ผู้จัดการรายวัน - ตลาดหลักทรัพย์ฯ จี้ "ปิคนิค" แจกแจงรายละเอียดการโอนหุ้นบริษัทย่อย "เวิลด์แก๊ส" ให้เจ้าหนี้รวมทั้งสิ้น 6 ประเด็นภายในวันที่ 25 ก.พ.นี้ ไม่สนข้ออ้างที่ต้องรอคำสั่งศาลล้มละลาย เหตุอยู่ในวิสัยที่ทำได้และมีสาระสำคัญที่อาจจะกระทบเป็นวงกว้างทั้งผู้ถือหุ้น-ผู้ลงทุน หลังทวงถามซ้ำซาก แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหาร ขณะที่เจ้าหนี้ตั๋วบี/อี "บลจ.กรุงไทย" เร่งรวบรวมมติลูกค้าก่อนจะตัดสินใจโหวตรับแผนหรือไม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตแผนดันเข้ากระบวนการฟื้นฟูฯ หวังใช้เป็นตรายางป้องกันเจ้าหนี้ยึดทรัพย์สิน
วานนี้ (20 ก.พ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งให้บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนหุ้นของบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด (เวิลด์แก๊ส) ซึ่ง PICNI ถือหุ้นทั้งหมด 100% ให้กับเจ้าหนี้ แต่บริษัทยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดดังกล่าว ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่าเป็นรายการที่มีสาระสำคัญและกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท โดยกำหนดให้ PICNI ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551
ทั้งนี้ งบการเงินประจำไตรมาส 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2550 PICNI มีเงินลงทุนตามวิธีราคาทุนในเวิลด์แก๊สรวมทั้งสิ้น 1,611 ล้านบาท
"การชี้แจงข้อมูลดังกล่าวเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ และให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนประกอบการตัดสินใจลงทุน"
สำหรับรายละเอียดที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งให้ PICNI ชี้แจงประกอบด้วย 6 ประเด็นหลัก โดย 3 ประเด็นแรกเป็นประเด็นเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สอบถามไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 แต่บริษัทได้มีหนังสือลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 ระบุว่า ขณะนี้บริษัทได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 14 ม.ค.51 หมายเลขคดีดำที่ ฟ2/2551 ซึ่งศาลล้มละลายกลายได้นัดพิจารณาไต่สวนคำร้องในวันที่ 17 มี.ค.51 ดังนั้นการดำเนินการใดๆ จะต้องรอศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูกิจการก่อน บริษัทจึงจะดำเนินการชี้แจงเรื่องต่างๆ ต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่า เรื่องการบังค้บโอนหุ้นเป็นข้อเท็จจริงที่มีสาระสำคัญและเกิดขึ้นแล้วซึ่งอยู่ในวิสัยที่ PICNI จะชี้แจงข้อมูลที่สอบถามได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ติดต่อขอให้ PICNI ชี้แจงเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
"ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ติดตามให้ PICNI เปิดเผยข้อมูลมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ และ PICNI ยังไม่เปิดเผยข้อมูลการโอนหุ้นดังกล่าวมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ"
ส่วนประเด็นหลักทั้ง 6 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นแรก ข้อมูลเกี่ยวกับการโอนหุ้นของเวิลด์แก๊ส ได้แก่ วันที่โอน จำนวนหุ้น มูลค่าเงินลงทุน และสัดส่วนการถือหุ้นในเวิลด์แก๊สภายหลังโอนหุ้น รวมทั้งเงื่อนไขการซื้อคืนหุ้นหรือเงื่อนไขสำคัญอื่นๆ (ถ้ามี)
ประเด็นที่สอง รายชื่อของเจ้าหนี้ที่รับโอนหุ้นพร้อมระบุความสัมพันธ์ อธิบายสาเหตุและที่มาของหนี้สินพร้อมวันเดือนปีที่เกิดรายการหนี้สิน มูลหนี้ เกณฑ์ในการกำหนดราคาทรัพย์สินที่โอนเพื่อชำระหนี้ และสาเหตุที่ถูกบังคับโอน
ประเด็นที่สาม สรุปฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของเวิลด์แก๊สตั้งแต่ปี 2549-2550 วันที่โอน และประเมินผลกระทบต่อรายได้ กำไร และสินทรัพย์ ของ PICNI หลังจากโอนเวิลด์แก๊สให้แก่เจ้าหนี้แล้ว
ประเด็นที่สี่ ให้บริษัทระบุว่ารายการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาโดยมติคณะกรรมการบริษัทหรือไม่ ประเด็นที่ห้า หากรายการดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ให้ระบุชื่อบุคคลที่เป็นผู้อนุมัติรายการ และประเด็นสุดท้าย ในกรณีที่รายการดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ระบุวันที่คณะกรรมการมีมติ รายชื่อคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุม มติคณะกรรมการ และความเห็นของคณะกรรมการเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลของรายการ ความเป็นธรรมของการกำหนดราคา และประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและบริษัท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) ของ PICNI ได้ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ หลังจากบริษัทได้ทำให้งบการเงินงวดล่าสุดมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบประมาณ 1,258 ล้านบาท เพื่อให้เข้ากับเงื่อนไขที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จากเดิมที่งบการเงินของบริษัทจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกมาโดยตลอด
ทั้งนี้ PICNI ระบุถึงสาเหตุที่เข้าต้องนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ สืบเนื่องจาก PICNI มีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งเจ้าหนี้ได้ทำการอายัดและยึดทรัพย์สินของบริษัทอย่างต่อเนื่อง อาทิ เงินสด หุ้นของบริษัท เอ็นเนซอล จำกัด และหุ้นของบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้บริษัทได้รับได้รับผลกระทบและขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ
ส่วนการให้ความเห็นว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านแผนฟื้นฟู PICNI นั้น นายธีระพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นจากลูกค้าว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน เพราะเงินดังกล่าวเป็นของลูกค้าจึงจำเป็นต้องปล่อยให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจ หลังจากนั้นบริษัทจะนำความเห็นเสนอให้ศาลเป็นผู้พิจารณาต่อไป
"บริษัทได้แจกแจงถึงข้อดี-ข้อเสียของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการให้แก่ลูกค้าได้รับทราบแล้ว จากนั้นจึงปล่อยให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจเอง แต่ความรู้สึกเราที่อยากบอกคือ เงินที่เราลงทุนไปทั้งหมด เป็นเงินของลูกค้า และเป็นเงินก้อนสุดท้ายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเอาเงินดังกล่าวมาคืนให้กับลูกค้าให้ได้ เราเองไม่ยอมอยู่แล้ว เพราะถือว่าเอาเงินของลูกค้าเราไปแล้วต้องใช้คืนด้วย"
นายธีระพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการปิคนิค จะมีผลทำให้ปิคนิคเข้าสู่กระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการทันที ในขณะที่เจ้าหนี้ที่กำลังจะฟ้องดำเนินคดีทางแพ่งและเจ้าหนี้ที่ฟ้องชนะคดีแพ่งไปแล้วจะต้องปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูฯ ทันที และไม่สามารถดำเนินการเป็นอย่างอื่นได้
สำหรับบลจ.กรุงไทย มีมูลหนี้ที่ปิคนิคผิดชำระหนี้ทั้งหมดประมาณ 1,000 ล้านบาท (11 กองทุน) โดยในช่วงที่ผ่านมาได้รับการชำระคืนไปแล้วประมาณ 800 ล้านบาท หรือคงเหลือมูลหนี้ที่ค้างชำระอีกประมาณกว่า 200 ล้านบาท (9 กองทุน) ซึ่งที่ผ่านมา บลจ.กรุงไทยเองได้ดำเนินการฟ้องร้องให้ปิคนิคชำระหนี้ดังกล่าวด้วย
วานนี้ (20 ก.พ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งให้บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนหุ้นของบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด (เวิลด์แก๊ส) ซึ่ง PICNI ถือหุ้นทั้งหมด 100% ให้กับเจ้าหนี้ แต่บริษัทยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดดังกล่าว ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่าเป็นรายการที่มีสาระสำคัญและกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท โดยกำหนดให้ PICNI ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551
ทั้งนี้ งบการเงินประจำไตรมาส 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2550 PICNI มีเงินลงทุนตามวิธีราคาทุนในเวิลด์แก๊สรวมทั้งสิ้น 1,611 ล้านบาท
"การชี้แจงข้อมูลดังกล่าวเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ และให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนประกอบการตัดสินใจลงทุน"
สำหรับรายละเอียดที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งให้ PICNI ชี้แจงประกอบด้วย 6 ประเด็นหลัก โดย 3 ประเด็นแรกเป็นประเด็นเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สอบถามไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 แต่บริษัทได้มีหนังสือลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 ระบุว่า ขณะนี้บริษัทได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 14 ม.ค.51 หมายเลขคดีดำที่ ฟ2/2551 ซึ่งศาลล้มละลายกลายได้นัดพิจารณาไต่สวนคำร้องในวันที่ 17 มี.ค.51 ดังนั้นการดำเนินการใดๆ จะต้องรอศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูกิจการก่อน บริษัทจึงจะดำเนินการชี้แจงเรื่องต่างๆ ต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่า เรื่องการบังค้บโอนหุ้นเป็นข้อเท็จจริงที่มีสาระสำคัญและเกิดขึ้นแล้วซึ่งอยู่ในวิสัยที่ PICNI จะชี้แจงข้อมูลที่สอบถามได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ติดต่อขอให้ PICNI ชี้แจงเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
"ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ติดตามให้ PICNI เปิดเผยข้อมูลมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ และ PICNI ยังไม่เปิดเผยข้อมูลการโอนหุ้นดังกล่าวมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ"
ส่วนประเด็นหลักทั้ง 6 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นแรก ข้อมูลเกี่ยวกับการโอนหุ้นของเวิลด์แก๊ส ได้แก่ วันที่โอน จำนวนหุ้น มูลค่าเงินลงทุน และสัดส่วนการถือหุ้นในเวิลด์แก๊สภายหลังโอนหุ้น รวมทั้งเงื่อนไขการซื้อคืนหุ้นหรือเงื่อนไขสำคัญอื่นๆ (ถ้ามี)
ประเด็นที่สอง รายชื่อของเจ้าหนี้ที่รับโอนหุ้นพร้อมระบุความสัมพันธ์ อธิบายสาเหตุและที่มาของหนี้สินพร้อมวันเดือนปีที่เกิดรายการหนี้สิน มูลหนี้ เกณฑ์ในการกำหนดราคาทรัพย์สินที่โอนเพื่อชำระหนี้ และสาเหตุที่ถูกบังคับโอน
ประเด็นที่สาม สรุปฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของเวิลด์แก๊สตั้งแต่ปี 2549-2550 วันที่โอน และประเมินผลกระทบต่อรายได้ กำไร และสินทรัพย์ ของ PICNI หลังจากโอนเวิลด์แก๊สให้แก่เจ้าหนี้แล้ว
ประเด็นที่สี่ ให้บริษัทระบุว่ารายการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาโดยมติคณะกรรมการบริษัทหรือไม่ ประเด็นที่ห้า หากรายการดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ให้ระบุชื่อบุคคลที่เป็นผู้อนุมัติรายการ และประเด็นสุดท้าย ในกรณีที่รายการดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ระบุวันที่คณะกรรมการมีมติ รายชื่อคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุม มติคณะกรรมการ และความเห็นของคณะกรรมการเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลของรายการ ความเป็นธรรมของการกำหนดราคา และประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและบริษัท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) ของ PICNI ได้ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ หลังจากบริษัทได้ทำให้งบการเงินงวดล่าสุดมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบประมาณ 1,258 ล้านบาท เพื่อให้เข้ากับเงื่อนไขที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จากเดิมที่งบการเงินของบริษัทจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกมาโดยตลอด
ทั้งนี้ PICNI ระบุถึงสาเหตุที่เข้าต้องนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ สืบเนื่องจาก PICNI มีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งเจ้าหนี้ได้ทำการอายัดและยึดทรัพย์สินของบริษัทอย่างต่อเนื่อง อาทิ เงินสด หุ้นของบริษัท เอ็นเนซอล จำกัด และหุ้นของบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้บริษัทได้รับได้รับผลกระทบและขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ
ส่วนการให้ความเห็นว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านแผนฟื้นฟู PICNI นั้น นายธีระพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นจากลูกค้าว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน เพราะเงินดังกล่าวเป็นของลูกค้าจึงจำเป็นต้องปล่อยให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจ หลังจากนั้นบริษัทจะนำความเห็นเสนอให้ศาลเป็นผู้พิจารณาต่อไป
"บริษัทได้แจกแจงถึงข้อดี-ข้อเสียของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการให้แก่ลูกค้าได้รับทราบแล้ว จากนั้นจึงปล่อยให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจเอง แต่ความรู้สึกเราที่อยากบอกคือ เงินที่เราลงทุนไปทั้งหมด เป็นเงินของลูกค้า และเป็นเงินก้อนสุดท้ายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเอาเงินดังกล่าวมาคืนให้กับลูกค้าให้ได้ เราเองไม่ยอมอยู่แล้ว เพราะถือว่าเอาเงินของลูกค้าเราไปแล้วต้องใช้คืนด้วย"
นายธีระพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการปิคนิค จะมีผลทำให้ปิคนิคเข้าสู่กระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการทันที ในขณะที่เจ้าหนี้ที่กำลังจะฟ้องดำเนินคดีทางแพ่งและเจ้าหนี้ที่ฟ้องชนะคดีแพ่งไปแล้วจะต้องปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูฯ ทันที และไม่สามารถดำเนินการเป็นอย่างอื่นได้
สำหรับบลจ.กรุงไทย มีมูลหนี้ที่ปิคนิคผิดชำระหนี้ทั้งหมดประมาณ 1,000 ล้านบาท (11 กองทุน) โดยในช่วงที่ผ่านมาได้รับการชำระคืนไปแล้วประมาณ 800 ล้านบาท หรือคงเหลือมูลหนี้ที่ค้างชำระอีกประมาณกว่า 200 ล้านบาท (9 กองทุน) ซึ่งที่ผ่านมา บลจ.กรุงไทยเองได้ดำเนินการฟ้องร้องให้ปิคนิคชำระหนี้ดังกล่าวด้วย