xs
xsm
sm
md
lg

ยอดผู้รับเหมาทิ้งงานพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้รับเหมาทิ้งงานประมูลภาครัฐหลังเศรษฐกิจแย่ คลังลุ้นระทึกแนวโน้มเพิ่มจากปีก่อน เฉพาะมกราคมที่ผ่านมาพบผู้รับเหมา 21 รายทิ้งงาน งานโยธาก่อสร้างเยอะสุด ระบุปัญหาขาดสภาพคล่องเพราะแบงก์ไม่ปล่อยกู้และต้นทุนที่สูงขึ้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมามีผู้รับเหมาที่ทิ้งงานรับเหมาของส่วนราชการจำนวนมากถึง 21 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่มีปัญหาขาดสภาพคล่องทำให้ไม่สามารถทำงานได้แล้วเสร็จ และส่วนหนึ่งไม่มาเซ็นสัญญาหลังจากที่ชนะประมูลแล้ว ทำให้กรมบัญชีกลางได้ทำหนังสือเวียนให้ส่วนราชการรับทราบถึงการขึ้นบัญชีดำ หรือแบล็กลิสต์รายชื่อของผู้รับเหมากลุ่มนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ว่าจ้างเข้ามารับทำงานภาครัฐจนกว่าจะขอเพิกถอนรายชื่อออกจากแบล็กลิสต์ดังกล่าวก่อน
อย่างไรก็ตาม การทิ้งงานของผู้รับเหมานั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ด้วย โดยหากเศรษฐกิจไม่ดีแนวโน้มของการทิ้งงานก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในกลุ่มของผู้ทิ้งงานนั้นมีถึง 60-70% ขาดสภาพคล่อง โดยสาเหตุหลักอาจมาจากธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ และส่วนหนึ่งจากต้นทุนที่สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง ทำให้งานโยธาก่อสร้างเป็นกลุ่มที่ผู้รับเหมาทิ้งงานมากที่สุด
“ในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวก็ทำให้ผู้รับเหมาอยากได้งานภาครัฐ จึงเข้ามาประมูลงานกันมากแล้วสู้ราคากันจนทำให้ส่วนต่างกำไรน้อยลงเรื่อยๆ พอถึงเวลาสร้างจริงธุรกิจทุกอย่างกับต้องใช้เงินสดในการจัดซื้อวัสดุและว่าจ้างแรงงาน ดังนั้นหากเป็นรายเล็กและไม่ได้รับสินเชื่อจากแบงก์พาณิชย์ ก็ไม่สามารถดำเนินงานได้แล้วเสร็จจนต้องทิ้งงานไป”แหล่งข่าวกล่าว
หากเปรียบเทียบอัตราการทิ้งงานของผู้รับเหมาในปี 2551 จะเห็นได้ว่ามีอัตราเร่งตัวขึ้นจาก ปี 2550 และปี 2549 ที่มีจำนวนผู้ทิ้งงานอยู่ที่ 204 รายและ 175 รายตามลำดับ และส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมารายเล็กๆ ที่มีวงเงินรับเหมาไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กรายกลางหรือเอสเอ็มอีของประเทศ ดังนั้นคงต้องจับตาดูการประชุมของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุที่จะมีการประชุมทุกเดือนว่าจะมียอดผู้รับเหมาทิ้งงานในเดือนถัดไปมากขึ้นหรือไม่ ส่วนกลุ่มที่เป็นแบล็กลิสต์นั้นหากมีเหตุผลในการทิ้งงานที่ดีพอก็สามารถเพิกถอนรายชื่อออกมาและรับเหมางานได้เหมือนเดิม
แหล่งข่าวธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า สาเหตุที่ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวด เนื่องจากสถานะของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มีปัญหาเรื่องงบการเงิน บางรายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นอกจากนี้ ผู้รับเหมามักจะคุมต้นทุนไม่อยู่หลังราคาวัสดุก่อสร้างปรับสูงขึ้น เป็นผลพวงจากการปรับตัวของราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม.
กำลังโหลดความคิดเห็น