี รศ.112

มาตรการที่สอง ก็คือ การพัฒนาประเทศโดยเดินตามรูปแบบตะวันตก เปลี่ยนการปกครองบริหารจากจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา มาเป็น 12 กระทรวงแบบตะวันตก นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา ไฟฟ้า โทรเลข โทรศัพท์ รถยนต์และรถไฟ ปฏิรูประบบการจัดกำลังคนด้วยการออกพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร ยกเลิกระบบไพร่และเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไป มาตรการดังกล่าวนี้ทำได้โดยการรวมศูนย์ไว้ส่วนกลางใน พ.ศ. 2435 ซึ่งมีการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินอย่างขนานใหญ่

มาตรการที่สาม ก็คือ การใช้ความฉลาดในการมองปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ของสยามที่เป็นรัฐกันชน ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสทำสนธิสัญญาประกันเอกราชของสยามใน ค.ศ.1896 และ ค.ศ. 1904

การปฏิรูปของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 คือการเดินตามแนวกระแสโลกยุคนั้นซึ่งเป็นการเดินแบบตะวันตก หรือที่เรียกว่า อัสดงคตาภิวัตน์ ยอมเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองบริหารและสังคมในระดับหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์หลักคือ รักษาเอกราชทางการเมือง การปกครองบริหารไว้ แม้จะสูญเสียเอกราชในทางศาลซึ่งเกิดจากสนธิสัญญาบาวริ่ง อันได้แก่สิทธิสภาพนอกอาณาเขตก็ตาม อัสดงคตาภิวัตน์เกิดขึ้นเพื่อต้องการรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติ

กระแสท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นกระแสของโลกาภิวัตน์ ได้แก่ อารยธรรมของคลื่นลูกที่สามของอัลวิน ทอฟเฟอร์ ซึ่งได้แก่ สังคมข่าวสารข้อมูล การข้ามแดนจากการเดินทาง การขนส่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การค้าระหว่างประเทศ การสื่อสารติดต่อกันโดยผ่านดาวเทียม บรรษัทข้ามชาติเกิดไปทั่ว การสะพัดและการพลวัตของเงินตราและการค้า การแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล การประกอบธุรกิจในลักษณะของการรับทำบริการ (Outsourcing) เนื่องจากสภาวะของโลกแบนเหมือนสนามฟุตบอลที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน เป็นต้นว่า การอ่านผลเอกซเรย์คนไข้ในยามวิกาลในสหรัฐฯ สร้างปัญหาให้กับนายแพทย์ทั้งหลาย จึงมีการส่งผลเอกซเรย์ทางเว็บไซต์ให้กับหมออินเดียเป็นผู้อ่านซึ่งเป็นเวลากลางวัน จากนั้นก็ส่งผลการอ่านทางอินเทอร์เน็ต บริษัทอินเดียหลายแห่งยังทำหน้าที่เป็น Call Center หรือศูนย์รับโทรศัพท์ในการจองที่นั่งภัตตาคารในสหรัฐฯ รวมตลอดทั้งการทำบัญชีและกรอกแบบการเสียภาษีให้กับบริษัทอเมริกา ล่าสุดผู้หญิงอินเดียรับฝากท้องการทำกิฟท์ลูกให้กับคนต่างชาติ ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้เป็นกระแสที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อโลกทัศน์ ค่านิยม ปทัสถาน ของประเทศต่างๆ กระแสอันเชี่ยวกรากนี้จะคุกคามหลายประเทศในด้านวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ การสกัดกระแสการพัฒนาดังกล่าวคงทำไม่ได้ เนื่องจากการสื่อสารที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล การไหลบ่าของการค้าขายและของวัฒนธรรมผ่านจอเว็บไซต์ ภาพยนตร์ วิทยุโทรทัศน์ และข่าวสารข้อมูลผ่านทางหนังสือและทางเว็บไซต์ ความเป็นห่วงการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน และการตามกระแสในฐานะของผู้ซึ่งด้อยกว่าจึงเกิดขึ้น องค์พระประมุขทรงเตือนให้คนไทยระมัดระวังโดยทรงกล่าวถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหมายถึงการลงทุนเพื่อการค้านั้นจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกินขีดความสามารถจนมีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ เพราะหนี้สินที่พะรุงพะรัง

ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้คนในชนบทมิให้อยู่ภายใต้แรงกกดันหรือการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจระดับโลกซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจภายใน ก็คือการใช้ที่ดินอย่างชาญฉลาด แบ่งเป็นที่ทำการเกษตรเพื่อการเพาะปลูก การขุดบ่อเพื่อมีน้ำใช้และการเลี้ยงสัตว์ และการมีที่สำหรับอาศัย โดยการหารายได้จากการทำอาชีพเสริม เมื่อได้ดุลยภาพก็จะไม่เดือดร้อน อาจไม่ร่ำรวยแต่อยู่ได้อย่างไม่ต้องหวั่นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจภายในซึ่งอาจเกิดความผันผวน มองในรูปนี้อาจจะกล่าวว่าเศรษฐกิจพอเพียงถ้าทำได้สำเร็จก็อาจจะสามารถธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชีวิตในหมู่บ้าน เศรษฐกิจในชนบท รวมทั้งเศรษฐกิจระดับชาติที่มีความมั่นคงในการประกอบกิจ โดยจะมีผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกน้อยที่สุด โดยการลงทุนอย่างพอดี ไม่ขยายการลงทุนเกินตัว พอเพียงคือพอดี

ถ้าจะกล่าวโดยสรุปก็คือว่า กระแสลัทธิล่าอาณานิคมนำไปสู่การปฏิรูปและกระบวนการอัสดงคตาภิวัตน์ เพื่อ “การรักษาเอกราชของชาติ” กระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อาจนำไปสู่การสูญเสียเอกลักษณ์ของชาติและความเป็นไทยเนื่องจากความพลวัตและความรุนแรงของกระแสอันเกิดจากอารยธรรมคลื่นลูกที่สาม ก็คือการดำเนินชีวิตไปอย่างระมัดระวังด้วยความไม่ประมาท เพื่อให้เกิดความพอดีด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในแง่หนึ่งคือการเดินตามทางสายกลางเพื่อ ธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชนชาติไทยและของสังคมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น