xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตของโลกหนังสือ

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช

อย่าเพิ่งคิดว่าหัวข้อวันนี้ไปเกี่ยวกับ “โลกหนังสือ” ที่คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี แกเคยเป็น บก.จัดการอยู่หลายปี แต่ “โลกหนังสือ” ทุกวันนี้กำลังจะแปลงโฉม (ความจริงแปลงไปแล้วหลายรูปแบบ)

เรื่องแรกหนีไม่พ้นทำให้หนังสืออยู่ในรูปดิจิตอลทั้งหมด โดยความจริงนั้นหนังสือตีพิมพ์ในรูปเดิมถือว่าบรรจุเนื้อหาดีกว่าฮาร์ดดิสก์เสียอีก แถมไม่ต้องไปอินเตอร์เฟสหรือเชื่อมต่อกับอะไรทั้งนั้น

ข้อดีของหนังสือธรรมดาๆ คือพกพาในรูปพ็อกเกตบุ๊กได้สะดวก ราคาถูก, รีไซเคิลได้ง่าย, อ่านสบายตา, และไม่เหมือนดิจิตอลตรงที่มันไม่ต้องผ่านกระบวนการซับซ้อนในการทำไฟล์ทั้งข้อเขียนและภาพ

ข้อเสียของดิจิตอล คือ พกพาไม่ได้ แม้แต่คุณจะบรรจุไว้ในโน้ตบุ๊ก หรือปาล์มมือถือ มันไม่สะดวก สื่อดิจิตอลมีแสงซึ่งตาคุณระคายเคืองแม้ว่าหน้าหนังสือจะใช้สีทำให้อุ่นตา หรือหน้าจอเคลือบสีไม่ให้แสบตา แต่มันก็ไม่สะดวก จะเปิดหน้าอ่านก็ต้องโหลดและคลิ๊ก

ดังนั้นกว่าจะแปรรูปหนังสือมาสู่ยุคดิจิตอลจึงใช้เวลา

เจฟ เบซอส ซีอีโอของอี-คอมเมิร์ซแห่ง Amazon.com ให้ความเห็นว่าหนังสือเป็นเครื่องมือวิเศษ และเมื่ออเมซอนเป็นร้านหนังสือออนไลน์ ก็ช่วยให้บรรดานักเขียนเข้ามาตรวจดูเรตติ้งหนังสือตัวเองว่าขายได้มากน้อยแค่ไหน

ตัวเจฟเองชอบอ่านหนังสือ แถมมีภรรยาเป็นนักเขียนนวนิยายก็เลยทำให้ครอบครัวเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีกับสื่อทั้งหมดเข้าด้วยกัน

บางอย่างที่ผมเองเห็นว่าทำได้ง่ายคือฉายหนังสือขึ้นจอ ซึ่งสมัยนี้คุณเอาหนังสือธรรมะคว่ำหน้าแล้วใช้โปรเจกเตอร์ฉายได้เหมือนกัน แต่ใช้คอมพิวเตอร์เร็วกว่า

หนังสือ E-book ก็ยังมีข้อได้เปรียบ เพราะว่ามันเปลี่ยนตัวอักษรให้ใหญ่เล็กได้ตามต้องการ และสามารถพิมพ์ออกมาอ่านเป็นเล่มก็ยังได้ หากจะเดินทางไปตากอากาศและต้องการอ่านเป็นเล่ม

นอกจากนั้นคุณยังส่งบางหน้าหรือบางบท เช่น บทวิจารณ์ผ่านทาง e-mail ไปให้เพื่อนฝูงหรือนักวิจารณ์คนอื่นๆ ให้ความเห็นเพิ่มเติมได้

คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กตัวนิดเดียว อาจบรรจุหนังสือที่คุณชอบเป็นร้อยเล่มลงได้รวดเร็ว และเหมาะสำหรับเอาไว้ให้คุณอ่านได้ทั้งปี

แถมคุณยังเก็บหนังสือเล่มเล็กหรือนิยายทั้งเล่มไว้ใน Flash Drive ที่มีความจุสูงเพื่อการพกพาไปเสียบเข้าคอมพิวเตอร์ที่ไหนก็ได้ในโลก

ทุกวันนี้ทางอเมซอนได้พยายามให้สำนักพิมพ์ช่วยกันแปลงหนังสือใหม่ๆ สู่ดิจิตอลโดยเร็ว รวมทั้งหนังสือเก่าที่ยังไม่แปรรูปก็อยากให้ทำด้วย

อเมซอนคิดว่าจะมีหนังสือถึง 88,000 เล่ม อยู่ในสารบบเพื่อขายในไม่ช้า

ที่เหลือบางส่วนอเมซอนก็ใช้ระบบสแกนเอาเลย

ต้นทุนการแปลงหนังสือใช้เงินประมาณ 200 เหรียญต่อเล่ม ซึ่งก็ถือว่าแพง แต่การพิมพ์ซ้ำนับล้านเล่มต้นทุนต่อหน่วยจะถูกมากจริงๆ

ในอเมซอน Kindle นั้น คุณยังบอกรับเป็นสมาชิก นสพ., นิตยสาร ฯลฯ ได้ด้วย นสพ.เหล่านี้เมื่อพิมพ์ออกมาก็เป็นดิจิตอลในระบบอัตโนมัติ คุณเป็นสมาชิกในเว็บเดือนละแค่ 99 เซ็นต์ ไม่ก็ไม่เกิน 1.99 เหรียญต่อหนึ่งเดือน

Kindle ของอเมซอนยังเป็นเว็บตัวเองโดยแสวงหาใน Wiki pedia ค้นผ่าน google ได้หรือเชื่อมกับหน้าเว็บอื่นได้ด้วย

ถ้าคุณหรือเพื่อนคุณส่งข้อความด้วย Word หรือ PDF ไฟล์ มายัง e-mail ของคุณที่ลงทะเบียนใน Kindle มันจะจัดเข้าให้ในห้องสมุดของคุณเช่นเดียวกับระบบหนังสือ ทำให้หาง่ายขึ้น

จะเห็นได้ว่าหนังสือในรูปดิจิตอลแตกรูปไปได้ง่ายอย่างหลากหลาย นำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมากในหลายกรรมวิธีเลยครับ

พิจารณาสายตามนุษย์แล้ว ภาพที่ดวงตาเราเห็นนั้นสมองเราจะแปรสัญญาณจากภาพตัวอักษรเข้าสู่เสียงของแต่ละคน

ในสมองเรามี Visual cortex คือที่รับภาพซึ่งเป็นจุดรับข้อมูลส่งจากเรติน่า โดยมันส่งข้อมูลที่เห็นมายังส่วนต่างๆ ของสมองเพื่อทำการย่อย

ส่วนสมองด้านหน้า frontal gyrus เกี่ยวโยงคำเสียงของคำและวิเคราะห์คำว่าเท่ากับอะไร

ส่วนที่เป็น Parieto จะช่วยในการวิเคราะห์คำ ในผู้อ่านที่มีทักษะการอ่านน้อย ช่วงนี้สำคัญที่จะตัดสินว่าเราเข้าใจคำที่เห็นอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน

Occipital-Temporal region ใช้ในผู้อ่านที่ทักษะดี โดยจะตอบสนองได้จากคำอ่านที่ชินตา เช่น สัญลักษณ์ และเรียกความจำว่าออกเสียงและมีความหมายว่าอย่างไร

ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่สำคัญนะครับในการอ่านไม่ว่าโดย E-book หรือหนังสือธรรมดา

อนาคตของหนังสือในรูปดิจิตอลจึงยาวไกลมากและตัวผมเองคิดว่า โลกของหนังสืออาจล้มหายตายจาก หากแปรรูปในขั้นตอนสุดท้ายให้เป็นภาพวิดีทัศน์ที่สื่อเข้าใจได้ง่ายๆ กว่า ที่เราต้องอ่าน หนังสือนิยายเป็น 200-300 หน้า ใช้เวลาทั้งวันจึงอ่านจบ

ดูหนังแค่ชั่วโมงเศษก็จบแล้ว สนุกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น